สุดสัปดาห์ปลายเดือนที่ผ่านมา ณ สถานีวิจัยพืชลำตะคอง อ.สีคิ้ว โคราช น้องๆ วัยหัวเลี้ยวหัวต่อกว่า 40 ชีวิตกำลังลุ้นรอโอกาสที่จะแผ่ "ปีกกว้าง" สู่การเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างใจจดใจจ่อ โดยเป็นหนึ่งในความปรารถนาดีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะปลูกฝังและบำรุงสร้าง "นักวิทย์รุ่นเยาว์" ขึ้นอย่างต่อเนื่องในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรีอ "เจเอสทีพี" ซึ่งได้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 9 แล้ว
สำหรับ “เจเอสทีพี” เป็นโครงการภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายเพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน เพื่อพัฒนาให้เยาวชนเหล่านั้นได้เพิ่มพูนศักยภาพทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและต่อเนื่องจนสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ได้เรียนต่อจนจบชั้นปริญญาเอก ที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการตลอด 8 รุ่นแล้ว 116 คน
ทั้งนี้ สิ่งที่เยาวชนได้รับจากโครงการผ่านการบอกเล่าของน้องๆ ที่ได้ฟังแล้วก็รู้สึกอบอุ่น โดยน้องเมย์ "กนกเนตร สุภาศรี" นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เจ้าของโครงการ "การแต่งสีผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงามจากเปลือกผลแก้วมังกร" บอกอย่างมีความสุขว่า สิ่งที่ได้รับจากโครงการมีมากมายหลายอย่างด้วยกัน สิ่งแรกคือความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ทั้งกระบวนการคิดและการทำงานอย่างนักวิทยาศาสตร์
"เช่น เรื่องของการหมั่นสังเกตสิ่งใกล้ตัวที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวันอย่างเรื่องเรียนหนังสือ การคิดอย่างมีเหตุมีผล และการทุ่มเทให้กับสิ่งที่ทำจนเกิดผลดีตอบแทนกลับมาทั้งแก่ตัวเองและประเทศชาติ" น้องเมย์เล่าโดย 1 ปีที่ได้เข้าร่วมโครงการได้มีสิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตมากมาย ทั้งความสุข-ความทุกข์ ทั้งดีใจบ้างและเสียใจบ้างคละเคล้ากันไป ซึ่งไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้ทุ่มเทความพยายามลงไปนั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ประสบการณ์ที่ได้รับก็เป็นสิ่งที่น้องเมย์ภาคภูมิใจ
ด้านน้องหมิง "อาจรีย์ มงคลสิทธิศิลป์" ว่าที่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ต้องการศึกษาการดูดกลืนแสงของสีย้อมเพื่อพัฒนาโซลาร์เซลล์ราคาถูก ในโครงงาน "การผสมสีย้อมเพื่อให้ dye- sensitized solar cell ดูดกลืนแสงในช่วงคลื่นกว้าง" บอกว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้ตัวเองตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตสู่การเป็นนักวิจัยได้ง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะลังเลกับอนาคตของตัวเองว่าจะเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับอาชีพนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จริงๆ ทว่าเมื่อได้เข้าร่วมโครงการแล้วก็ทำให้ได้โอกาสดังกล่าว คือได้ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ ซึ่งจะได้มาช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างเป็นกันเอง
"สิ่งที่ได้จากโครงการเป็นอะไรที่ดีมาก คือ นอกจากจะได้ทุนวิจัยแล้วยังมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงมาคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเขาเป็นทั้งครู พี่ พ่อ และต้นแบบนักวิทย์ที่ดีให้แก่เรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด และเมื่อเราทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตลอดปีที่ผ่านมาจนเสร็จแล้ว เขาก็ไม่ได้ทิ้งเราไปไหน แต่ยังคอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด"
"เช่นตอนนี้ที่ได้แนะนำให้ทำโครงการศึกษาการนำไฟฟ้าของเซลล์ประสาทต่อ เพราะรู้ว่าตัวหนูยังสับสนที่จะเลือกวิชาเรียนว่าจะเลือกเรียนวิชาไหนดี ระหว่างฟิสิกส์และชีววิทยา เขาก็พยายามให้เราได้ลองศึกษาแต่ละสาขาด้วยตัวเองดูก่อนตัดสินใจจริง" น้องหมิง เล่าอย่างมีความสุขเมื่อเอ่ยถึง ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงของตัวเอง
เช่นเดียวกับน้องเกมส์ "จิงเหยาะ แซ่ล้อ" สมาชิกใหม่ของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์ "ภาษาเสียงสุนัข" ผู้ต้องการไขปริศนารูปแบบและความหลากหลายของเสียงที่สุนัขสื่อสารระหว่างกัน เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราจะสื่อสารและเข้าใจ "เพื่อนสนิทต่างสายพันธุ์" ชนิดนี้ได้อย่างไร้พรมแดน ซึ่งน้องเกมส์ได้เผยความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับจากโครงการเช่นกัน โดยบอกเล่าความรู้สึกอย่างถ่อมตัวว่า นอกจากความรู้ที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่สนใจจนกระจ่างแล้ว การเข้าร่วมโครงการยังทำให้เขาได้เพื่อนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งต่อไปก็จะเป็นกลุ่มเพื่อนที่จะคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลาอีกด้วย
อีกทั้ง จากการคลุกคลีกับเพื่อนๆ ในโครงการก็ทำให้เขาได้เห็นการทำงานของแต่ละคน ซึ่งน่าทึ่งและเป็นการคิดนอกกรอบมากๆ แถมยังสามารถปรับใช้ได้กับตัวเองได้ด้วย เช่น เมื่อเขาได้เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ แล้ว ก็ทำให้เห็นว่าตัวเองทำงานได้ไม่เรียบร้อย เมื่อทราบแล้วก็จะนำไปปรับปรุงตัวเองต่อไป ขณะเดียวกันน้องเกมส์ก็บอกด้วยว่าโครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ตัวเองได้รับ เพราะสำหรับตัวเขาที่มาจากท้องถิ่นห่างไกลอย่าง จ.เชียงราย แล้ว การได้เข้าร่วมโครงการไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในบ้านเกิดตัวเองนั้น แม้แต่ชื่อของโครงการเจเอสทีพีก็ยังไม่มีใครรู้จัก
"อาจารย์ที่โรงเรียนตอนเรียนชั้น ม.ปลาย คือ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ได้แนะนำให้รู้จักโครงการ จึงทำให้ได้มาสมัครเป็นครั้งแรก จากก่อนหน้านี้ที่ไม่รู้จักชื่อโครงการด้วยซ้ำ เพราะห่างไกลมาก ข้อมูลเข้าไม่ถึง พอเข้ามาที่ส่วนกลาง ใครๆ ก็รู้จักโครงการเจเอสทีพี แต่ที่โรงเรียนเรากลับไม่มีใครรู้จักเลย ซึ่งก็อยากให้โอกาสที่ผมได้รับได้เผื่อแผ่ไปสู่เพื่อนคนอื่นๆ ด้วย" น้องเกมส์ เล่าเปิดอก
สอดคล้องกับความตั้งใจของ ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ นักวิจัยอาวุโสของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หนึ่งในผู้บุกเบิกโครงการเจเอสทีพียุคแรก และ ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รอง ผอ.ทีเอ็มซี ผู้ดูแลโครงการคนปัจจุบัน ที่เล่าตรงกันว่า การคัดเลือกเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะพยายามเปิดกว้างให้แก่เยาวชนผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมากที่สุด
ทั้งนี้ ทางโครงการจะพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการโดยต่อสายตรงกับครูวิทยาศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นที่จะสามารถเสนอรายชื่อเยาวชนผู้มีความสามารถมาสมัครเข้ารับการส่งเสริมได้ ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกเยาวชนที่จะได้รับการสนับสนุนจะเน้นที่ความสามารถของตัวเยาวชนเป็นหลัก ตลอดจนความสนใจจริง หลักการคิด ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอด ความกล้าคิดกล้าทำ รวมถึงความสามารถในการสื่อสารและเข้ากับคนอื่นได้มาเป็นเกณฑ์หลักของการตัดสิน โดยจะไม่เน้นที่ความรู้จากการท่องจำซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ แต่จะดูที่ความฉลาดที่แต่ละคนมีอยู่
ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการตัดสินด้วยการให้คะแนน การสอบแข่งขัน และแฟ้มผลงานส่วนบุคคลที่สมัยนี้จะนิยมกันมาก เพราะความสามารถที่แฝงอยู่ เยาวชนจะแสดงออกมาได้ต้องใช้เวลา ไม่สามารถดูได้จากการสอบแข่งขัน ซึ่งจากหลักการการพิจารณาอย่างนี้เองจะทำให้ได้เยาวชนที่สมควรให้การสนับสนุนมากที่สุด
"ในเด็ก 10 คน เราอาจจะได้เด็กที่สมควรส่งเสริมจริงๆ เพียง 1 คนที่เป็นเด็กอัจฉริยะ เราก็ต้องช้อนครีมจากครีมและนำเขามาส่งเสริมให้ได้เรียนต่ออย่างที่เขาต้องการจนถึงระดับปริญญาเอก ซึ่งเราต้องการเด็กที่เป็นทั้งคนเก่งและเป็นคนดี เพราะการส่งเสริมคนให้เรียนจบวิทยาศาสตร์ในระดับสูงๆ ได้แต่ละคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมาก และเป็นภาษีมาจากประชาชน มาจากชาวนา ขณะที่เงินจำนวนเดียวกันเราสามารถเอาไปสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลได้ เราจึงต้องนำมาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด"
“อย่างไรก็ตาม เราก็ยอมรับว่าเรายังอาจตกหล่นในส่วนของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลบ้าง อย่าง จ.ตาก และแม่ฮ่องสอน แต่โดยรวมก็ถือว่าน่าพอใจกับโครงการที่ได้ทำมา เพราะเราได้มีโอกาสฟูมฟักและส่งเสริมเขาจริงๆ เด็กที่ผ่านโครงการไปแล้วก็ผูกพันกับโครงการและกลับมาช่วยเหลือน้องรุ่นหลังๆ เสมอ" ศ.ดร.ยอดหทัย ทิ้งท้ายถึงเจตจำนงและเป้าประสงค์ของโครงการที่เกิดจากความปรารถนาดีชิ้นนี้อย่างชัดเจน ก่อนวางคำถามปลายเปิดให้สังคมได้ติดตามถึงผลสำเร็จของโครงการด้วยตัวเองสืบไป