xs
xsm
sm
md
lg

อาร์เจนตินาโคลนนิงวัวผลิตน้ำนมที่มีอินซูลิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – การโคลนสิ่งมีชีวิตเคยสร้างปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วครั้งหนึ่ง มาคราวนี้ไม่ได้มีแค่โคลนนิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพิ่มเทคนิคพันธุวิศวกรรมเข้าไปด้วย ทำให้ได้ลูกวัวโคลนนิงที่จะผลิตน้ำนมโดยมีส่วนผสมของอินซูลินอยู่ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาเผยผลการโคลนนิงลูกวัวที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ให้สามารถผลิตน้ำนมที่มีฮอร์โมนอินซูลินของคนเป็นองค์ประกอบ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ถูกลงกว่าเดิม

ลูกวัวเพศเมียที่เกิดจาการโคลนนิงทั้ง 4 ตัวนี้เป็นวัวสายพันธุ์เจอร์ซี (Jersey) โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำยีนของมนุษย์ที่มีบทบาทในการสร้างฮอร์โมนอินซูลินใส่ให้แก่ตัวอ่อนของวัวโคลน ก่อนที่จะนำไปปลูกฝังในมดลูกของแม่วัว ซึ่งลูกวัวโคลนเหล่านี้จะเริ่มให้น้ำนมที่มีอินซูลินได้ก็เมื่อเติบโตเต็มที่

บริษัทผู้ผลิตยาและดำเนินงานทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ไบโอ ซีดัส (Bio Sidus) ผู้สนับสนุนงานวิจัยนี้เปิดเผยรายละเอียดว่า เริ่มต้นจากการคัดเลือกเซลล์ของตัวอ่อนที่ได้มาจากโรงฆ่าสัตว์ แยกเอานิวเคลียสออกจากเซลล์เพื่อทำการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเพิ่มยีนสร้างอินซูลินของคนเข้าไปด้วย แล้วนำนิวเคลียสของตัวอ่อนที่ผ่านการต่อเติมยีนนี้แล้วสอดใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ของแม่วัว และทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวเหมือนกับการผสมพันธุ์จริง จนได้เซลล์ตัวอ่อน 4 เซลล์ แล้วจึงนำไปฝังไว้ในมดลูกของแม่วัวที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในการตั้งท้องลูกวัวโคลนเหล่านี้

“รูปแบบของการดัดแปลงพันธุกรรมของวัวในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เราสามารถสร้างผลผลิตได้ในปริมาณมากโดยมีต้นทุนต่ำ ซึ่งจะทำให้อินซูลินที่ได้จากน้ำนมวัวมีราคาถูกลง 30%” ผู้บริหารของไบโอ ซีดัส กล่าว

น้ำนมแรกที่ได้จากวัวดัดแปลงพันธุกรรมจะถูกนำไปทำให้บริสุทธิ์ก่อน แล้วจึงสกัดแยกเอาอินซูลินออกมา ซึ่งใช้เทคนิคคล้ายการผลิตโปรตีนของคนจากแพะและวัว อย่างไรก็ดี อาร์เจนตินาเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และมีชื่อเสียงในการทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ รวมทั้งความสามารถในการทำโคลนนิงปศุสัตว์ด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้เหล่าลูกวัวโคลนทั้ง 4 ตัวว่า พาทาโกเนีย (Patagonia) 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งตั้งชื่อตามพื้นที่กว้างทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ใกล้กับเทือกเขาแอนดิส โดยลูกวัวทั้ง 4 ตัวนี้ออกมาลืมตาดูโลกโดยการผ่าท้องแม่วัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา และนักวิทยาศาสตร์ก็คาดหวังว่าอินซูลินที่ผลิตได้จากน้ำนมวัวที่เกิดจากการตัดแต่งยีนและโคลนนิ่งจะออกสู่ตลาดได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ เบาหวานชนิดที่พึ่งอินซูลิน เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมการนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปกติ ทำให้มีกลูโคสตกค้างอยู่ในเลือดจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อเซลล์ขาดกลูโคสก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดนี้กว่า 200 ล้านคน และวัวที่ให้น้ำนมอินซูลิน 25 ตัว จะเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย 1.5 ล้านคน

วิธีรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือการฉีดอินซูลินทดแทนเข้าไปในร่างกาย ซึ่งอินซูลินที่นำมาใช้ทางการแพทย์ในสมัยแรกๆ ส่วนใหญ่นำมาจากตับอ่อนของวัว ม้า หมู หรือ ปลา เพราะสัตว์เหล่านี้สร้างอินซูลินได้ใกล้เคียงกับของคนมากที่สุด แต่อินซูลินที่ใช้ในปัจจุบันทั้งหมดมาจากแบคทีเรียที่ผ่านการทำพันธุวิศวกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น