เอพี/เอเจนซี/ราชบัณฑิต - ชาวประมงอินโดจับ “ซีลาแคนท์” ปลาดึกดำบรรพ์ที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ คาดอาจเป็นบรรพบุรุษสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่น่าฉงนใจที่ปลาน้ำลึกสามารถอยู่ได้นานบนผิวน้ำหลังถูกจับได้ถึง 17 ชั่วโมง
ยูสตินูส ลาฮามา (Yustinus Lahama) ชาวประมงอินโดพร้อมลูกชายจับปลาหน้าตาประหลาดยาว 131 เซนติเมตร หนัก 51 กิโลกรัมได้เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่พวกเขาออกหาปลาแถวเกาะสุลาเวสี ใกล้อุทยานทางทะเลของบูนาเคน (Bunaken National Marine Park) ซึ่งเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก
หลังจากสองพ่อลูกนำปลายักษ์ที่เหมือนหินไปให้เพื่อนบ้านดูและเก็บไว้ที่บ้านประมาณ 1 ชั่วโมง พวกเขาก็นำปลาตัวดังกล่าวกลับไปไว้ที่บ่ออนุบาล แต่น่าเสียดายที่ปลาลักษณะคล้ายซากฟอสซิลโบราณตายลงในอีก 17 ชั่วโมงถัดมา โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเพราะอยู่ในสภาพที่ยากแก่การดำรงชีวิต
“ที่จริงปลาตัวนี้น่าจะตายตั้งแต่ 2 ชั่วโมงแรกที่ถูกจับขึ้นมาได้ เพราะปลาสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่แต่ในน้ำลึก (ประมาณ 200 ฟุต) และสภาพอากาศหนาวเย็น” ศ.เกรโว กีรัง (Grevo Gerung) คณะประมง มหาวิทยาลัยแซมราตูลังกี (Sam Ratulangi University) อินโดนีเซียเผย พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดปลาตัวนี้กลับอยู่ได้นานถึง 17 ชั่วโมง
ปลาโบราณที่พ่อลูกคู่นี้จับได้ คือ “ซีลาแคนท์” (coelacanth) ซึ่งมีซากฟอสซิลเก่าแก่อายุ 60 ล้านปีปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ปลาออสเตรเลีย และนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 60 ล้านปีก่อนพร้อมๆ กับยุคไดโนเสาร์ เพราะไม่พบฟอสซิลอายุน้อยกว่านั้น
ทว่ากลับมีการค้นพบซีลาแคนท์ตัวเป็นๆ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2382 ในแถบชายฝั่งแอฟริกาสร้างความสนใจไปทั่วโลก จากนั้นก็มีรายงานการพบปลาดังกล่าวเรื่อยๆ แม้กระทั่งในแถบสุลาเวสีเองก็เคยพบมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน
ที่น่าสนใจคือ “ซีลาแคนท์” มีรูปร่างของครีบละม้ายคล้ายคลึงกับกระดูกแขนและขาของสัตว์บกมาก มีระบบการสืบพันธุ์ไม่เหมือนปลาชนิดอื่น คือเมื่อซีลาแคนท์ได้รับการผสมพันธุ์ก็จะฟักตัวเป็นลูกปลาและยังอาศัยอยู่ในท้องของแม่จนกระทั่งคลอดออกมา และไข่ปลาซีลาแคนท์เป็นไข่ปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 9 เซ็นติเมตร
ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้นักชีววิทยาหลายคนมีความคิดว่า ซีลาแคนท์คือบรรพบุรุษของสัตว์โลกที่มีกระดูกสันหลังทุกชนิด