xs
xsm
sm
md
lg

"เมืองมะขามหวาน" นำร่องสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากซังข้าวโพด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดถึง "จังหวัดเพชรบูรณ์" ใครๆ ก็คงจะนึกถึงแต่ "มะขามหวาน" อันเป็นผลผลิตสำคัญประจำเมือง แต่ไม่ได้เพียงเท่านี้ ดินแดนแห่งเขาค้อยังเป็นพื้นที่ที่ปลูก "ข้าวโพด" มากที่สุดในประเทศอีกด้วย ดังนั้น "ซังข้าวโพด" เหลือทิ้งจำนวนมากมายในแต่ละปีจึงเป็นที่มาของ "โรงไฟฟ้าชีวมวล"

เพราะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก จังหวัดเพชรบูรณ์จึงรับเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องสำหรับรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ภายใต้ “โครงการพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม” โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงความพร้อมของจังหวัดในการรองรับเทคโนโลยีต่างๆว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากมายอย่างเหลือเฟือ หากมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น และขยายโอกาสเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

"โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งเพชรบูรณ์มีการทำไร่ข้าวโพดมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทำให้มีซังข้าวโพดเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก และเกษตรกรเองก็ยังไม่มีความรู้ว่าจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ซังข้าวโพดเหลือทิ้งเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบ" นายต่อพงษ์กล่าว 

ทั้งนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพด เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับถ่ายทอดมาจากประเทศเยอรมนี โดยการเผาซังข้าวโพดในเตาเผาประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ความร้อนจากการเผาต้มน้ำให้เดือด ทำให้ได้ไอน้ำไปหมุนปั่นเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้า ระบบนี้ถูกอกแบบให้มีการดักกรองฝุ่นควันได้ถึง 97% ทำให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และนอกจากนั้น ซังข้าวโพดยังไม่มีองค์ประกอบของกำมะถัน (S) และคลอรีน (Cl) ซึ่งเป็นตัวก่อมลพิษทางอากาศที่สำคัญไม่แพ้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

ทางด้านนายประกิต วรรณบุษปวิช ประธาน บริษัท โรงไฟฟ้าชีวมวล บึงสามพัน ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพด กล่าวถึงที่มาของบริษัท โรงไฟฟ้าชีวมวล บึงสามพัน แห่งนี้ว่า ถือกำเนิดขึ้นจากการที่มีมติ ครม. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัสดุที่เป็นชีวภาพ (Biomass) เมื่อปี พ.ศ.2547 จึงได้เริ่มศึกษาและวิจัยศักยภาพของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในจังหวัดต่างๆ ว่าสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากน้อยเพียงใด และก็พบว่าซังข้าวโพดที่เหลือจากการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์มีศักยภาพสูงในการเป็นวัตถุดิบแก่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล

“เหตุที่เลือกจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะจังหวัดนี้ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในประเทศไทยและมีซังข้าวโพดเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่วนพื้นที่อำเภอบึงสามพัน คิดว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะเป็นศูนย์กลางการปลูกข้าวโพดของจังหวัดนี้” นายประกิตเผยถึงเหตุผลที่เลือกสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวในเขตพื้นที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดถึง 1.3 ล้านไร่ และมีซังข้าวโพดเหลือทิ้งหลายแสนตันต่อปี ซึ่งหากนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 9.9 เมกกะวัตต์ต่อวัน โดยโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพดแห่งแรกของประเทศไทยโรงนี้ จะเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมปีนี้ บนพื้นที่ 85 ไร่ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 18 เดือน ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท และกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะขายให้แก่ กฟผ.

นอกจากเทคโนโลยีโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากซังข้าวโพดแล้ว ยังมีเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน ได้แก่ การออกแบบและผลิตอิฐบล็อกประสานขั้นสูง การเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นมาตรฐาน EUREPGAP (Euro-Retailer Produce Working Group for Good Agricultural Practice) และ การกลั่นน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวันที่มีความบริสุทธิ์สูง โดยเฉพาะอันหลังสุดนี้ เกษตรกรปลูกดอกทานตะวันโดยใช้พื้นที่ของไร่ข้าวโพดในช่วงว่างเว้นจากการปลูก ซึ่งทานตะวันเป็นพืชล้มลุกที่ใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 120 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ถือเป็นการใช้พื้นที่เพาะปลูกอย่างคุ้มค่าทีเดียว

ท้ายนี้ ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงโครงการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพแก่ประชาชนและเกษตรกรใน จ.เพชรบูรณ์ ว่าเป็นโครงการนำร่องและเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีความรู้เป็นพื้นฐานในการพัฒนา ซึ่งทุกโครงการที่ถ่ายทอดนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทบทั้งสิ้น และจะมีการพัฒนาในรูปแบบเดียวกันนี้กับจังหวัดอื่นๆอีกต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น