สสวท.-เปิดใจตัวแทนเยาวชน "ฟิสิกส์โอลิมปิกเอชีย" หลังลงแข่งขันที่ประเทศจีน เจ้าของเหรียญเงินเผยใช้ "กญแจช้าง-ปราสาทหินพนมรุ้ง" สร้างมิตรต่างแดน พร้อมแจงแข่งระดับเอเชียยากกว่าแข่งระดับโลก
เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้คัดเลือก และจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย ครั้งที่ 8 ประจำปีพุทธศักราช 2550 จำนวน 8 คน เข้าร่วมแข่งขัน ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา
ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยทำได้ 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 2 เกียรติคุณประกาศ โดย นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ได้เหรียญเงิน นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม) นายชานน อริยประกาย โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา นายพลณพ สมุทรประภูติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เหรียญทองแดง นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ได้เกียรติคุณประกาศ นายณภัทร ภู่วุฒิกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เกียรติคุณประกาศ
จากการยอมรับความสำคัญของวิชาฟิสิกส์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีต่อทุกสาขาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต่อการศึกษาโดยทั่วไปของเยาวชน และด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาการติดต่อระดับนานาชาติระหว่างประเทศเอเซียในด้านการศึกษาฟิสิกส์ระดับโรงเรียน จึงได้จัดให้มีการแข่งขันฟิสิกส์รายปีขึ้นสำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลายในเอเซีย
นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล (เบ๊นซ์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เจ้าของเหรียญเงิน เผยว่าบรรยากาศการแข่งขันซีเรียสเหมือนกันเพราะเจ้าภาพคือจีนเป็นทีมที่เก่ง ข้อสอบค่อนข้างยากจริงๆ มีทั้งภาคทฤษฏี 3 ข้อ และปฏิบัติ 2 ข้อ คิดว่าทำได้พอๆ กันครับแต่อาจจะทำคะแนนทฤษฎีได้ดีกว่านิดหน่อย ไปแข่งขันครั้งนี้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตคือได้ดูว่าต้องมีสมาธิในการสอบ ต้องระวังความรอบคอบ จุดเล็กๆ ก็ไม่ควรสะเพร่าเพราะอาจทำให้คะแนนหายไปง่ายๆ ผมเองก็เป็นบ้างครับคืออาจเป็นเพราะเราตื่นเต้นและเวลาก็จำกัด
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสสนามแข่งขันกับเพื่อนต่างชาติ ถือว่าได้ประสบการณ์มาก ส่วนวิธีเรียนฟิสิกส์ให้ดีก็คือเน้นดูที่เหตุผลและทำความเข้าใจ ไม่ต้องท่องจำมากมายอะไร ถ้าเพียงแต่เราเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป เราก็จะทำได้ หากสงสัยอย่าอาย ให้ถามอาจารย์ครับ” เบ๊นซ์กล่าว
นอกจากคว้าเหรียญเงินติดมือกลับมาให้ชาวไทยได้ชื่นชมแล้ว เบ๊นซ์ยังได้เผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวของไทยผ่านการแลกเปลี่ยนของที่ระลึกกับเพื่อนต่างชาติ โดยใช้พวงกุญแจรูปช้างไทยและแม่เหล็กรูปปราสาทหินพนมรุ้งเป็นสื่อมิตรภาพ
นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ (แชมป์) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม) กทม. เหรียญทองแดง เปิดใจว่าปีนี้ข้อสอบยากกว่าฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียของปีที่แล้วซึ่งจัดที่ประเทศคาซัคสถานอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับข้อสอบฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาชาติแล้วถือว่ายากกว่าเยอะ เพราะฟิสิกส์เอเชียส่วนใหญ่ข้อสอบจะยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นที่จีนซึ่งเด็กของเขาทำได้อยู่แล้ว ก็จะออกข้อสอบให้ยากขึ้นไปใหญ่ สาเหตุที่ระดับเอเชียจะยากกว่าระดับโลกเพราะกติกาการให้เหรียญไม่เหมือนกัน ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียจะตัดกันที่คะแนนเพราะฉะนั้นจึงออกข้อสอบง่ายไม่ได้ แต่ถ้าฟิสิกส์โอลิมปิกนานาชาติจะเรียงลำดับแล้วตัดออกมา
"ไปครั้งนี้ผมได้เจอเพื่อนต่างชาติก็ได้สอนพี่เลี้ยงคนจีนที่มาดูแลทีมเราให้ทักทายสวัสดี รู้จักธรรมเนียมไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ทั่วไปเรื่องอาหาร" แชมป์กล่าว
นายชานน อริยประกาย (หมี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญทองแดง เล่าว่าได้เรียนรู้ประสบการณ์และพัฒนาวิชาการ คือรู้ว่าข้อสอบระดับชาตินั้นเป็นอย่างไร ได้รู้จักการจัดการตัวเองเพราะเวลาไปต่างประเทศต้องบริหารจัดการเวลาและบริหารทุกอย่างด้วยตัวเอง เรียนรู้วิธีสร้างมิตรภาพกับเพื่อนชาติอื่นๆ การแข่งขันผมพยายามทำให้ดีที่สุดโดยไม่กดดันตัวเอง
"ผมยังได้คุยกับเพื่อนจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และแนะนำประเทศไทยให้เพื่อนๆ รู้จัก ให้ความรู้เพื่อนต่างชาติโดยเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราว่าทรงมีความสำคัญกับประเทศเราอย่างไร เพื่อนบางคนก็รู้จักบ้านเราผ่านหนังไทย และดาราไทยที่เขาเคยดูครับ"หมีกล่าว
นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ (วิทย์) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เจ้าของเกียรติคุณประกาศ เผยว่าบรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียด โจทย์ที่จีนเป็นเรื่องปกติคือจะค่อนข้างยาก แต่ก็ง่ายกว่าที่ผมคาดไว้ ซึ่งยังไงก็ยังยากอยู่ ประเทศที่เก่งคือประเทศจีนครับ เขามี 2 ทีม ทีมใหญ่เขาได้เหรียญหมดเลยและส่วนใหญ่ได้เหรียญทองด้วย แถมยังได้คะแนนรวมสูงสุด ทฤษฏีสูงสุด
"สำหรับผมคิดว่าทำคะแนนทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติได้พอๆ กัน ไปครั้งนี้ได้ประสบการณ์จากการแข่งขันระดับชาติ ทำให้รู้ว่าเราควรเตรียมตัวอย่างไรเวลาไปสอบ รวมทั้งเรียนรู้การจัดการเวลาให้เหมาะสม" วิทย์กล่าว
นายณภัทร ภู่วุฒิกุล (นิก) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เกียรติคุณประกาศ เล่าว่าเจ้าภาพเตรียมงานแข่งขันได้เป็นระเบียบดีมาก ส่วนตัวผมไม่เคยเรียนพิเศษเพราะมีรุ่นพี่ที่โรงเรียนช่วยติวให้อยู่แล้ว และหาหนังสืออ่านเองเพราะถึงเรียนพิเศษก็ไม่ตรงกับที่ใช้ในค่ายอยู่ดี
"คิดว่าการเรียนพิเศษไม่จำเป็น เพราะถ้าเราชอบจริงๆ การเรียนพิเศษจะช่วยได้แค่ระดับมัธยมปลาย แต่ถ้าเราชอบวิชาใดมากๆ ก็สามารถอ่านเองระดับใดก็ได้จนกว่าจะพอใจ ส่วนตัวผมเองหาความรู้เพิ่มจากการยืมหนังสือรุ่นพี่มาอ่านและจากเว็บไซด์ที่ให้ความรู้ด้านวิชาการต่างๆ" นิกกล่าว
นอกจากนี้ทีมผู้แทนประเทศไทยยังประกอบด้วยนายพลณพ สมุทรประภูติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เจ้าของเหรียญทองแดง รวมทั้งนายคามิน ศิริวัฒน์เวชกุล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม หนุ่มน้อยอัธยาศัยดี และนางสาวรพิศา นันทนีย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. สาวน้อยคนเดียวของทีม ซึ่งทุกคนได้ทุ่มเทความสามารถกับการแข่งขันครั้งนี้อย่างเต็มที่
หลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ให้เหลือ 5 คน เพื่อเดินทางไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศเวทีโลกในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้