xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยผู้ดีพัฒนาลิ้นหัวใจจากสเต็มเซลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การ์เดียน/บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยอังกฤษประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหัวใจมนุษย์จากเซลล์ต้นกำเนิด ปลุกความหวังในการปลูกถ่ายลิ้นหัวใจภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงการพัฒนาหัวใจทั้งดวงจากสเต็มเซลล์ภายในหนึ่งทศวรรษ

ทีมนักวิจัยที่นำโดยแมกดี ยาคูบ (Magdi Yacoub) ศาสตราจารย์ศัลยแพทย์หัวใจจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) ใช้เวลากว่า 10 ปีพร้อมด้วยนักฟิสิกส์ เภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา และผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์เพื่อสกัดเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (stemcell) จากไขกระดูก และนำไปเพาะเลี้ยงบนจานกว้าง 3 เซนติเมตรที่ทำจากคอลลาเจน จนได้ออกมาเป็นเซลล์ลิ้นหัวใจ

เอเดรียน เชสเตอร์ (Adrian Chester) หนึ่งในผู้นำการวิจัย แจงว่าเนื้อเยื่อหัวใจที่พัฒนาขึ้นมายังไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยทีมงานได้ใช้กลไกต่างๆ กระตุ้นให้การทำงานของเซลล์มีการเปลี่ยนแปลง และคาดหวังว่าจะสามารถนำไปปลูกถ่ายกับสัตว์ เช่น แกะ หรือหมูภายในสิ้นปีนี้ เพื่อดูว่าลิ้นหัวใจดังกล่าวทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะนำไปทดลองกับคน

ปัจจุบัน ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำหรับการเปลี่ยนถ่าย แม้อวัยวะบางส่วนสามารถสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่ได้ก็ตาม

ยาคูบเสริมว่า ลิ้นหัวใจจริงจะคาดการณ์และตอบสนองต่อการไหลเวียนของระบบเลือด รวมถึงเปลี่ยนรูปร่างและขนาด ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากลิ้นหัวใจปลอมที่ทำได้เพียงปิดและเปิดเท่านั้น และเขาหวังว่า ลิ้นหัวใจที่พัฒนาขึ้นมานี้จะสามารถทำงานซับซ้อนได้เช่นเดียวกับลิ้นหัวใจจริง

ในทางทฤษฎีนั้น หากลิ้นหัวใจเติบโตขึ้นมาจากเซลล์ของผู้ป่วย ก็จะไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการใช้ยาเพื่อยับยั้งปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกาย และยังมีแนวโน้มว่าลิ้นหัวใจนี้จะมีอายุใช้งานนานกว่าลิ้นหัวใจปลอมที่ต้องปลูกถ่ายใหม่หลังจากผ่านไปไม่กี่ปี

ปัจจุบัน นักวิจัยสามารถเพาะเลี้ยงเอ็น กระดูกอ่อน และกระเพาะปัสสาวะ แต่ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ ที่ซับซ้อนได้

กระนั้น เชสเตอร์กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ก่อให้เกิดความหวังว่า ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ต้องปลูกถ่ายหัวใจใหม่ รวมถึงความหวังในการเพาะเลี้ยงหัวใจใหม่ทั้งดวงจากสเต็มเซลล์ เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาค แม้ยังเป็นโครงการระยะยาวที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีก็ตาม เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนมาก มีเซลล์และเส้นเลือดที่แตกต่างไปจากอวัยวะอื่นๆ

ศาสตราจารย์จอห์น มาร์ติน (John Martin ) จากมูลนิธิหัวใจแห่งอังกฤษ (British Heart Foundation) สนับสนุนงานวิจัยนี้โดยมองว่า เป็นการเปิดความเป็นไปได้ในการพัฒนาหัวใจทั้งดวงภายในห้องวิจัยโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วย แต่ยอมรับว่า ผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายหัวใจคงต้องรอคอยผลสำเร็จของงานวิจัยนี้อีกหลายปี

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคหัวใจคร่าชีวิตผู้ป่วย 15 ล้านคนทั่วโลกในปี 2005 และจะมีประชากรทั่วโลกถึง 600,000 คนที่ต้องการปลูกถ่ายลิ้นหัวใจในปี 2010

สำหรับงานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้จะตีพิมพ์ในวารสารฟิโลโซฟิคัล ทรานแซกชันส์ (Philosophical Transactions) ของราชบัณฑิตยสภาอังกฤษ (Royal Society ) ฉบับพิเศษเดือนสิงหาคมนี้

แหล่งที่สามารถสกัดสเต็มเซลล์มาใช้งานได้ อาทิ สมอง ตับ หลอดเลือด ไขกระดูก กล้ามเนื้อ และที่แพทย์กำลังสนใจเป็นพิเศษคือเซลล์ตัวอ่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น