xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมชาติของกระเรียนญี่ปุ่น (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


โลกมีกระเรียนทั้งหมด 15 ชนิด เช่น กระเรียนไซบีเรีย (Grus leuogeranus) ที่มีหน้าแดง และส่งเสียงร้องโหยหวน และกระเรียนญี่ปุ่น (Grus japonensis) เป็นต้น กระเรียนส่วนใหญ่มีขนสีเทา และมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่มีสีขาว กระเรียนญี่ปุ่นที่โตเต็มที่จะสูงประมาณ 1.5 เมตร หากมันถูกเลี้ยงในสวนสัตว์ก็อาจมีอายุยืนถึง 80 ปี แต่ถ้าอยู่ในป่าซึ่งมันต้องหาอาหารเอง และมีศัตรูรอบข้าง กระเรียนจะมีอายุเพียง 30 - 50 ปีเท่านั้นเอง

กระเรียนชอบทำรังบนพื้นตามที่ชื้นที่มีต้นกกและต้นหญ้าขึ้นหนาแน่น เวลาทำรังมันใช้จะงอยปากคาบเศษไม้มาสานกันแล้วใช้เท้าเหยียบให้เป็นรัง ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 เมตร จากนั้นมันจะนำหญ้าแห้งมาบุรังให้นุ่ม การสร้างรังนี้ตามปกติใช้เวลานานประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อทำรังเสร็จตัวมันก็จะวางไข่สองฟอง ไข่กระเรียนมีขนาดใหญ่ราว 2 เท่าของไข่ไก่ และหนักกว่าไข่ไก่ราว 4 เท่า ไข่มีสีขาวและมีจุดสีน้ำตาลแต้มเต็ม ตัวเมียมักวางไข่ในตอนเช้าราวปลายเดือนมีนาคม - กลางพฤษภาคม ตามปกติไข่ใบที่สองจะตามออกมาหลังใบแรก 2 วัน

โดยทั่วไปทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ เช่น ขณะตัวหนึ่งนั่งฟักอีกตัวจะออกหาอาหาร แล้วเปลี่ยนกันฟักวันละ 2 ครั้ง เช่น เวลาตัวเมียเฝ้าไข่ในตอนกลางคืน ตัวผู้ก็บินไปนอนพักที่อื่น เวลาฟักไข่ในบางครั้งมันจะยืนขึ้น แล้วใช้จะงอยปากพลิกไข่ให้อุณหภูมิของไข่สม่ำเสมอ ไข่กระเรียนจะฟักเป็นตัวใน 30 - 35 วัน โดยลูกนกจะเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกภายนอกราวต้นเดือนพฤษภาคม แล้วพ่อ - แม่นกจะนำลูกไปใกล้ริมน้ำเพื่อหาอาหารให้กิน โดยไม่กลัวว่าลูกนกจะตกน้ำตาย ทั้งนี้เพราะลูกนกที่มีอายุเพียง 2 - 3 วัน ก็สามารถว่ายน้ำได้คล่องแคล่วแล้ว ตลอดเวลา 2 เดือน หลังจากออกจากไข่ ลูกนกจะซ่อนตัวนอนหลบใต้ปีกพ่อแม่นก และเมื่ออายุได้ 3 เดือน ลูกนกก็เริ่มบิน

ศัตรูของนกกระเรียน คือ กา นกอินทรี หมี สุนัขจิ้งจอก งู และ คน เพราะลูกนกมีศัตรูหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น มันจึงต้องอยู่ในความดูแลของพ่อ - แม่นกอย่างน้อย 10 เดือน จนกระทั่งครบถึง 1 ปี พ่อ – แม่นกจึงเริ่มทิ้งลูกของมันให้เผชิญโลกตามลำพังแล้ว เพราะมันทั้งสองต้องสร้างรังสำหรับลูกชุดใหม่ต่อ เมื่อถูกพ่อ - แม่นกทิ้ง ลูกนกจะจับกลุ่มกันขุดคุ้ยหาอาหาร เมื่อครบ 2 ปี มันจะผลัดขน ทำให้บินไม่ได้เป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน ลูกกระเรียนพร้อมจะสืบพันธุ์เมื่อโตเต็มที่ คือ อายุ 2 - 3 ปี

กระเรียนชอบกินพืช เช่น ต้นหญ้า กะหล่ำปลี แครอท ข้าวโพด และสัตว์ เช่น แมลง กบ คางคก แมลงปอ หอยทากและหนู โดยมันใช้จะงอยปากคาบเหยื่อโยนขึ้นในอากาศ แล้วใช้จะงอยตะครุบเพื่อกลืนลงคอ หลังกินอาหารแล้วมันจะกินน้ำ เวลานอนมันมักยืนขาเดียว และใช้ขาอีกขาซุกตามตัว เพื่อให้ขาอบอุ่น เมื่อขาข้างหนึ่งเมื่อย มันจะเปลี่ยนขาใหม่ยืนแทน ในเวลากลางคืนกระเรียนจะตื่นบ่อย เวลาได้ยินเสียงศัตรู ตามันจะส่ายและเมื่อเห็นศัตรูมันจะบินทิ้งรังที่อาศัยไปเป็นเดือน

กระเรียนมีเสียงร้องที่โหยหวน เพราะลำคอยาว มันใช้เสียงร้องเวลาหาคู่ ข่มขู่ศัตรู และประกาศความเป็นเจ้าของพื้นที่ เอกลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของกระเรียน คือ ความสามารถในการเต้นรำ เพราะสวยงามจนนักประวัติศาสตร์ เช่น Plutarch เคยเปรียบเทียบการเริงระบำของคนกรีกว่า มีท่าเต้นเหมือนนกกระเรียน และกระเรียนทุกตัวชอบเต้น ก็โดยมันจะกระโดด ร่อน และกระดกศีรษะขึ้นลงๆ มันชอบเต้นโดยไม่เลือกเวลา บางครั้งเต้นเดี่ยว แต่บางครั้งก็เต้นคู่ และเวลาคู่หนึ่งเต้น กระเรียนตัวอื่นๆ ที่เห็นก็จะเต้นตาม

เวลาบินทั้งกระเรียนตัวผู้ซึ่งหนักประมาณ 15 กิโลกรัม และกระเรียนตัวเมียที่หนักน้อยกว่าราว 3 - 4 กิโลกรัม จะเหยียดขาออกตรง เพราะตัวมันหนัก ดังนั้น มันจึงต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลพอสมควรจึงจะสามารถถลาขึ้นอากาศได้ และเวลาอพยพฝูงกระเรียนจะบินเป็นรูปตัว V
ในปี 2341 ได้มีหนังสือชื่อ How to Fold a Thousand Cranes ออกวางตลาด หนังสือเล่มนี้ แสดงวีธีพับนกกระเรียนถึง 49 วิธีจากกระดาษแผ่นเดียว และหนังสือเล่มนี้ได้ทำให้คนญี่ปุ่นชอบพับกระดาษเป็นนกกระเรียนมาก เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่า คนที่พับมากจะมีอายุยืน และคนที่รักนกกระเรียนก็จะอายุยืนด้วย ที่สวนสาธารณะสันติ Peace Park ในเมือง Heroshima ในญี่ปุ่นมีอนุสาวรีย์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังอธิษฐานขอสันติภาพจากพระผู้เป็นเจ้า ในมือเธอถือนกกระเรียนกระดาษที่เธอพับ ทั้งนี้เพราะขณะเธอนอนป่วยเป็นมะเร็งที่โรงพยาบาลเธอได้เริ่มพับนก โดยตั้งใจว่าจะพับให้ได้ 1,000 ตัว แต่เมื่อพับได้ 508 ตัว เธอก็สิ้นใจ

ในวารสาร Current Biology ฉบับวันที่ 12 เมษายน 2548 Thomas Kronien แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ที่ Baltimore County ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า เวลานกกระเรียนกระดกลำคอขึ้น-ลง มันจะทำให้หัวมันอยู่นิ่ง เพื่อให้มันเห็นอาหารชัด เพราะเวลาหัวของมันอยู่นิ่ง ภาพที่ปรากฏบนจอรับภาพในตาของมันจะคมชัด แต่ถ้าหัวมันส่ายไปมา ภาพจะเบลอ

ในงานวิจัยนี้ Kronien ได้ใช้กล้องวิดีโอถ่ายภาพนกกระเรียน แล้วนำภาพเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อศึกษาตำแหน่งของหัว ขา และจุดศูนย์กลางของลำตัวนกกระเรียนเวลาเดินหาเหยื่อ เขาได้พบว่า เวลาหาอาหาร หัวของนกจะอยู่ในตำแหน่งที่เสถียร 50% ของเวลาทั้งหมด และเวลาที่มันส่ายหัวก็เพื่อให้มันสามารถกะระยะทางที่เหยื่ออยู่ไกลจากตัวมันได้ นอกจากนี้การหยุดนิ่งของหัวยังช่วยไม่ให้เหยื่อรู้ตัวว่ามันกำลังย่างใกล้เข้ามา ขั้นต่อไปของการศึกษาเรื่องนี้ คือ Kronien จะใช้กล้องความไวสูงสังเกตดูแมลงเวลาหาเหยื่อครับ.
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท


กำลังโหลดความคิดเห็น