ผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพย์ฯ แจงเหตุแผ่นดินไหวกระทบไทยไม่ได้ถี่ขึ้นแต่เพราะคนสนใจมากขึ้น-รับข้อมูลได้เร็วขึ้น จึงรู้สึกว่าเกิดบ่อย ขณะที่ กทม.อยู่บนแผ่นดินอ่อนซึ่งเป็นดินตะกอนทะเลที่สะสมและมีน้ำปนอยู่ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้น 3-4 เท่า
กรณีแผ่นดินไหวเมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 พ.ค. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ขนาด 6.3 ริกเตอร์ตามข้อมูลล่าสุดขององค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (USGS) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่รอยเลื่อนน้ำมาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและอยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทยประมาณ 60 กิโลเมตร และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนที่อยู่บนอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนแม้จะอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึงกว่า 700 กิโลเมตรก็ตาม
ด้านนายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวนี้ว่ามีจุดศูนย์กลางที่ความลึก 20 กิโลเมตรซึ่งทางวิชาการถือว่าค่อนข้างตื้น และแรงที่ปลดปล่อยออกมาจะแรงกว่าแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางลึก คลื่นของแผ่นดินไหวทำให้คนในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ส่วนพื้นที่ห่างออกมาก็รู้สึกได้ต่างกันตามระยะที่ไกลออกไป
ขณะที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง 700 กิโลเมตร ซึ่งตามปกติไม่น่าจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ดินอ่อนที่เกิดจากการสะสมของตะกอนทะเลและเป็นดินเหลวที่มีน้ำปนอยู่มาก ดังนั้นเมื่อได้รับแรงแผ่นดินไหวทำให้ขนาดของแรงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า กรุงเทพฯ จึงรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะตึกสูงที่สั่นไหวง่าย และจะรู้สึกได้ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แม้อยู่ไกลๆ อย่างกรณีสึนามิที่มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร ทางกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้
ทั้งนี้ประเทศไทยมี 13 กลุ่มรอยเลื่อนแต่มี 2 รอยเลื่อนที่นายวรวุฒิกล่าวว่าต้องจับตาเป็นพิเศษคือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ส่วนรอยเลื่อนที่เหลือได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะลุ่ยและรอยเลื่อนท่าแขก นอกจากนี้รอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่นอกเขตและส่งผลกระทบไทยได้มี 2 รอยเลื่อนสำคัญคือ รอยเลื่อนสะเกียงในพม่าและรอยเลื่อนแม่น้ำแดงในเวียดนาม
“รอยเลื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่ขอบแผ่นเปลือกโลกซึ่งชนกันตลอดเวลาจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ส่วนไทยโชคดีที่อยู่ในแผ่นทวีปที่ไกลจากแนวขอบแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่แรงมาก ส่วนที่เรารู้สึกว่าเกิดแผ่นดินถี่ขึ้นเพราะคนสนใจมากขึ้น และรับรู้ข่าวสารได้เร็วขึ้น ทำให้รู้ว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อย แต่จากการเก็บข้อมูลย้อนไปกว่าล้านปีถือว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ” นายวรวุฒิกล่าว
ทางด้านนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ตรวจสอบการรู้สึกได้ของประชาชนไปยังเครือข่ายต่างๆ พบว่าพื้นที่ใกล้ๆ รวมทั้งภาคอีสานบางส่วนก็รู้สึกได้ และติดตามความเสียหายซึ่งทางเชียงราย เชียงใหม่ก็เสียหายบ้าง มีอาคารร้าว กระจกแตกและที่ทราบกันดีคือยอดฉัตรพระธาตุจอมกิตติหักเสียหาย นอกจากนี้แผ่นดินไหวยังอาจทำให้ดินถล่มได้
“หากประชาชนพบเห็นรอยแยก รอยร้าวในแผ่นดินก็ให้แจ้งเข้ามา ส่วนใครที่อยู่ในอาคารแตกร้าวก็ให้หน่วยงานที่มีวิศวกรโยธาหรือช่างโยธรเข้าไปดูแล หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกก็ให้หลบในที่กำบังเพื่อป้องกันสิ่งของบนที่สูงตกใส่ศีรษะ และเมื่อวานที่คนค่อยๆ ทยอยออกจากตึกถือเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะความเสียหายจากเหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดจากความโกลาหลและตื่นตระหนกของผู้คน” นายอภิชัยกล่าว