xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีครอบครัว "เจเอสทีพี" บ้านหลังที่สองของเด็กเก่งวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีภาพฝังใจมาตั้งแต่เด็กว่า ร้อยทั้งร้อยของเด็กเก่งและเด็กฉลาดต้องเห็นแก่ตัว อัตตาสูง และพูดคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องแล้ว ก็ขอให้ลืมไปได้เลยกับเยาวชนทั้ง 8 รุ่น 116 คนของโครงการ "เจเอสทีพี" ที่ซึ่งเยาวชนเลือดใหม่กลุ่มนี้จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่จริงเสมอไป หลังจากพวกเขาได้มาใช้ชีวิตร่วมกันในโครงการที่เรียกแทนได้ว่า “บ้านหลังที่สอง” ของเด็กเก่งวิทย์ก็ไม่ผิดนัก

แง้มประตูบ้านเด็กอัจฉริยะ

"เพราะไม่อยากให้เหล่าช้างเผือกกลุ่มนี้ถูกสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นๆ ในชีวิตและครอบครัวมาบดบังความสามารถที่มีอยู่จนต้องสูญหายไปในสังคมอย่างน่าเสียดาย" ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ นักเคมีอินทรีย์ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน ปี 2538 หนึ่งใน 4 ผู้บุกเบิก "เจเอสทีพี" หรือ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชนที่รับผิดชอบโดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

จากความตั้งใจของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ที่อยากให้เด็กอัจฉริยะรุ่นหลังได้มี “พี่เลี้ยง” คอยให้คำแนะนำ ทั้งเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ การเรียน เจตคติต่อสิ่งต่างๆ และการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เป็นโครงการค่ายระยะยาวที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิจัยอย่างใกล้ชิด และได้เรียนรู้ที่จะสร้างเครือข่ายนักวิจัยรุ่นเยาว์อย่างเหนียวแน่น

ดังนั้นจึงได้ร่วมริเริ่มโครงการกับอีก 3  ท่านคือ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทย, ศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ปรมาจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

ทว่า เจเอสทีพีไม่ใช่โครงการที่บรรจุความรู้วิชาการหนักๆ ให้เด็กได้ท่องจำเพื่อไปสอบแข่งขันกับผู้อื่นแล้วจบลงเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับเหล่า “ช้างเผือก” ผู้มีพรสวรรค์และอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศ

บรรดาพี่เลี้ยงก็คือเหล่าคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังต่างๆ ที่สละเวลาส่วนตัวมาฝึกปรือวิชาและคุณธรรมให้แก่ว่าที่นักวิทย์รุ่นหลังได้รู้ตาม รวมไปถึงเยาวชนเจเอสทีพีรุ่นพี่ที่คอยดูแลน้องในรุ่นถัดๆ มาอย่างเป็นกันเอง จนเสน่ห์ที่ขาดหายไปไม่ได้จากโครงการนี้คือความอบอุ่นระหว่างชีวิตทุกชีวิตร่วมโครงการ

จดบันทึกสำนึก “บุญคุณชาวนาต้องทดแทน”

“สิ่งสำคัญที่สุดที่เน้นย้ำไว้กับเยาวชนเจเอสทีพีไม่ใช่ความเก่งกาจทางวิชาการอย่างบ้าคลั่ง แต่เป็นจิตสำนึกความเป็นคนไทย ที่ไม่ทอดทิ้งประเทศไว้เบื้องหลังแล้วเห็นความสุขความสำเร็จของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญกว่า” ศ.ดร.ยอดหทัยกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญ และจึงแน่นอนว่า บทเรียนแรกๆ ของโครงการ คือเรื่องจิตสำนึกรักชาติและทดแทนบุญคุณบ้านเกิดเมืองนอน และนี่เป็นหลักเกณฑ์แรกๆ เพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าสู่โครงการ

“เราจะบอกเขาว่า การส่งเสริมให้คนไปเรียนสูงๆ ให้จบด็อกเตอร์ได้สักคน มันใช้เงินมาก แต่การที่เขาได้มาอยู่ในโครงการแล้วได้ไปเรียนสูงๆ ก็เพราะได้เงินภาษีชาวไร่ชาวนามาส่งให้เขาได้เรียน ให้เป็นตัวแทนของเขาไปเรียน เพราะเขามีสติปัญญาพร้อมกว่า ทางโครงการเองก็ไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องกลับมาใช้ทุน ใครจะเรียนสาขาอะไร เป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือเป็นนักวิจัยก็ได้ทั้งนั้น แต่ขออย่างเดียวให้เรียนจบแล้วทำวิจัยด้วย เพราะงานวิจัยเป็นพื้นฐานสำคัญขององค์ความรู้ที่นำไปใช้งานและใช้พัฒนาประเทศได้” ศ.ดร.ยอดหทัย ผู้ให้กำเนิดโครงการกล่าวด้วยความหวัง

ดังนั้นเมื่อไม่ได้ผูกมัดอะไร เยาวชนเจเอสทีพีก็ต้องไม่ลืมบุญคุณของเจ้าของเงินเช่นกัน คือรีบเรียนแล้วรีบช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่ใช่พอเรียนจบแล้วก็มาเรียกร้อง อ้างโน้นอ้างนี่ว่าประเทศไทยไม่พร้อม ค่าตอบแทนต่ำ อะไรๆ ก็ไม่มี หรือไม่อยากเป็นนักวิจัย ซึ่งเป็นความคิดที่ยากจะรับได้ เพราะถ้าคิดไม่ตอบแทนประเทศแล้วก็ไม่ควรมารับทุนตั้งแต่แรก

เปิดตู้กาลเวลาพิสูจน์ผลงาน 10 ปีบ้านเจเอสทีพี

หากเปรียบกับคนเราแล้ว 10 ขวบปีของเจเอสทีพีก็ดูไม่ใช่เวลาที่มากมายนัก ขณะเดียวกัน 1 ทศวรรษของโครงการเด็กอัจฉริยะก็ย่อมไม่ใช่เวลาที่น้อยดังความคาดหวังของสังคม โดยนับจากวันแรกของโครงการเมื่อ 10 ปีก่อน คือปี 2540 ที่โครงการเจเอสทีพีถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการส่งเสริมเด็กผู้มีศักยภาพหน้าใหม่ที่ยังไม่มีใครใคร่รู้จักมากนัก แต่ด้วยลักษณะพิเศษของโครงการก็ทำให้ชื่อนี้ติดตลาดได้ไม่ยาก

จุดแรกที่เจเอสทีพีไม่เหมือนโครงการส่งเสริมอื่นๆ คือ ปึกใบสมัครกว่าสิบหน้ากระดาษ ที่หากไม่สนใจจริงแล้ว ก็น้อยรายนักที่จะเพียรกรอกและตอบคำถามใบสมัครเข้าโครงการได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ในทางกลับกันกลับเป็นที่สนุกสนานของเหล่าเด็กอัจฉริยะที่จะใช้พื้นที่ว่างบนหน้ากระดาษระบายจินตนาการและความคิดได้ไม่รู้อิ่ม

อีกทั้งการปฏิเสธการพิจารณาคุณสมบัติจากแฟ้มผลงาน หรือที่ผู้คนสมัยนี้คุ้นเคยและเรียกกันว่า “พอร์ตฟอลิโอ” ก็ทำให้ผู้สมัครบางรายถอนตัวไปแต่แรก แต่ด้วยปรัชญาการเลือกเยาวชนที่ “ความคิด” เป็นหลัก ก็ทำให้มีเยาวชนที่มีแววอัจฉริยะจากทั่วประเทศส่งใบสมัครเข้ามายังโครงการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นับจากปีแรกๆ ในหลักสิบหลักร้อยขยับขึ้นสู่หลักพันในเวลาไม่กี่ปี จึงการันตีได้ว่าเจเอสทีพีเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากโรงเรียนมัธยมฯ ไม่น้อยทีเดียว

เมื่อมองจากสถิติเยาวชนผู้เข้าโครงการตลอด 8 รุ่น 116 คน ก็สามารถแบ่งเยาวชนกลุ่มนี้คร่าวๆ ได้ว่าเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในประเทศ 75 คน โดย 10 คนศึกษาในชั้นมัธยมศึกษา 51 คนในระดับปริญญาตรี 9 คนในระดับปริญญาโท และอีก 1 คนในระดับปริญญาเอก โดยมีที่ทำงานแล้ว 4 คน เป็นแพทย์รับใช้สังคม 3 คน และประกอบธุรกิจอีก 1 คน

ส่วนเยาวชนที่อาศัยในต่างประเทศมี 32 คน แบ่งเป็นปริญญาตรี 15 คน ปริญญาโท 6 คน ปริญญาเอก 11 คน และที่ทำงานแล้ว 1 คน โดยกระจายอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน แคนาดา และสก็อตแลนด์ พร้อมกันนั้นในปีการศึกษาหน้ายังจะมีเยาวชนที่รอเดินทางไปศึกษาต่ออีก 8 คน เป็นระดับปริญญาโท 4 คนและปริญญาเอก 4 คน

พลิกแฟ้มผลงานชื่อก้องโลก

ด้านผลงานวิชาการที่เป็นรูปธรรมของลูกศิษย์เจเอสทีพีก็เป็นที่รับรู้ของสังคมเป็นระยะๆ จนไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากจะพูดว่า เจเอสทีพีเป็นแหล่งผลิตสมองอันอุดมของประเทศ ยกตัวอย่างพอหอมปากหอคอ ที่คุ้นชื่อกันดีคงต้องยกให้ 2 ทีมจากรั้วเตรียมอุดมศึกษาได้แก่ 4 หนุ่ม “ทีมคลื่นการเดินของกิ้งกือ” ที่คว้ารางวัลที่ 1 ด้านคณิตศาสตร์ประเภททีมและบูรณาการดีเด่นจากเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ (Intel ISEF) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปี 2547 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น 3 หนุ่มรุ่นน้องจากรั้วเดียวกันก็ประกาศศักดาให้โลกรับรู้อีกครั้งในเวทีเดียวกัน ด้วยโครงการ “การแตกตัวของฝักต้อยติ่ง” พร้อมคว้ารางวัล Grand Awards Winners มาได้ในอีก 2 ปีให้หลัง รวมถึง “ณัฏฐ์ ปิยะปราโมทย์” หรือ “นัทน้อย” อีกหนึ่งหนุ่มหน้าใสไฟแรง ผู้ฉายเดี่ยวกวาดคนเดียวมา 3 รางวัลจากเวที Intel ISEF ด้วยโปรแกรมแปลงภาพเป็นตัวหนังสือในชื่อ “วิธีการ Binarization สำหรับภาพจากกล้องเพื่อการรู้จำตัวอักษร”

ขณะที่อีกหนึ่งหนุ่มสมาชิกเจเอสทีพีที่คนไทยต้องตามลุ้นให้กำลังใจกันในนาทีนี้คือ “กานต์ กาญจนาภาส” อดีตเยาวชนไทยในโครงการแลกเปลี่ยนไทย -สแตนฟอร์ด ผู้คว้าตั๋วชนะเลิศการแข่งขัน Robocup Thailand Championship ปี 2550 เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแข่งขัน Robocup World 2007 ณ เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 1-10 ก.ค.นี้

เล่นกล่องดนตรี “สัญญาใจที่มีต่อกันและกัน”

ภูริน พานิชพันธ์ หรือ “ริน” เยาวชนเจเอสทีพีรุ่น 2 หนุ่มน้อยผู้ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บ.ไมโครซอฟต์ สหรัฐอเมริกา ย้อนวันวานถึงเจเอสทีพีว่า ทีแรกที่เข้าโครงการ เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่รู้จักเจเอสทีพีเลย แต่เมื่อได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่ก็ลองสมัครดู จนรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกที่ไม่เหมือนกับจินตนาการของเขาเลย

“ตอนแรกเข้าไปนึกว่าจะมีแต่เด็กเรียนใส่แว่นกันทุกคน ที่ไหนได้ มีแต่พวกบ้า ๆ บ๊อง ๆ ฮากันตลอดเวลา แต่ทุกคนก็เรียนเก่ง และก็เก่งต่างกันคนละด้าน จำได้ว่าค่ายทุก ๆ ค่ายไปแล้วสนุกมาก เพราะนอกจากได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้ว ยังได้เพื่อนเยอะแยะมาก พี่รุ่นก่อนหลายคนหมดปีไปแล้วก็ยังมาร่วมค่ายด้วย

“ตอนนั้นก็ไม่ได้หวังอะไรมากไปจากการร่วมค่าย ทำกิจกรรม แต่ถึงตอนนี้แล้วย้อนคิดดู การได้ร่วมค่าย ไปทัศนศึกษา ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียน เวลาไปค่าย เราไม่ไม่ได้ไปแค่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือหอดูดาวเท่านั้น บางทีก็ไปดูวัด โบราณสถาน ไปดูโรงงานทำปูอัด ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมได้รู้ว่าการเรียนรู้นั้นไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนหรือห้องแล็บ ทำให้ได้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อสังคม ศิลปะ เศรษฐกิจ จากการสัมผัสจากประสบการณ์จริง

"ผมประทับใจกับความทุ่มเทของอาจารย์แต่ละคนมาก โดยเฉพาะเวลาอาจารย์บางคนมาธุระที่เชียงใหม่ ก็จะชวนเด็ก ๆ จากค่ายไปทานข้าวกันด้วย มีความรู้สึกว่าเขาใส่ใจเราจริง ๆ” บัณฑิตหนุ่มด้านการออกแบบและคอมพิวเตอร์จากคาร์เนกี เมลลอน เผย

ริน ยังแสดงความห่วงใยต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยกลับมาด้วยว่า ด้านการศึกษาของไทยเวลานี้ โดยรวมแล้วเด็กไทยเก่งและขยันเยอะกว่าเด็กอเมริกันมาก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ แต่พอจะเข้ามหาวิทยาลัยมักไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ หันไปเรียนด้านที่จบมาแล้วได้เงินเดือนมากๆ กันซะหมด แตกต่างจากที่อเมริกา ที่หากชอบอะไรก็จะเรียนไปทางนั้นและก็จะเก่งกันจริง ๆ ไปเลย แถมยังมีทุนให้ด้วย ซึ่งภูรินมองว่า เป็นจุดที่อาจต้องใช้เวลาในการปรับค่านิยมนี้ในบ้านเรา เพื่อให้มีเด็กเก่งและขยันทำงานในด้านที่เขาเก่งและมีพรสวรรค์จริง ๆ อีกทั้ง โดยส่วนตัวเขาแล้ว แม้ว่าวันนี้ตัวจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่จิตใจยังคงคิดถึงประเทศไทยเสมอ

เรื่องอนาคตตอนนี้ ผมคิดว่าจะทำงานเก็บประสบการณ์อีกสักนิด เรียนปริญญาโทภายใน 1-2 ปีนี้ แต่ท้ายสุดผมก็จะกลับไปเมืองไทยอยู่ดี อยากกลับไปพัฒนาประเทศชาติครับ” รินทิ้งท้าย

เผยความรู้สึก "ครอบครัวเดียวกัน"

ไม่แตกต่างกับ ธัญญพร วงศ์เนตร หรือ “ติ๊ดตี่” รุ่น 4 ของพี่ๆ น้องๆ ชาวเจเอสทีพี และนักศึกษาปริญญาโทจากรั้วมหิดล เล่าบ้างว่า ในสายตาของตัวเองเมื่อแรกเข้าร่วมโครงการก็มองว่าเป็นโครงการที่แปลกไม่น้อยทีเดียว อย่างน้อยๆ ก็ผิดคาดที่เป็นโครงการที่ไม่คาดหวังอะไรในตัวสมาชิกมากเหมือนโครงการอื่นๆ เท่าที่พบและได้ยินมา โดยเจเอสทีพีมีจุดเด่นมากกว่าโครงการสนับสนุนอื่นๆ ตรงที่ความเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความสนิทสนมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ผู้ประสานงาน พี่เลี้ยง และคณาจารย์มากกว่าโครงการอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จนเรียกได้ว่าเป็น “สัญญาใจ” ที่มีให้กันและกันในโครงการก็ว่าได้

“ปกติถ้าเป็นโครงการอื่นๆ ก็จะคุยกันระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์แค่เรื่องในแล็บ แต่หนูและอาจารย์ของหนูนี่เราจะคุยกันได้ทุกเรื่อง" ติ๊ดตี่ ผู้หวังเป็นอาจารย์และนักชีวเคมีตามรอย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ แม่แบบนักวิจัยยามาลาเรีย เล่าอย่างมีความสุข

พร้อมกันนี้ เธอยังฝากความหวังไว้ด้วยว่า อยากเห็นเจเอสทีพีเติบโตและมีย่างก้าวที่แข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่าหากสมาชิกโครงการสร้างผลงานได้เป็นที่ปรากฏแล้ว ก็น่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่หนุนให้โครงการอันเป็นที่รักนี้อยู่ยงต่อไป

เปิดใจแม่พิมพ์ผู้มีหัวใจ “นักวิจัยต้องเสียสละ”

ส่วนเสียงจากฝ่ายผู้ประสานงานโครงการ รศ.ดร.อุดมศิลป์ ปิ่นสุข อาจารย์หนุ่มจากรั้วจามจุรี “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” อดีตนักเรียนทุน พสวท. ซึ่งได้รับการชักชวนจากเพื่อนร่วมรุ่นให้มาสัมผัสกับโครงการเจเอสทีพีในฐานะพี่เลี้ยง จนมาสู่การเป็นผู้ประสานงานโครงการ สะท้อนพัฒนาการของเยาวชนค่ายภายหลังได้ติดตามผลงานมาเกือบ 7 ปี

รศ.ดร.อุดมศิลป์ เล่าว่า เยาวชนค่ายต่างมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในฐานะอาจารย์พี่เลี้ยงก็ต้องคอยกระตุ้นและดูแลเยาวชนให้แสดงศักยภาพสูงสุดออกมา เช่น การท้าทายให้เยาวชนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ยากขึ้น หากเห็นว่าเขามีศักยภาพทำได้ แต่หากเห็นว่าบางงานยากเกินไป หรือติดกลิ่นอายความเพ้อฝันไปบ้างก็ต้องตะล่อมตบส่วนที่เกินออกมาให้เข้าที่เข้าทาง

นอกจากนั้นแล้ว การเข้าโครงการยังจะช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพอย่างไม่หลงทาง

ทั้งนี้ เมื่อได้ย้อนดูประวัติของรินและติ๊ดตี่แล้ว ก็ดูท่าสิ่งที่อาจารย์หนุ่มรายนี้พูดถึงจะไม่ใช่สิ่งที่ดูเลื่อนลอยแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง “ริน” ที่แรกเข้าโครงการ เขาสนใจศึกษาในด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอย่างแรก ผ่านโครงงานสกัดสาร “เบต้าแคโรทีน” จากดอกบานบุรีเพื่อผสมอาหารไก่ไข่ให้ออกไข่ที่ไข่แดงมีสีสรรน่ารับประทาน แต่เมื่อค้นพบตัวเองหลังจากเข้าโครงการ รินก็พบว่าสิ่งที่เขาต้องการมากกว่าคือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์

ส่วน “ติ๊ดตี่” ดูจะกลับด้านกันกับริน เพราะโครงงานวิทยาศาสตร์เริ่มต้นที่ติ๊ดตี่จับคือ “ไม้เท้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อคนตาบอด” ที่ส่อไปทางคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชัดเจน แต่เมื่อได้เห็นต้นแบบและเห็นการทำงานอย่างจริงจังของนักวิจัยแล้ว ติ๊ดตี่ก็พบว่า ภาพอนาคตของตัวเองที่เธออยากเห็นคือ การเป็นนักวิจัยยาต้านมาลาเรียตามอย่างนักไบโอเทครุ่นพี่

จะว่าไปแล้ว อาชีพนักวิจัยก็ต้องยอมเสียสละบ้าง อย่างตอนสมัยผมเด็กๆ ครูก็จะสอนว่า ถ้าเรากินอิ่มนอนหลับแล้วก็ให้ช่วยชาติด้วย แต่พอผมโตขึ้นแล้วก็เห็นว่ามันไม่จำเป็นเสมอไป เช่น ครูและทหารใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่กินก็ไม่อิ่ม นอนก็ไม่หลับ แต่เขาก็ยังช่วยชาติ ผมดูข่าวภาคใต้แล้วนั่งน้ำตาไหลเลย เขาอยู่ตรงนั้น ดูแลชาติช่วยปกป้องแผ่นดินให้เรา แล้วเราอยู่ตรงนี้กินอิ่มนอนหลับ แล้วเราไม่ช่วยชาติก็ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นคนไทยคนหนึ่ง เรามีอะไรช่วยได้ก็ต้องช่วยกัน” รศ.ดร.อุดมศิลป์ บรรยายความรู้สึกส่วนตัวแสดงถึงสำนึกของนักวิจัยบางส่วนบางตอนที่จะได้ถ่ายทอดสู่สมาชิกเจเอสทีพีจากรุ่นสู่รุ่น

แต่หากเป็นไปได้แล้ว เขาก็มองเหมือนติ๊ดตี่ว่าอยากเห็นโครงการที่เติบโตมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศมากขึ้น

สุดท้ายที่ผลความพึงใจในฐานะผู้ก่อการที่เคยอยู่จุดสูงสุดของวงการวิทยาศาสตร์อาเซียนมาแล้ว ศ.ดร.ยอดหทัย สรุปภาพรวม 10 ปีเจเอสทีพีสั้นๆ ขณะทอดสายตาไปยังเหล่าอนาคตของชาติที่ล้อมวงทำกิจกรรมอย่างครุ่นคิดแต่ได้ใจความว่า “เด็กพวกนี้ก็ดีนะ และไม่เลวนัก” เพราะเท่าที่เห็นมา เยาวชนในโครงการตลอด 1 ทศวรรษก็จัดว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปหากจะบอกว่าวันนี้ทุกอย่างลงตัวและเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว เพราะตราบใดที่ยังไม่ถึงเส้นชัยก็ยังเร็วเกินไปนักที่จะบอกว่า “สำเร็จเผล็ดผล”

ส่วนอนาคตต่อไป ผลงานของ “บ้านเด็กเก่งวิทย์หลังนี้” จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงจะไม่นานเกินรอ หากสังคมพร้อมที่จะติดตามและให้กำลังใจเชียร์ เพื่อหวังว่าวันหนึ่ง พวกเขาจะมาเป็นกำลังพลที่พาชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังมโนภาพที่สังคมไทยไขว่คว้ามานานแสนนาน








กำลังโหลดความคิดเห็น