นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สกว.พบสารคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงในกวาวเครือขาว มีฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน หลังทดสอบในหนูทดลองจนมั่นใจ เชื่อหากผลวิจัยสำเร็จสามารถขยายผลเป็นอุตสาหกรรมยา เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร คนไทยไม่ต้องซื้อยาราคาแพงและอันตรายจากต่างประเทศ แถมยังส่งออกได้ดุลต่างชาติ
“โรคกระดูกพรุน” (osteoporosis) จัดได้ว่าเป็นภัยเงียบร้ายแรงสำหรับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีแล้วราว 7 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยจะแสดงอาการเมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรง ทั้งอาการปวด โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกหัก ทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอาจพิการถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายนนทกรณ์ อุรโสภณ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัย “ ผลของกวาวเครือขาวต่อการสูญเสียมวลกระดูกในหนูขาวที่ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก” เผยว่า สาเหตุของโรคกระดูกพรุน นอกจากจะเกิดจากภาวะกระดูกมีแคลเซียมสะสมน้อยแล้ว ยังเป็นโรคที่พบมากในหญิงวัยหมดประจำเดือนด้วย
ทั้งนี้เพราะเกิดจากการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลให้เกิดการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก กระดูกจึงเปราะและแตกหักง่าย นอกจากนี้ภาวะโรคกระดูกพรุนยังสามารถเกิดในเพศชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศเช่นเดียวกับเพศหญิง แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดโรคน้อยกว่าก็ตาม
พบสารทดแทนยาต้านกระดูกพรุนในกวาวเครือขาว
อย่างไรก็ตาม นายนนทกรณ์ เผยว่า ขณะนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสมุนไพร “กวาวเครือขาว” มีสาร "ไฟโตเอสโตรเจน" (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติและการทำงานเหมือนกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยการวิจัยครั้งนี้เขามี รศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรานนท์ และ ผศ.ดร.ยูซุรุ ฮามาดะ (Yuzuru Hamada) เป็นที่ปรึกษาโครงการ
สำหรับ “กวาวเครือขาว” เป็นสมุนไพรที่จัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกับถั่วเหลือง พบมากในป่าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยคนพื้นเมืองนิยมนำส่วนหัวมารับประทานเป็นอายุวัฒนะ เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทำให้ผิวหนังที่เหี่ยวย่นกลับมาเต่งตึงมีน้ำมีนวล ช่วยเสริมหน้าอก ช่วยทำให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และเพิ่มเส้นผม เนื่องจากสารหลายตัวที่พบในกวาวเครือขาวมีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงจัดให้สารประกอบเหล่านี้อยู่ในกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน
นายนนทกรณ์ กล่าวว่า จากผลวิจัยนี้จึงมีความน่าสนใจว่าจะสามารถนำมาใช้ทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ได้ เพื่อช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูกเพื่อป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ที่สำคัญ กวาวเครือขาวยังเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่พบในประเทศไทย มีราคาถูก จึงเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ทดแทนยาป้องกันโรคกระดูกพรุนที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีราคาแพง เช่น alendronate, raloxifene หรือ residronate
สำหรับการวิจัย ในขั้นต้นทีมวิจัยได้เตรียมสมุนไพรกวาวเครือขาว โดยเก็บส่วนหัวมาฝานและนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 60-70 องศา แล้วนำมาป่นเป็นผง เก็บไว้ในที่มืดและไม่มีความชื้น จากนั้นนำหนูมาเลี้ยงไว้จนอายุ 7 เดือน เพื่อให้มวลกระดูกมีการเจริญเติบโตเต็มที่ และทำการแบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นหนูกลุ่มควบคุม เป็นหนูปกติที่ไม่ได้ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก
กลุ่มที่ 2-6 เป็นหนูที่ทำการตัดรังไข่ในกรณีของหนูเพศเมีย หรือตัดอัณฑะออกในกรณีของหนูเพศผู้ เพื่อให้หนูอยู่ในสภาวะที่มีการลดลงของฮอร์โมนเพศและเกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด โดยหนูกลุ่มที่ 2 ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ และกลุ่มที่ 3 ได้รับน้ำกลั่น
ส่วนกลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ได้รับกวาวเครือขาวในขนาด 10, 100 และ 1,000 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ทุกๆวัน นาน 3 เดือน จากนั้นทีมวิจัยจึงนำหนูทั้ง 6 กลุ่มมาสแกนกระดูกเพื่อวัดมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องตรวจวัดมวลกระดูก (peripheral Quantitative Computed Tomography: pQCT)
ผลทดลองย้ำมีสรรพคุณชัด หวังแทรกตำรับยาโลก
“ผลวิจัยพบว่าหนูในกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์สามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกได้ประมาณ 80% ส่วนหนูในกลุ่มที่ได้รับสมุนไพรกวาวเครือขาวในขนาด 10,100 และ 1,000 มิลลิกรัมสามารถป้องกันการการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกได้ประมาณ 20%, 85% และ 100% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับน้ำกลั่นเพียงอย่างเดียว”
“ส่วนหนูกลุ่มที่ 3 นี้กลับมีการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก บ่งชี้ได้ว่าสมุนไพรกวาวเครือขาวสามารถช่วยลดการสลายของมวลกระดูกได้เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน” นักวิจัยกล่าวและว่า
อย่างไรก็ดี นอกจากสรรพคุณข้างต้นแล้ว อีกความน่าสนใจของสมุนไพรกวาวเครือขาวที่พบยังได้แก่ความเข้มข้นของตัวยาที่ได้ โดยใช้สมุนไพรจำนวนน้อยแต่มีความเข้มข้นของตัวยาสูง โดยผงกวาวเครือขาว 100 กรัม มีสารไฟโตเอสโตรเจนสูงถึง 140 มิลลิกรัม
ผงกวาวเครือขาวขนาด 100 มิลลิกรัมทดสอบในหนูมีฤทธิ์ป้องกันการสลายกระดูกเทียบได้กับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ในขนาด 100 ไมโครกรัม ที่สำคัญคุณสมบัติของสารไฟโตเอสโตรเจนในกวาวเครือขาวยังมีฤทธิ์ในการช่วยลดคลอเลสเตอรอลในเลือด และลดภาวะกลุ่มอาการวัยทองในสตรีได้ด้วย
“ในการวิจัยระยะต่อไปจะเป็นการทดสอบผลของกวาวเครือขาวในลิง โดยผมเชื่อว่าหากผลงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จและสามารถพัฒนากวาวเครือขาวเป็นยาในเชิงอุตสาหกรรมได้แล้ว ก็จะทำให้เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เพราะโรคกระดูกพรุนพบได้ทั่วไปในประชากรโลก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่กลุ่มหนึ่งและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต"
"ทั้งยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้ายารักษาโรคกระดูกพรุนอื่นๆ จากต่างประเทศที่มีราคาแพง และยังเป็นการเสริมรายได้เชิงเกษตรกรรมด้วยการแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกแล้วนำหัวมาขายได้” นักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ปริมาณความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง และมีความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่เป็นโครงสร้างของกระดูก ซึ่งมีผลทำให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ กระดูกจึงเปราะและหักง่าย โดยบริเวณที่พบการหักของกระดูกบ่อย คือ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง
ปัจจุบัน แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนทำได้โดยการสะสมมวลกระดูกก่อนอายุ 30 ปี การออกกำลังกาย การได้รับอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีเพียงพอ และการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในผู้หญิงที่อยู่ช่วงวัยทอง เพื่อช่วยชะลอการสลายกระดูก
ทว่าการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับมีผลข้างเคียง คือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง ขณะเดียวกันในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว ยาตัวนี้จะมีผลให้มะเร็งมีการเพิ่มขยายขนาดอย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถใช้ยาตัวนี้รักษาได้