เอเยนซี – ฟอสซิลกุ้งมังกรโผล่ในอเมริกาใต้แต่กับกลายเป็นสกุลเดียวกับกุ้งมังกรในแอฟริกาปัจจุบัน นักธรณีวิทยาเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษกุ้งมังกรของทั้งสองทวีปเมื่อครั้งยังเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน
นักวิทยาศาสตร์ชาวเม็กซิกันระบุซากฟอสซิลกุ้งมังกร (Lobster) อายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ขุดพบได้ในทวีปอเมริกาใต้เป็นสกุล (Genus) เดียวกันกับกุ้งมังกรที่พบได้ในแถบแอฟริกายุคปัจจุบัน หลังใช้เวลาศึกษาร่วมทศวรรษ
"ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะเมื่อ 120 ล้านปีก่อน ทวีปแอฟริกาและอเมริกาเคยใกล้ชิดและสัมพันธ์กัน” ฟรานซิสโก จาเวีย เวกา (Francisco Javier Vega) นักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก (National Autonomous University of Mexico: UNAM) กล่าวแสดงความคิดเห็น
ซากฟอสซิลที่ว่านี้เป็นฟอสซิลหินของลูกกุ้งมังกรชนิด “พาลินูรัส พาลาชีโอซิ” (Palinurus Palaceosi) อยู่ในสกุล พาลินูรัส (Palinurus) ซึ่งเป็นสกุลของกุ้งมังกรชนิดมีหนาม ขนาดยาว 4.7 นิ้ว เปลือกและขายังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 120 ล้านปีก่อน ซึ่งขุดพบได้เมื่อปี ค.ศ.1995 ที่เมืองชีอาปาส (Chiapas) ประเทศเม็กซิโก มีอายุเก่าแก่กว่าฟอสซิลกุ้งมังกรที่เคยพบมาก่อนหน้าถึง 20 ล้านปี นับเป็นซากฟอสซิลกุ้งมังกรที่เก่าแก่และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในโลก อีกทั้งยังพบในอเมริกาใต้เป็นครั้งแรกด้วย
“ฟอสซิลกุ้งมังกรที่พบในเมืองชีอาปาสนี้ อยู่ในสกุลเดียวกับกุ้งมังกรของแอฟริกาในปัจจุบัน โดยส่วนของร่างกายกว่า 90% ถูกฝังอยู่ใต้ดินโคลน ทำให้รักษาสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี สามารถศึกษารูปพรรณสัณฐานได้อย่างรายละเอียด” เวกา อธิบายถึงฟอสซิลสัตว์ทะเลที่เขาใช้เวลาศึกษาถึง 10 ปี
ทั้งนี้ นักธรณีวิทยาเชื่อกันว่าสมัยดึกดำบรรพ์ แผ่นดินของทวีปแอฟริกาและอเมริกาในปัจจุบันเคยอยู่ติดกัน และเมื่อเกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก จึงเริ่มแยกตัวออกจากกันเมื่อประมาณ 120 ล้านปีก่อน กลายเป็น 2 ทวีปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ว่ากุ้งมังกรของทั้ง 2 ทวีป เคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน และเกิดการวิวัฒนาการต่างกันออกไปหลังแผ่นดินของทั้ง 2 ทวีปเริ่มแยกตัวออกจากกัน ทำให้อเมริกันล็อบสเตอร์ (American lobsters) หรือ โฮมารัส อเมริกานัส (Homarus americanus) กุ้งมังกรของอเมริกาในปัจจุบันต่างจากญาติๆ ของพวกมันที่อยู่ในแอฟริกา