นักวิจัยเอ็มเทคจวกปลอกกระสุนปืนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ผลิตถังซีเอ็นจีได้ เหตุเก็บก๊าซธรรมชาติได้น้อยมากๆ ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าถังมาใช้เพียงอย่างเดียว ขณะที่การวิจัยเพื่อผลิตเองกลับล้มเหลว แม้ทำถังให้เบาได้ แต่คุณสมบัติอื่นๆ ด้อยลง พร้อมระบุตลาดซีเอ็นจีรถใหญ่ยังมีความต้องการอีกมาก
ดร.บรรพต ไม้งาม นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวระหว่างการประชุมประจำปี พ.ศ.2550 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "อนาคตของถังบรรจุก๊าซธรรมชาติจาก CNG ถึง LNG" ว่า การผลิตถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด หรือ ซีเอ็นจี ซึ่งก่อนราว 1 ปีก่อน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พยายามผลักดันให้มีการผลิตถังซีเอ็นจีโดยนำเข้าเหล็กกล้ามาดัดแปลงปิดหัวและท้ายแบบปลอกกระสุนปืนใหญ่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้จริง
เนื่องจากการผลิตถังขนาดปลอกกระสุนปืนใหญ่น้นมีขนาดเล็กเกินไป ไม่อาจบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดได้มากเพียงพอ และถือว่าน้อยเกินไปมาก คือเพียงประมาณ 2 ลิตร โดยหากจะผลิตถังที่ใหญ่ขึ้นก็ต้องซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่มาอีก ซึ่งถังที่มีขนาดเหมาะสมจะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 70 ลิตร เพื่อให้รถยนต์แล่นได้ระยะทางประมาณ 100 กม.ต่อการเติมก๊าซหนึ่งครั้ง ดังนั้นถังซีเอ็นจีที่มีใช้งานอยู่ในประเทศไทยเวลานี้จึงเป็นการนำเข้ามาจากประเทศอิตาลีเป็นส่วนใหญ่
ส่วน ผศ.ดร.พิพล บุญจันต๊ะ นักวิจัยเอ็มเทคอีกราย กล่าวถึงความก้าวหน้าของการผลิตถังซีเอ็นจีในประเทศไทยว่า แม้จะมีการพัฒนากันอยู่ตลอดเวลา ทว่ากลับได้ผลที่ไม่น่าพอใจนัก โดยทำได้เพียงให้ถังซีเอ็นจีมีน้ำหนักเบาลงได้ แต่กลับมีราคาแพงขึ้น ทนต่อความร้อน การกระทบกระเทือน และกรดด่างได้น้อยลง
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ที่ใช้ถังซีเอ็นจีอยู่ประมาณ 30,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก 25,000 คัน ซึ่งมองว่าอิ่มตัวแล้ว และมีส่วนที่เหลือรถบรรทุกขนาดใหญ่อีกราว 3,000 คัน ที่น่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวได้อีกมาก