xs
xsm
sm
md
lg

"สหาย รักเหย้า" วิศวกรผู้บุกเบิกแม่เมาะตั้งใจพัฒนาเหมืองปลอดมลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสหาย รักเหย้า
เปิดใจ "สหาย รักเหย้า" วิศวกรผู้บุกเบิกเหมือง "แม่เมาะ" หลังรับตำแหน่ง "วิศวกรดีเด่น" ปี 2550 เผยอยากพัฒนาให้การทำเหมืองแร่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แจงทำเหมืองจำเป็นสำหรับไทย-ช่วยเศรษฐกิจได้ แม้มีแหล่งแร่ไม่ใหญ่มากนัก

นายสหาย รักเหย้า อดีตรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเกษียณอายุราชการเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งได้รับการคัดเลือกจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ให้รับตำแหน่ง "วิศวกรดีเด่น" ประจำปี 2550 ในสาขาเหมืองแร่ ปิโตรเลียมและโลหการ เขากล่าวว่ารู้สึกปลื้มใจกับตำแหน่งที่ได้รับ โดยหลังจากได้รับตำแหน่งนี้จะได้หาทางพัฒนาการขุดเหมืองแร่ไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และคิดว่าการทำเหมืองแร่สำหรับไทยยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจได้ แม้ว่าเราจะมีแหล่งแร่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก

"สำหรับเหมืองแร่ของเรายังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ ถ้าสามารถเปิดเหมืองแร่ได้ก็จะช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจได้ ตอนนี้เราก็มีเหมืองแร่แต่ไม่ใหญ่มาก มีแหล่งแร่เหล็ก ดีบุก และตอนนี้ก็มีเหมืองทองคำที่ จ.พิจิตร ซึ่งเราให้เอกชนไปเปิด" นายสหายกล่าว

ทั้งนี้อดีตข้าราชการ กฟผ.สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้บุกเบิกการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยเป็นวิศวกรเหมืองแร่ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบการทำเหมืองแร่ถ่านหินขนาดใหญ่ ด้วยระบบการระเบิด-ตัด-บด-สายพานลำเลียง-เครื่องโปรยดิน ทำให้ กฟผ.สามารถผลิตถ่านหินได้อย่างสม่ำเสมอและมีต้นทุนการผลิตต่ำ และยังได้สร้างสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณเหมืองแม่เมาะ รวมทั้งทำงานด้านการควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมืองแม่เมาะทางด้านฝุ่น น้ำเสียและกำมะถันจากถ่านหินที่ผลิตส่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ส่วนผลงานที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่ประทับใจนั้น นายสหายกล่าวว่าประทับใจที่ได้สร้างเหมืองแม่เมาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งได้ช่วยสร้างงานให้กับประชาชนและทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแรงจูงใจของการพัฒนาเหมืองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพราะต้องการช่วยบ้านเมืองใน จ.ลำปาง ซึ่งไม่มีจุดขายมากเหมือนกับ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังได้ทำสนามกอล์ฟและทุ่งบัวตองภายในบริเวณเหมืองด้วย

เหตุผลที่เลือกศึกษาทางด้านเหมืองแร่นั้นนายสหายเผยว่าเป็นเพราะความประทับใจและผูกพันกับเหมืองแร่มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเขาเป็นชาว จ.ภูเก็ต ซึ่งเดิมเป็นจังหวัดที่ทำเหมืองแร่เป็นหลักแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ส่วนชีวิตหลังเกษียณนั้นเขากล่าวว่าเพิ่งผ่านมาได้ไม่นานจึงยังไม่ได้ตั้งหลักว่าจะทำอะไร โดยปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นกรรมการในสภาวิศวกรซึ่งตรวจสอบเรื่องการขอใบอนุญาตของวิศวกร (กว.) อย่างเดียวเท่านั้น และไม่มีกิจกรรมพิเศษใดๆ นอกเหนือจากนี้

สำหรับผู้ได้รับตำแหน่งวิศวกรดีเด่นคนอื่นๆ ได้แก่ นายสุรฉัตร สัมพันธารักษ์ วิศวกรดีเด่นสาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการและเป็นวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ นายจุลละพงษ์ จุลละโพธิ วิศวกรดีเด่นสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการและเป็นวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ นายบุญยง โล่ห์วงศ์วัฒน วิศวกรดีเด่นสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการและเป็นวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ วิศวกรดีเด่นสาขาวิศวกรรมวิศวกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จำกัด และนายชำนาญ ห่อเกียรติ วิศวกรดีเด่นสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันถึงแก่กรรม

ทั้งนี้ ว.ส.ท.ได้คัดเลือกวิศวกรจากทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศเพื่อรับตำแหน่งดังกล่าวผ่านคณะกรรมการในแต่ละสาขาโดยมอบตำแหน่งมาเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปี 2550 นี้ ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับและมอบรางวัลเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ณ สโมสรกองทัพบก โดยมี ฯพณฯ พล.อ. กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในการมอบรางวัล
นายสหายรับรางวัลจาก ฯพณฯ พล.เอก กำธน สินธวานนท์
พิธีมอบรางวัล วิศวกรดีเด่น ประจำปี 2550 ณ สโมสรทหารบก
กำลังโหลดความคิดเห็น