xs
xsm
sm
md
lg

เข้าสู่ความดิบชื้น “เขาพระแทว” ตามหา “ปาล์มหลังขาว” บนเกาะภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นอกจาก “ภูเก็ต” จะมีหาดทรายสีขาว-ทะเลสีครามเป็นแรงดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนเสน่ห์แห่งไข่มุกอันดามันแล้ว เกาะแห่งนี้ยังมี “ปาล์มหลังขาว” ที่เปรียบเหมือนมณีมีค่าที่ซ่อนตัวอยู่ในอยู่ป่าดิบชื้น “เขาพระแทว” เพราะเป็นพืชหายากที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที

ทีมงาน “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” มีโอกาสได้เยือน “เขาพระแทว” หรือสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นใน จ.ภูเก็ต พร้อมๆ กับเยาวชนกว่า 300 คนที่ไปเข้าค่าย “การออกแบบและสร้างกล้องดูดาว” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายสมพร จอนด้วง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นผู้นำทางและให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในป่าแห่งนี้

ก่อนเดินทางสำรวจด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโตนไทรของเขาพระแทวที่มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผืนป่าแห่งนี้คร่าวๆ ว่าเป็นอุทยานสัตว์ป่าที่ครอบคลุม 3 ตำบลใน อ.ถลาง คือ ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุนทร และ ต.ป่าคลอก มีพื้นที่ 13,925 ไร่หรือ 22.28 ตารางกิโลเมตร มีไม้ยางและไม้ตะเคียนเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนสัตว์ที่พบก็เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ชะนี ชะมด ลิงกัง กระรอก นกและผีเสื้อ เป็นต้น

หลังจากที่เคยมีประสบการณ์เดินป่าเต็งรังในภาคอีสานและมีโอกาสได้เดินสำรวจป่าดิบชื้นในภาคใต้ จึงทำให้เรารับรู้ได้ถึงความแตกต่างของป่าทั้ง 2 ประเภท ก้าวแรกที่ย่างเหยียบเข้าไปบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็สัมผัสได้ถึงความชื้นจากป่าที่ปะทะเข้ามา เสียดายที่เราไม่มีเครื่องมือวัดปริมาณความชื้น ไม่อย่างนั้นเราคงทราบถึงความแตกต่างของปริมาณความชื้นในชีวิตประจำวันกับในป่า และเราก็เดินเข้าไปในเส้นทางที่บางครั้งต้องเลาะแนวไหล่เขา บางครั้งเดินเลาะริมธารและบางครั้งก็ต้องปีนป่ายโดยมีรากไม้ใหญ่ค้ำยันเป็นขั้นบันได

ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเราได้เห็นสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด อาทิ ต้นฉกหรือที่ชาวใต้เรียกว่า “ต้นชก” มีผลคล้ายลูกชิตหรือลูกจากและกินได้ ส่วนเส้นใยนำไปทำเสื้อกันฝนได้ โดยในอดีตชาวเมืองใน จ.ภูเก็ตได้ใช้ทอเสื้อเพื่อใส่ทำงานในเหมืองแร่ ไลเคนก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตที่เห็นได้ในป่าแห่งนี้เช่นเดียวกับป่าอื่นๆ และหากแบ่งตามที่อยู่อาศัยจะแบ่งได้ 3 ประเภท คือไลเคนที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ ไลเคนที่อาศัยอยู่บนหิน และไลเคนที่ห้อยจากบนต้นไม้ใหญ่ที่เรียกว่า “ฝอยลม” หรือบางครั้งเรียกว่า “ฟองลม” เป็นต้น

ที่สุดเราก็ได้พบ “ต้นปาล์มหลังขาว” ซึ่งเป็นพืชหายากที่พบในภูเก็ตเป็นแห่งแรกขึ้นเป็นแนวรกทึบอยู่ริมลำธารที่ไหลไปเป็นน้ำตกโตนไทร และบางต้นก็มีผลให้เห็น ปาล์มชนิดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปาล์มเจ้าเมืองถลาง” มีลักษณะใบเป็นรูปใบพัดขนาดใหญ่ หลังใบเป็นสีขาวซึ่งเกิดจากสารเคลือบใบสีขาว มีลำต้นสูง 5-7 เมตร ซึ่งเขาพระแถวถือเป็นถิ่นกำเนิดแห่งแรกในโลกของปาล์มชนิดนี้ และต่อมาพบเพิ่มเติมอีกที่ เขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และ เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ปาล์มหลังขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Kerriodoxa elegans Dransfield โดย ดร.จอห์น แดรนฟิล์ด (Dr.John Dransfield) นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปาล์มได้เข้ามาเก็บตัวอย่างปาล์มหลังขาวและพบว่าเป็นปาล์มสกุลใหม่ของโลก จึงได้ตั้งชื่อสกุลว่า Kerriodoxa เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.เอ เอฟ จี เคอร์ (Dr. A.F.G. KERR) นักพฤกษศาสตร์ผู้ริเริ่มศึกษาพฤกษศาสตร์ในเมืองไทยและได้เก็บตัวอย่างแห้งของปาล์มไปเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์ KEW กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเพื่อรอการตรวจสอบชื่อ เนื่องจากเมื่อครั้งที่พบต้นปาล์มที่ริมลำธารนั้นยังไม่ปรากฏดอกจึงยังไม่สามารถจำแนกชื่อได้

หลังจากที่พบพืชซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์ของภูเก็ตแล้วเราก็เดินหน้าต่อไปจนจบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อศึกษาธรรมชาติในป่าดิบชื้นในเส้นทางน้ำตกโตนไทร ซึ่งมีเส้นทางวกกลับไปยังสำนักงานของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาพระแทวในลักษณะทางเส้นขนาน เรียกได้ว่ากว่าจะกลับไปยังจุดเริ่มต้นก็ทำให้หลายคนถึงกับ “เหงื่อโซก” เลยทีเดียว

...แม้จะผ่านเส้นทางที่ทุลักทุเลและหมดแรงไปกับการเดินทางพอสมควร แต่การได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติครั้งนี้ก็ช่วยเติมพลังที่อยู่ในภายในให้กับเราได้ไม่น้อย กล่าวกันว่าการได้สูดอากาศจากป่าเขานั้นเติมพลังให้กับเราได้ดียิ่งนัก...


วงเขียวๆ บนก้อนหินคือไลเคนชนิดหนึ่ง
เดินไปได้สักระยะก็เจอป่าไผ่



กำลังโหลดความคิดเห็น