xs
xsm
sm
md
lg

“ชุดทดสอบพาหะธาลัสซีเมีย” ฝีมือคนไทย ความสำเร็จครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไบโอเทคเผยความสำเร็จนักวิจัยไทยพัฒนาชุดตรวจพาหะโรคอัลฟ่าธาลัสซีเมียได้เป็นครั้งแรกของโลก ใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาที แม่นยำถึง 99% ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก คาดจะผลิตจำหน่ายได้ในอีก 3 เดือน ประมาณราคาชุดละ 100 บาท

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงถึงความสำเร็จ "ชุดทดสอบพาหะโรคอัลฟ่าธาลัสซีเมีย" ระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. หรือ NAC2007 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมทีมวิจัยที่สร้างชุดทดสอบดังกล่าว

รศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หัวหน้าคณะผู้วิจัย “ชุดทดสอบพาหะอัลฟ่าธาลัสซีเมีย” เปิดเผยว่า ทีมวิจัยใช้เวลากว่า 3 ปีในการสร้างชุดทดสอบผู้ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียชนิดอัลฟ่า โดยเดิมทีจะตรวจด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา เช่น วิธีพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction) ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะที่จะนำมาตรวจในประชากรจำนวนมาก แต่สำหรับชุดทดสอบนี้ใช้เวลาทดสอบเพียง 3 นาที ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก สะดวก ราคาถูก อีกทั้งยังมีความแม่นยำสูงถึง 99.07%

ผศ.ดร. ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา แขนงวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิดการแพทย์ มช. หนึ่งในคณผู้วิจัย ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจโดยใช้ชุดทดสอบพาหะอัลฟ่าธาลัสซีเมียนี้ว่า วิธีการตรวจ จะใช้เลือดเพียง 0.1 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำยาที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกออก แล้วจุ่มแผ่นชุดตรวจลงไป ตั้งทิ้งไว้อีก 2 นาที แล้วล้างแผ่นชุดตรวจ อ่านผลทดสอบด้วยตาเปล่า ถ้าปรากฏแถบสี เพียงแถบเดียว แสดงว่าปกติ (-) แต่หากพบว่ามี 2 แถบสี แสดงว่าเป็นพาหะ (+) เสร็จสิ้นการตรวจเพียง 3 นาที และผู้ที่ทำการทดสอบ ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ก็สามารถทำได้

ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ให้ทางศิริราชพยาบาล โดยมี ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาธาลัสซีเมียและโลหิตวิทยานำไปทดสอบประยุกต์ใช้

จากนั้นจึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบนี้แก่บริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตออกจำหน่ายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และราคาจำหน่ายน่าจะอยู่ที่ประมาณชุดละ 100 บาท อย่างไรก็ดี จะต้องทดสอบกับผู้ที่เป็นพาหะจำนวน 1,000 คนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมาทดสอบเพียง 100 คนเท่านั้น แต่ก็ได้ผลที่น่าพอใจมาก และยืนยันได้ว่ามีความแม่นยำสูง

ทางด้าน รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า การตรวจหาผู้ที่เป็นพาหะของโรคนั้นก็ไม่ง่ายนัก จึงจำเป็นต้องมีการคิดค้นและพัฒนาชุดตรวจที่ช่วยให้การตรวจไม่ยุ่งยากและไม่ต้องเสียค่าใช้น้อย สามารถนำมาใช้กับประชากรจำนวนมากได้

“ธาลัสซีเมีย” หรือโรคโลหิตจาง เป็นโรคทางพัธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างสายโกลบิน โดยสายโกลบิน 4 สาย คือ สายโกลบินชนิดอัลฟ่าและเบต้า อย่างละ 2 สาย จะประกอบกันเป็น 1 ฮีโมโกลบิน เมื่อสายโกลบินผิดปกติ ส่งผลให้การสร้างฮีโมโกลบินผิดปกติด้วย ทำให้เม็ดเลือดแดงตกตะกอนและเกิดภาวะโลหิตจาง

โรคธาลัสซีเมียที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ "อัลฟ่าธาลัสซีเมีย" และ "เบต้าธาลัสซีเมีย" สำหรับอัลฟ่าธาลัสซีเมียยังแบ่งได้เป็น อัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 และอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 2

แม้ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียเพียงร้อยละ 1 แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เมื่อพบว่ามีผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้สูงถึงร้อยละ 40 หากคู่สมรสที่เป็นพาหะหรือมียีนโรคนี้แฝงอยู่ จะส่งผลให้บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียถึง 50% และมีโอกาสเป็นพาหะถึง 25% โดยชนิดที่ 1 รุนแรงถึงขั้นทำให้ทารกที่เกิดมาเสียชีวิตทุกราย และมารดาอาจได้รับผลกระทบอีกด้วย
ผศ.ดร. ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา ขณะบรรยายวิธีการใช้ชุดทดสอบพาหะโรคอัลฟ่าธาลัสซีเมีย
กำลังโหลดความคิดเห็น