เนเจอร์/เอเอฟพี/เนชันเนลจีโอกราฟิก/บีบีซีนิวส์ – การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหาได้มีส่วนทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันได้ครองโลกแทนอย่างที่เชื่อกันมา เมื่อนักวิจัยได้สาวย้อนแฟมิลีทรีนับล้านๆ ปีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบว่าบรรพบุรุษของพวกเราก็เคยเดินเคียงคู่กับไดโนเสาร์มาแล้ว อีกทั้งยังมีวิวัฒนการอย่างรวดเร็วทั้งก่อนและหลังยักษ์แห่งดึกดำบรรพ์สูญพันธุ์หลายล้านปี
แนวคิดกระแสหลักเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก เห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า หลังจากที่ไดโนเสาร์ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน อันการเป็นจบสิ้นยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ยุคแห่งไดโนเสาร์ช่วงสุดท้าย ซึ่งเชื่อกันว่าเหตุเพราะ “ดาวเคราะห์น้อย” พุ่งชนโลกจนทำให้เกิดฝุ่นควันปกคลุมไปทั่วชั้นบรรยากาศ จากนั้นโลกก็ค่อยเย็นลง ทำลายพืชพรรณต่างๆ ที่ไดโนเสาร์ต้องพึ่งพา
ตามแนวคิดดังกล่าวชี้ว่า ขณะที่ไดโนเสาร์หมดไปจากโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งตอนนั้นมีอยู่เพียงน้อยนิด ก็เริ่มขยับขยายมายึดครองพื้นที่แทนเหล่ายักษ์แห่งยุคดึกดำบรรพ์ ที่สำคัญสัตว์ผู้มาใหม่ได้พัฒนาขยายสายพันธุ์อย่างรวดเร็วและหลากหลาย สืบต่อมาอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ทว่า รายงานทฤษฎีใหม่ที่เพิ่งเผยสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ใน “เนเจอร์” (Nature) วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ กลับระบุว่า ความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี 2 ช่วงเวลาที่เป็นนัยสำคัญ โดยช่วงแรกเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อนยุคครีเตเชียส และอีกช่วงเกิดหลังยุคครีเตเชียสอีกเป็นล้านปีเช่นกัน หาได้เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของอาณาจักรไดโนเสาร์ไม่
โอลาฟ ไบนินดา-เอมอนด์ (Olaf Bininda-Emonds) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค ในเยอรมนี (Technical University of Munich, Germany) และเพื่อนร่วมทีมจากอีกหลายชาติ ได้เขียนรายงานผลการศึกษาว่า “หลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป” โดยพวกเขาได้รวบรวมลำดับวงศ์หรือแฟมิลีทรี (family tree) จากพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4,554 สายพันธุ์ ซึ่งครอบคลุมเกือบทั้งหมดเท่าที่มีปรากฏ
พวกเขาใช้นาฬิกาโมเลกุล (molecular clock) โดยใช้การวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอและซากฟอสซิลที่มีอยู่ เพื่อดูการกลายพันธุ์สะสมของยีนที่เกิดจากวิวัฒนาการ ใช้บอกเวลาย้อนหลังกลับไปหาบรรพบุรุษ ซึ่งย้อนไปได้กว่า 160 ล้านปีก่อน
จากข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ ทำให้เห็นว่า หนูตัวแรกและสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายสายพันธุ์ต่างมีชีวิตอยู่พร้อมๆ กับไดโนเสาร์
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งไพรเมท หนู ค้างคาวต่างมีการเปลี่ยนแปลงขยายความหลากหลายครั้งแรกเมื่อ 93 ล้านปีก่อน จากนั้นหลายสายพันธุ์ก็สูญไปพร้อมกับไดโนเสาร์ อาทิ “เมโซไนคิดส์” (mesonychids) สัตว์จำพวกเท้ากีบที่กินนื้อเป็นอาหาร หรือบางส่วนก็ยังอยู่แต่มีสายพันธุ์เหลือน้อยเต็มทีอย่างตัวสโลธ (sloths)
ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่รอดมาได้จากยุคครีเตเชียส อย่าง “ไพรเมท” บรรพบุรุษของพวกเรายังไม่พบการแยกแตกสายพันธุ์หลังยุคครีเตเชียสจนกระทั่ง 50 ล้านปีก่อน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ 2 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 35 ล้านปีก่อน นับว่ายาวนาน หลังจากช่วงไดโนเสาร์ และการผุดความหลากหลายในช่วงนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลผลิตของสิ่งมีชีวิตในช่วงนี้กลายเป็นเชื้อสายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ไมเคิล เบนตอน (Michael Benton) ผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ มหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร (University of Bristol, UK) แสดงความเห็นว่า ยังไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เกิดการวิวัฒนาการ ตั้งแต่ 85 ล้านปีก่อน แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากถึงความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกของแผ่นทวีป, ต้นกำเนิดของต้นไม้และดอกไม้ รวมถึงอุณหภูมิโลกที่ลดลง
ทั้งนี้ ในรายงานยังสันนิษฐานถึงเหตุที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในรอบที่ 2 ว่าอาจจะเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น เป็นช่วงของมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ่อยครั้ง โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่าครั้งที่มหายุคนี้มีอุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดอย่างรวดเร็ว ที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ สูญพันธุ์ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนจุดที่ 2 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
"ปัญหาใหญ่คืออะไรเป็นเหตุให้บรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลากหลาย” คำถามที่รอสส แมคฟี (Ross MacPhee) ภัณฑารักษ์ด้านสัตวที่มีกระดูกสันหลัง แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์ธรรมชาติสหรัฐฯ (American Museum of Natural History) ตั้งทิ้งไว้ในรายงานให้ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นหากันต่อ
อย่างไรก็ดี ดร.รอบ แอสเชอร์ (Rob Asher) ผู้เชี่ยวชาญด้านลำดับชั้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์รู้กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบันปรากฏขึ้นหลังเส้นแบ่งเขตเค-ที (K-T boundary)
(เส้นแบ่งเขตเค-ที แบ่งยุคทางธรณีวิทยาระหว่างยุคครีเตเชียส กับสมัยพาลีโอซีน (Paleocene) ในยุคเทอร์เทียรี (Tertiary) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระบุว่าเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน)
"สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายลำดับ รวมถึงแมว ค้างคาว วาฬ และมนุษย์ปรากฏในสมัยอีโอซีน (Eocene epoch : ตอนต้นของมหายุคซีโนโซอิค) และในทางกลับกันไม่ใช่ว่าไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์หมดสิ้นในยุคครีเตเชียส ยังมีระยะเวลาอีกหลายล้านปีกว่าไดโนเสาร์พวกที่บินไม่ได้จะสูญพันธุ์ ฉะนั้น ตำราเก่าๆ ที่กล่าวถึงเขตเค-ทีว่าเป็นจุดล่มสลายของไดโนเสาร์และเริ่มต้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น เป็นแนวคิดที่ผิวเผิน” ดร.แอสเอสเชอร์กล่าว
ทั้งนี้ แนวคิดทีได้จากฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากยุคครีเตเชียส ที่ระบุว่าเป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบันก็ยังคงกลายเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันไม่จบสิ้น
++++++++++++++++
คลิกเพื่อดาวน์โหลด ลำดับวงศ์หรือแฟมิลีทรี (family tree) จากพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4,554 สายพันธุ์ ที่ทีมวิจัยได้รวบรวมมาศึกษา ในรูปแบบไฟล์ pdf โดยเมื่อเปิดดูใช้วิธีซูมเพื่อดูรายละเอียดลำดับวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตามยุคต่างๆ : mammals family tree
หากเครื่องของท่านยังไม่ได้ลงโปรแกรม Adobe Acrobat Readerเพื่ออ่านไฟล์ประเภท pdf
คลิกที่นี่
