เอเยนซี-อียูแนะไทยและประเทศกำลังพัฒนาหยุดกล่าวหาประเทศร่ำรวยเป็นต้นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และหันมาลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อลดหายนะอันจะเกิดจากภาวะ “โลกร้อน”
ตลอดสัปดาห์นี้ผู้แทนรัฐบาลจากชาติต่างๆ กว่า 120 ประเทศกำลังร่วมอภิปรายร่างรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าสรุปรายงานสุดท้ายจะออกมาในวันที่ 4 พ.ค.นี้
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเกิดภาวะโลกร้อนนั้น ทางประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกานั้นได้เรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่ารับผิดชอบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน และควรจะแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา
ขณะที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียได้ปฏิเสธที่จะลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับสหประชาชาติที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศจีนและอินเดียไม่ได้ให้คำมั่นที่จะลดมลพิษคาร์บอนในอากาศ
ทางด้าน ทอม แวน เอียร์แลนด์ (Tom van Ierland) ตัวแทนจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ความเห็นโดยไม่ได้เจาะจงที่ประเทศใดเป็นพิเศษว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรหยุดแสดงความไม่ใส่ใจต่อประเทศที่เป็นผู้สร้างมลภาวะที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยคำแก้ตัวว่าไม่ใช่นโยบายของประเทศที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“เราหวังว่าการโต้เถียงแบบนั้นจะลดน้อยลง เพราะเราไม่คิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูก บางประเทศใช้คำพูดเหล่านี้โน้มผู้คน มันค่อนข้างเศร้าเพราะว่ามีสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ” แวน เอียร์แลนด์กล่าว
ทั้งนี้ไอพีซีซีได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ความอุดมสมบูรณ์ลดลงกำลังเผชิญกับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่จากการไม่ตรวจสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ แม้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียสก็ทำให้ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำก่อนปี 2593
ทางด้าน ยูนิส อัล-เฟนาดี (Younis Al-Fenadi) ผู้แทนหนึ่งเดียวจากประเทศลิเบียกล่าวว่าทวีปแอฟริกาคือเหยื่อของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสรุปรายงานสุดท้ายที่จะออกมานั้นต้องรวมคำสัญญาที่จะช่วยเหลือให้แก่แอฟริกาในรูปของเงินเพื่อช่วยเหลือในการฝึกปฏิบัติ วางแผนและให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว
ส่วนออร์วิน เพจ (Orvin Paige) ผู้แทนจากแอนกัวและบาร์บูดาประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน กล่าวว่าเขารู้สึกผิดหวังที่มีการพูดคุยกันไปไกลในประเทศไทยซึ่งสาธยายเกี่ยวกับเรื่องประเด็นทางด้านเทคนิค ขณะที่ตัวเขาเพียงต้องการให้การอภิปรายกลับไปยังประเด็นที่ว่าเราจะคาดหวังอะไรได้บ้าง หรืออะไรคือภยันตรายที่แท้จริง
รายงาน 2 ฉบับของไอพีซีซีที่ออกมาปีนี้ได้วาดภาพที่ร้ายกาจของอนาคตที่ไม่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะกระตุ้นอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไปก่อนปี 2643 ส่วนรายงานฉบับที่กำลังถูกอภิปรายในสัปดาห์นี้ก็กดดันโลกให้รวบรวมทางเลือกทางด้านเทคนิคที่มีอยู่มากมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการสำรวจประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การเลี่ยงการใช้พลังงานถ่านหินและการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
รายงานฉบับสอง "ไอพีซีซี" ระบุมนุษย์หลายพันล้านต้องเผชิญผล "โลกร้อน"
เปิดรายงาน "โลกร้อน" มนุษย์คือตัวการและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
IPCC มุ่งหาทาง "ลดก๊าซเรือนกระจก" เก็บภาษีผู้ก่อปัญหา