xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มพลังงานทางเลือกไม่ปลื้ม! “ไอพีซีซี” น่าจะฟันธงเลิกใช้ฟอสซิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไอดา อรุณวงศ์” เจ้าหน้าที่กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกให้ความเห็นต่อข้อสรุปไอพีซีซี แจงน่าจะฟันธงให้ชัด “เลิกใช้พลังงานฟอสซิล” พร้อมบริหารการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และจึงเสนอใช้พลังงานหมุนเวียน แต่เข้าใจทั้งเวทีโลกและไทยคงไม่สนใจ เหตุไม่หนุนให้เกิดการลงทุน

จากผลสรุปของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ได้ประชุมกันในเมืองไทยเมื่อ 30 เม.ย.- 3 พ.ค. ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งเสนอแนวทางในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยมีการเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของแก้ปัญหาในภาคพลังงาน

ในความเห็นของ น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ที่แม้จะรณรงค์ให้คนไทยหันมาสนใจพลังงานทางเลือกประมาณ 10 ปี กลับรู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์ในคณะทำงานของไอพีซีซีน่าจะฟันธงให้ชัดเจนกว่านี้ โดยคิดว่าอันดับที่แรกที่ควรจะเสนอคือการยุติการใช้พลังงานถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิล และบริหารโครงสร้างพลังงานให้มีประสิทธิภาพ จึงค่อยพูดถึงเรื่องพลังงานทางเลือก

“ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากแค่ไหนไม่ใช่คำตอบแรก สิ่งที่เร่งด่วนสิ่งแรกคือหยุดก่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยากให้ฟันธงลงไปเลยว่าให้เลิกใช้พลังงานถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิล ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปแล้วยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประชากรได้จึงค่อยพูดถึงเรื่องพลังงานหมุนเวียน” น.ส.ไอดาให้ความเห็น

อย่างไรก็ดีเธอยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่ทางไอพีซีซีหรือไทยจะพิจารณาเรื่องการใช้พลังงานให้ประสิทธิภาพที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะเป็นแนวทางที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหรือหนุนกลไกตลาดเหมือนกับการส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในการพัฒนาพลังงานทางเลือกดังกล่าว

“เป็นข้อเสนอที่กลับหัวกลับหาง” น.ส.ไอดากล่าว แต่เธอก็เข้าใจในข้อสรุปที่ออกมา เพราะหากให้หยุดลงทุนทางด้านพลังงานฟอสซิลก็ส่งผลกระทบต่อวงจรธุรกิจ รวมไปถึงเจ้าของเทคโนโลยีและนักลงทุนทางด้านพลังงานฟอสซิล

ส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในเมืองไทยจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น น.ส.ไอดากล่าวว่าการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องปรับโครงสร้างระบบการจ่ายพลังงานซึ่งปัจจุบันขึ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่มีโครงสร้างการจ่ายไฟฟ้าที่ใหญ่ ซึ่งบีบให้การพลังงานหมุนเวียนต้องเพิ่มกำลังการผลิตตามไปด้วย กลายเป็นความยุ่งยากและเป็นไปได้ยาก แต่หากมีการปรับโครงสร้างการจ่ายไฟให้เล็กลง การหนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในเมืองไทยก็มีความเป็นไปได้

กำลังโหลดความคิดเห็น