xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มอัตรารอดตาย "เป๋าฮื้อ" ลดราคาอาหารขึ้นเหลาเข้าท้องตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้นชื่อว่าอาหารทะเล ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ยิ่งสดใหม่ยิ่งขายได้ราคาแพง โดยเฉพาะ “หอยเป๋าฮื้อ” อาหารระดับจักรพรรดิ ไม่ว่าจะด้วยรสชาติอันโอชาหรือเพราะหายากยิ่ง จึงส่งผลให้หอยชนิดนี้มีราคาต่อกิโลกรัมสูงถึงหลักพัน แต่ถ้าหากเพาะเลี้ยงให้ลูกหอยมีอัตรารอดตายได้มากขึ้น อาจมีหอยเป๋าฮื้อตัวโตๆ สดจากฟาร์มวางขายอยู่ในตลาดใกล้บ้านท่านในราคาย่อมเยาว์กว่าเดิมก็เป็นได้

หอยเป๋าฮื้อ (abalone) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “หอยโข่งทะเล” เป็นหอยฝาเดียว อาศัยอยู่บริเวณกองหินหรือแนวปะการังใต้น้ำบริเวณที่น้ำทะเลใส และพบมากที่ความลึกระหว่าง 2-8 เมตร กินสาหร่ายสีน้ำตาล สีเขียว สีแดง และพวกไดอะตอมเกาะติด (sessile diatom) เป็นอาหาร มักออกหากินรวมทั้งผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วลูกหอยมีอัตราการรอดตายที่ต่ำมาก บางครั้งไม่ถึง 1%ด้วยซ้ำ

เนื่องจากเป็นหอยที่มีรสชาติดีและราคาแพง ทำให้ต่างชาตินิยมบริโภคกันมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐฯ ส่วนการบริโภคในประเทศไทยมักเป็นภัตตาคารหรือโรงแรมใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นหอยเป๋าฮื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ มูลค่าการนำเข้าแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และประเทศที่มีการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อส่งออกหลักๆ แล้วได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเม็กซิโก โดยมีประมาณ 20 ชนิด ที่นิยมเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ เพราะมีขนาดใหญ่และให้ราคาสูง

เหนี่ยวนำหอยให้เป็นหมันเพิ่มอัตรารอดตาย

สำหรับหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยมีอยู่ 3 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่นิยมบริโภค ได้แก่ Haliotis asinine (ฮาลิโอทิส อาซินีน) และ H. ovina (เอช. โอวินา) ส่วนอีกชนิดหนึ่ง คือ H. varia (เอช. วาเรีย) มีขนาดเล็กจึงไม่เป็นที่นิยม ซึ่งฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 11 ฟาร์ม ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออก เพราะการบริโภคในประเทศยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนสนับสนุน “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงทริพลอยด์ (triploid) และผลิตภัณฑ์ของหอยเป๋าฮื้อ” เพื่อพัฒนาระบบและเทคนิคการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ตั้งแต่เริ่มเพาะพันธุ์จนได้หอยขนาดตามที่ตลาดต้องการ ตลอดจนวิธีการเตรียมและการแปรรูปหอยเป๋าฮื้อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานหลายเดือน ซึ่งคณะวิจัยได้เลือกใช้หอยเป๋าฮื้อชนิด Haliotis asinine Linnaeus (ฮาลิโอทิส อาซินีน ลินเนียส) เป็นตัวอย่างในการศึกษา

นางนวลมณี พงศ์ธนา นักวิชาการของศูนย์วิจัยและทดลองพันธุ์สัตว์น้ำปทุมธานี หัวหน้าโครงการ และรับผิดชอบงานวิจัยการเหนี่ยวนำให้หอยเป๋าฮื้อเป็นหมัน คือ มีโครโมโซม 3 ชุด (3n) โดยใช้สารเคมี 6-ไดเมทิลอะมิโนพิวรีน (6-Dimethylaminopurine: 6-DMAP) เผยว่า นำไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วเป็นเวลา 5 นาที มาแช่ในสารละลาย 6-DMAP ที่ความเข้มข้น 150 ไมโครโมลาร์ นาน 10 นาที เพื่อเหนี่ยวนำให้หอยเป๋าฮื้อมีโครโมโซม 3 ชุด จากนั้นอนุบาลลูกหอยเป็นเวลา 90 วัน จึงเก็บตัวอย่างเลือดของลูกหอยที่รอดตายไปตรวจวัดปริมาณดีเอ็นเอ พบว่าได้ลูกหอยที่มีโครโมโซมเป็น 3n เฉลี่ยประมาณ 25.4±19.9%

“เมื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดตายและการเจริญเติบโตของลูกหอย พบว่าลูกหอย 3n มีอัตราการรอดตายสูงกว่าลูกหอย 2n แต่ขนาดของลูกหอยอายุ 270 วัน ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าใดนัก” นางนวลมณีอธิบาย

ถังเพาะพันธุ์แบบใหม่เก็บลูกหอยได้มากกว่า

ทางด้าน นายธเนศ พุ่มทอง นักวิจัยของศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงหอยในภาชนะแบบเดิมและภาชนะแบบใหม่ เริ่มจากการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการและภาชนะแบบเดิม โดยกระตุ้นให้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์หอยปล่อยน้ำเชื้อและไข่ออกมาผสมพันธุ์ในช่วงเวลา 12.30-13.30 น. แต่พบว่ายังมีพ่อแม่พันธุ์บางส่วนปล่อยไข่และน้ำเชื้อในช่วงกลางคืน ทำให้สูญเสียไข่และน้ำเชื้อไปกับกระแสน้ำ จึงได้มีแนวคิดออกแบบภาชนะเพาะพันธุ์ขึ้น

“ถังเพาะพันธุ์นี้ถูกออกแบบให้ดักกระแสน้ำในถังให้ไหลวน เพื่อชะลอการไหลของไข่และน้ำเชื้อให้ออกจากถังช้าลง ซึ่งหากพ่อแม่พันธุ์มีการปล่อยน้ำเชื้อและไข่ในเวลากลางคืน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ทั้งสองมีโอกาสผสมพันธุ์กันมากขึ้น” นายธเนศอธิบาย

ไข่ที่ถูกผสมภายในถังเพาะพันธุ์จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะก่อนว่ายน้ำ (early veliger) ภายใน 5 ชั่วโมง และจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกสู่ถังรวบรวมที่มีกระชังไนล่อนตาถี่ดักอยู่ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เก็บรวบรวมลูกหอยได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เมื่อมีการผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน

ปรับปรุงภาชนะและวัสดุเลี้ยง ลดความเครียด หอยโตเร็ว

หลังจากที่ได้ลูกหอยมาแล้ว จะต้องอนุบาลลูกหอยระยะลงเกาะ โดยใช้แผ่นพลาสติกใสพับให้ยับแล้ววางลงในถังเลี้ยงเป็นวัสดุล่อลูกหอย แต่พบว่าลูกหอยมีปริมาณรอดตายต่ำมาก เนื่องจากเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ปริมาณอาหารบนวัสดุล่อจะลดลง เนื่องจากภาชนะอนุบาลเป็นแบบทึบแสง ทำให้แสงส่องไม่ทั่วถึง และทำให้สังเกตจำนวนลูกหอย ปริมาณอาหาร และความสะอาดของถังอนุบาลได้ไม่ดี เมื่อสภาพแวดล้อมในถังอนุบาลไม่ดีพอ ลูกหอยก็จะเติบโตช้าและตายในที่สุด

“ภาชนะอนุบาลแบบเดิมเป็นแบบทึบแสง ลูกหอยรอดตายน้อยมาก เราจึงต้องคิดหาภาชนะแบบใหม่ที่ไม่ทึบแสง ซึ่งก็คือถุงพลาสติกใส” นายธเนศกล่าว ทั้งนี้เขาได้ทดลองอนุบาลลูกหอยในถุงพลาสติกใสโดยการเพาะเลี้ยงไดอะตอมรอบๆถุงและวัสดุล่อก่อนเป็นเวลา 5 วัน จึงนำลูกหอยลงเกาะ ถุงใสนี้ทำให้แสงสามารถส่องได้ทั่วถึงรอบด้าน ไดอะตอมสามารถสังเคราะห์แสงและเติบโตเป็นอาหารของลูกหอยได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อลูกหอยเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ขนาดประมาณ 0.1 ซม. จะต้องย้ายลูกหอยลงไปอนุบาลในถังจนมีขนาด 1.5 ซม. และต้องมีวัตถุหลบซ่อนให้ลูกหอยด้วย ซึ่งวัสดุหลบซ่อนที่ออกแบบใหม่ ลักษณะเป็นภาชนะทรงกรวยสูงเจาะรูแล้ววางคว่ำลงบนพื้นถังอนุบาล พบว่าลูกหอยเจริญเติบโตได้ดีกว่าและเครียดน้อยลง เนื่องจากภาชนะหลบซ่อนทรงสูงนี้ มีพื้นที่มากกว่า อากาศและน้ำถ่ายเทสะดวก ซึ่งเมื่อเทียบกับวัตถุหลบซ่อนแบบเดิมที่เป็นแผ่นพีวีซีทำมุม 120 องศา วางคว่ำกับพื้นคล้ายหลังคาบ้าน ลูกหอยจะเกาะใต้แผ่นหลบซ่อนกันอย่างแออัด ทั้งยังอยู่สูงจากพื้นน้อยกว่า ทำให้ลูกหอยเครียด โตช้า และสัมผัสกับสิ่งสกปรกบริเวณก้นบ่ออนุบาลมากกว่าอีกด้วย

หลังจากที่อนุบาลลูกหอยเป๋าฮื้อจนเติบโตมีขนาด 1.5 ซม. ต้องเลี้ยงต่อไปจนได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ประมาณ 6-8 ซม. ซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี นายธเนศจึงปรับปรุงวิธีการเลี้ยงแบบเดิมที่เลี้ยงหอยบนพื้นบ่อคอนกรีตโดยตรง เปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงในกระชังที่อยู่ในบ่อคอนกรีตอีกทีหนึ่ง วิธีนี้หอยไม่ต้องสัมผัสกับพื้นบ่อและสิ่งสกปรกบริเวณนั้น ทำให้หอยอยู่กันอย่างสบายและง่ายต่อการรักษาความสะอาดของบ่อเลี้ยง ซึ่งลูกหอยเป๋าฮื้อที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในโครงการวิจัยนี้ได้จำหน่ายให้แก่เกษตรกรเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป

แปรรูปเพิ่มมูลค่า อิ่มอร่อยคุ้มราคา

นอกจากงานวิจัยดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยพัฒนาวิธีการและเทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหอยเป๋าฮื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าในรูปของอาหารพร้อมบริโภคหลากชนิด

ทีมวิจัยได้ทดลองแปรรูปหอยเป๋าฮื้อเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีอายุการเก็บรักษาได้นานและคงคุณภาพ ทั้งชนิดบรรจุกล่องแช่แข็งและชนิดบรรจุในถุงรีทอร์ทเพาช์ (Retort Pouch) ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยนำเอาเนื้อส่วนเท้าของหอยเป๋าฮื้อมาเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งขณะนี้คิดค้นและผลิตออกมาได้ 12 รูปแบบแล้ว เช่น ข้าวอบเป๋าฮื้อ โจ๊กเป๋าฮื้อ หอยเป๋าฮื้อน้ำแดง หอยเป๋าฮื้อตุ๋นยาจีน เป็นต้น ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 80-100 บาทต่อถุงหรือต่อกล่อง

น.ส.วราทิพย์ สมบุญญฤทธิ์ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยและพัฒนาภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ผู้รับผิดชอบงานวิจัยในส่วนนี้ เปิดเผยว่า ทางทีมวิจัยและโครงการไม่ได้ประสงค์จะทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหอยเป๋าฮื้อเหล่านี้ออกจำหน่ายในท้องตลาด แต่วิจัยเพื่อจะถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูปหอยเป๋าฮื้อให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อตลอดจนประชาชนผู้สนใจนำไปประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ น.ส.วราทิพย์ โทร. 0-2940-6130-45, 0-2561-1400 ต่อ 4218




กำลังโหลดความคิดเห็น