xs
xsm
sm
md
lg

“คอลลาเจน” 68 ล้านปีโยงใย “ทีเร็กซ์” เป็นญาติ “ไก่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเยนซี-นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัส “คอลลาเจน” โปรตีนเก่าแก่ 68 ล้านปีที่ไม่คาดคิดว่าจะเหลือรอดในกระดูกไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่โยงใย “ทีเร็กซ์” เป็นญาติ “ไก่” ชี้เป็นหลักฐานชัดแจ้งที่เปลี่ยนความคิดจากสมมติฐานสู่ทฤษฎี

การค้นพบเนื้อเยื่ออ่อนในกระดูกของ “ไทแรนนอซอรัส เร็กซ์” (Tyrannosaurus rex) หรือ “ทีเร็กซ์” (T-rex) ที่มีอายุกว่า 68 ล้านปี เมื่อปี 2546 ของ แมรี่ ฮิกบี ชไวเซอร์ (Mary Higby Schweitzer) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธคาโรไลนา (North Carolina State University) สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตัวเธอเองอย่างมากเพราะเป็นที่คาดกันว่าโปรตีนจะถูกเก็บรักษาไว้ได้เพียง 1 ล้านปีหรือมากกว่านั้นแต่ไม่ยาวนานเท่ากับอายุไดโนเสาร์

ตลอดที่มีการศึกษาโครงกระดูกของไดโนเสาร์ก็มีการสันนิษฐานว่าเซลล์หรือโมเลกุลไม่อาจคงสภาพได้ยาวนานเท่ากับกระดูก ขณะที่รหัสพันธุกรรมซึ่งกำหนดทิศทางพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก็คือ “ดีเอ็นเอ” แต่ดีเอ็นเอก็เป็นสิ่งที่เปราะบางและไม่สามารถหาได้ในกระดูกโบราณ อย่างไรก็ตามพวกเขาได้ค้นพบเนื้อเยื่อโปรตีนที่ตรวจพบได้ยากมากในกระดูกโคนขาของทีเร็กซ์ โดยโปรตีนก็คือองค์ประกอบที่ถูกถอดรหัสจากดีเอ็นเอและโปรตีนกับดีเอ็นเอมีความสัมพันธ์ในระดับที่ชไวเซอร์เปรียบเทียบว่าเป็น “ลูกพี่ลูกน้องกัน”

การค้นพบของชไวเซอร์ไม่อาจสรุปได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร จึงจำเป็นที่จอห์น เอ็ม อาซารา (John M Asara) นักชีวเคมีจากศูนย์การแพทย์เบธอิสราเอลดีคะนิส (Beth Israel Deaconess Medical Center) ในบอสตัน สหรัฐอเมริกาต้องนำโปรตีนจากกระดูกนั้นไปวิเคราะห์ต่อ โดยเขาได้ใช้เวลาปีครึ่งหาลำดับทางพันธุกรรมของกรดอะมิโนในโปรตีนคอล“คอลลาเจน” (Collagen) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก และเป็นเสมือนตัวแทนสำหรับการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ

ผลการวิเคราะห์ของอาซารานำมาซึ่งการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ทีเร็กซ์” กับบรรดาสัตว์ปีกทั้งหลาย โดยทีมวิจัยได้เปรียบเทียบคอลลาเจนโบราณนั้นกับสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันหลายชนิดและพบว่าตรงกับคอลลาเจนในกระดูกของไก่มากที่สุด และใกล้เคียงรองลงมากับสัตว์จำพวกกบและ “ตัวนิวท์” (newt) ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง การค้นพบนี้ทั้งชไวเซอร์และอาซาราได้ตีพิมพ์รายงานผ่านวารสาร “ไซน์” (Science)

“คนส่วนมากเชื่อว่าสัตว์ปีกวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์แต่ความคิดทั้งหมดนั้นอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างกระดูก การค้นพบครั้งนี้สร้างโอกาสให้คุณได้พูดว่า เดี๋ยวก่อน...สิ่งมีชีวิตพวกนี้สัมพันธ์กันจริงๆ เพราะลำดับพันธุกรรมของพวกมันสัมพันธ์กัน ถึงเราไม่มีลำดับพันธุกรรมมากพอที่จะพูดได้อย่างนั้นก็จริง แต่ลำดับพันธุกรรมที่เราได้มาก็สนับสนุนความคิดนั้น” อาซารากล่าว

หากแต่ในความคิดของ จอห์น ฮอร์เนอร์ (John Horner) จากมหาวิทยาลัยรัฐมอนทานา (Montana State University) และพิพิธภัณฑ์ร็อกกี้ส์ (Museum of the Rockies) ผู้ค้นพบกระดูกที่นำไปสู่การค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างทีเร็กซ์และเหล่าสัตว์ปีกนี้ กล่าวว่าสิ่งน่าตื่นเต้นจริงๆ คือการได้ค้นพบโปรตีนในกระดูกไดโนเสาร์ และเป็นการเปลี่ยนความคิดว่าสัตว์ปีกและไดโนเสาร์สัมพันธ์กันจากเพียงสมมติฐานมาเป็นทฤษฎี

ในทางวิทยาศาสตร์ “สมมติฐาน” คือความคิดเกี่ยวกับบางสิ่งว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ขณะที่ทฤษฎีได้รับการทดสอบและสนับสนุนจากหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ปีกและไดโนเสาร์นั้นอยู่บนพื้นฐานของโครงกระดูกที่คล้ายกัน และตอนนี้ก็มีหลักฐานที่จับต้องได้ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์กับสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันลงไปในระดับโมเลกุล

ฮอร์เนอร์ยังกล่าวอีกว่าการค้นพบครั้งนี้จะเปลี่ยนวิถีการทำงานของนักบรรพชีวินวิทยา (paleontologist) ในการเก็บรวบรวมตัวอย่าง เหล่านักบรรพชีวินวิทยาจะต้องค้นหาชิ้นส่วนที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งโดยมากจะถูกฝั่งอยู่ในตะกอนทรายหรือหินทราย และฤดูร้อนนี้ทางพิพิธภัณฑ์ของเขาได้จัดให้เจ้าหน้าที่กว่า 100 ชีวิตซึ่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันใน 9 สาขาออกค้นหาซากดึกดำบรรพ์ในรัฐมอนทานาและมองโกเลีย

กำลังโหลดความคิดเห็น