xs
xsm
sm
md
lg

“ไรน้ำนางฟ้า” เพาะพันธุ์เองก็ได้ง่ายจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าสำหรับผู้ชื่นชอบปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาหมอสีและปลากัดแล้ว น้อยรายนักที่จะไม่รู้จัก “ไรน้ำนางฟ้า” สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่มาแรงแซงหน้าสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารปลาอย่าง “อาร์ทีเมีย” แบบไม่เห็นฝุ่น เพราะถือเป็นของดีใกล้ตัว ลดการนำเข้า แถมยังมีขนาดใหญ่และมีปริมาณโปรตีนมากกว่าอาร์ทีเมียมาก โดยจากงานวิจัยล่าสุด ก็ทำให้เราทราบว่า การเพาะพันธุ์ไรน้ำนางฟ้าโดยไม่ต้องซื้อหาก็ไม่ใช่เรื่องยากและเป็นไปไม่ได้เลย !!!

ดร.นุกูล แสงพันธุ์ และนายราเมศ ชูสิงห์ หน่วยเพาะเลี้ยงอาหารมีชีวิต คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี 2 นักวิจัยในโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที) ผู้ทำวิจัยเรื่อง “ไรน้ำนางฟ้าที่ ต.ห้วยเขย่ง จ.กาญจนบุรี” เฉลยว่า การเพาะพันธุ์ไรน้ำนางฟ้าเพื่อใช้เป็นอาหารปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วยตัวเองเพื่อทดแทนการซื้อหานั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้เองแล้ว แถมยังมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากจนเกินไปด้วย

จุดประสงค์ของการวิจัยนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงปลาสวยงามในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถเพาะพันธุ์ไรน้ำนางฟ้าไว้ใช้ได้เองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงหรือต้องเดินทางมาซื้อไรน้ำนางฟ้าเพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไกลถึงศูนย์เพาะเลี้ยงที่มีอยู่น้อยแห่งทั่วประเทศ เช่น ที่ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่หน่วยเพาะเลี้ยงอาหารมีชีวิต คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

เนื่องจากอาจเรียกได้ว่า ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์ที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางบางส่วน ภาคตะวันตก โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี ที่ค้นพบไรน้ำนางฟ้าเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ถึง 3 ชนิด คือ ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร ไรน้ำนางฟ้าสยาม และไรน้ำนางฟ้าไทย

ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของไรน้ำนางฟ้าทั้ง 3 ชนิด พบว่า ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์น้ำจืดที่พบได้ง่ายในช่วงฤดูฝนตามแหล่งน้ำท่วมขังทั่วไป เช่น บ่อน้ำชั่วคราวที่เกิดจากน้ำฝน แอ่งน้ำในสวนป่า แอ่งน้ำตามทุ่งนา หรือแม้แต่คูน้ำข้างถนน รวมถึงบ่อลึกกักเก็บน้ำ ซึ่งในการขยายพันธุ์ ไรน้ำนางฟ้าจะวางไข่ในแอ่งน้ำนั้นๆ

สำหรับไข่ไรน้ำนางฟ้าจะมีเปลือกหนาแข็ง และมีวิธีการฟักที่น่าทึ่งคือ มันจะทยอยฟักออกมาเป็นตัวเมื่อเจอน้ำฝนแต่ละหน เป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกไรน้ำนางฟ้าในธรรมชาติ ซึ่งอาจแบ่งการฟักได้เป็น 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น โดยไข่ชุดเดียวกันยังอาจทิ้งช่วงฟักได้นานถึง 2 ปีแม้ว่าแอ่งน้ำนั้นจะแห้งขอดไปแล้วก็ตาม

วิธีเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าที่ค้นพบ เราจะทำโดยจำลองสภาพภูมิอากาศจริงที่มีฝนตกตามธรรมชาติ ตั้งแต่การเก็บดินที่มีไข่ไรน้ำนางฟ้าฝังอยู่จากแหล่งน้ำขังที่แห้งขอดมาเติมน้ำเพื่อฟักไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จึงจะได้ปริมาณที่มากเพียงพอที่จะเพาะพันธุ์ โดยครั้งแรกเติมน้ำและปล่อยไว้ 1 วัน จึงเทน้ำออกแล้วตากแดดไว้ 3 วัน และเติมน้ำใหม่เพื่อกระตุ้นการฟักครั้งที่ 2 และ 3 ตามลำดับ” ดร.นุกูล และนายราเมศ เล่าถึงขั้นตอนการฟักไข่ไรน้ำนางฟ้าที่ได้จากการวิจัย ซึ่งจะมีอัตราการฟัก 75% และเมื่อโตเต็มวัย มันจะขนาดยาวกว่า 3 ซม.หรือราว 2 -3 เท่าของอาร์ทีเมีย อีกทั้งยังมีสัดส่วนโปรตีนมากถึง 65%

ต่อมา หลังเติมน้ำแล้วให้ปล่อยทิ้งไว้ 5 วัน จะได้ไรน้ำนางฟ้าคอกแรกออกมา จากนั้นเทน้ำออกเพื่อแยกไรน้ำนางฟ้าออกมาเลี้ยงในน้ำที่สะอาด ส่วนไข่ที่เหลือนำไปตากแดดก่อนที่จะนำมาฟักครั้งที่ 2 และ 3 หรืออีกหลายครั้ง โดยมีปริมาณการฟักลดลงจากครั้งแรกเล็กน้อย ซึ่งจากดินที่เก็บมา 1 กก.จะฟักได้ไรน้ำนางฟ้าประมาณ 1 -10 ตัว” 2 นักวิจัยแจกแจงต่อถึงขั้นตอนการเพาะพันธุ์ไรน้ำนางฟ้าอย่างเปิดอก ไม่สงวนภูมิปัญญาหากจะมีผู้ใดนำไปใช้ต่อ พร้อมว่า

เพียงเท่านี้ เกษตรกรหรือชาวบ้านทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องหาซื้อไรน้ำนางฟ้าจากนอกพื้นที่แล้ว เนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ได้เอง โดยชาวบ้านยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อหารายได้เสริมเข้าครอบครัวได้อีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น