ทั้งอุดมไปด้วยวิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกาย แถมยังมีโอเมก้า 3 อันเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย มีประโยชน์ช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันเกล็ดเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม และยับยั้งการสร้างคลอเสเตอรอลชนิดไม่ดีอย่างได้ผล “งา” จึงถือได้ว่าเป็น “อาหารเป็นยา” ใกล้ๆ ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งเมื่อแปรรูปให้อยู่ในรูปของ ครีมงา เนยงา และน้ำมันงา เพื่อเอาใจผู้รักสุขภาพแล้วก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ผศ.ดร.อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าว่า ในการบดงาให้เป็นครีมหรือเนยงานั้น ตามครัวเรือนต่างๆ มักใช้เครื่องปั่นอาหารทำ แต่ก็มักมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก อีกทั้งความหนืดของเมล็ดงายังอาจทำให้มอเตอร์ของเครื่องปั่นเสียหายได้ง่าย ส่วนในภาคอุตสาหกรรมจะใช้เครื่องบดงาแบบโม่หินขัด ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเครื่องละกว่า 1.4 -1.7 ล้านบาท และยังกินไฟมาก และยังอาจเกิดการสึกหรอของหินขัดจนปนเปื้อนในครีมและเนยงาได้
ด้วยเหตุผลนี้ ผศ.ดร.อริยาภรณ์ จึงสนใจผลิตเครื่องบดงาฝีมือคนไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าขึ้นเป็นรายแรกของประเทศ โดยการสนับสนุนของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยจากการเก็บข้อมูลทำให้ทราบโจทย์ความต้องการเครื่องบดงาใน 3 ข้อ คือ 1.เครื่องบดงาต้องใช้ไฟบ้านได้ และไม่กินไฟมาก 2.การออกแบบควรออกแบบให้มีลักษณะคล้ายที่บดยาของจีนเพื่อทดแทนการใช้มอเตอร์ และ 3.เมื่อผลิตมาแล้วสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องให้การยอมรับได้ด้วยการใช้วัตถุดิบการผลิตเกรดอาหาร คือ สแตนเลสสตีล
ทั้งนี้ หลังได้โจทย์ความต้องการแล้ว ผศ.ดร.อริยาภรณ์ จึงเริ่มออกแบบและผลิตเครื่องบดงาเครื่องต้นแบบขึ้นในเวลาต่อมา โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานรายย่อยและภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด คือมีต้นทุนต่อเครื่องไม่แพง ประมาณ 1/10 ของการนำเข้า หรือเครื่องละ 150,000 บาท สามารถบดเมล็ดงาแห้ง 5 กก.ให้เป็นครีมหรือเนยงาได้ใน ½ ชั่วโมง ขณะเดียวกันยังประยุกต์เป็นเครื่องบดพืชชนิดอื่นๆ ได้ด้วย ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง พริก รวมถึงสมุนไพรอีกหลายชนิดอย่างไพลและขมิ้น
“ที่ผ่านมาก็มีเอกชนขอซื้อเครื่องบดงาไปใช้บ้างแล้ว เช่น รายหนึ่งที่เอาไปใช้กับกิจการบัวลอยน้ำขิงไส้งา เขาก็บอกว่าดี เพราะบดงาได้ละเอียดและรวดเร็ว ซึ่งเนยงาหรือครีมงาจะมีราคาดีกว่าการขายงาเป็นเมล็ดแห้ง คือ จากเมล็ดงาแห้ง กก.ละ 27-32 บาท เมื่อเป็นครีมหรือเนยงาและมีบรรจุภัณฑ์ดีๆ แล้วจะมีราคาถึง 300 บาท/ กก. หรือเพิ่มขึ้นราว 10 เท่า” นักวิจัยเผยและบอกอีกว่า
นอกจากนั้นแล้ว ผศ.ดร.อริยาภรณ์ เองยังได้ผลิตเครื่องสกัดน้ำมันงาขึ้นมาทดแทนการนำเข้าภายใต้การสนับสนุนของทีเอ็มซีอีกด้วย โดยพัฒนาขึ้นมาให้ทำงานแบบการบดเย็นด้วยระบบไฮโดรลิก ซึ่งจะไม่ทำให้สูญเสียไวตามินอีระหว่างการสกัด มีต้นทุนราคาเครื่องละ 200,000 บาท หรือประหยัดกว่าการนำเข้าราว 5 เท่า ปัจจุบันจึงมีเอกชนผู้ค้าน้ำมันงารายใหญ่มาซื้อเครื่องสกัดน้ำมันงาไปใช้งานบ้างแล้ว
ที่สำคัญคือกินไฟน้อย ใช้กับไฟบ้านได้ สามารถสกัดน้ำมันได้เฉลี่ยชั่วโมงละ ½ ลิตร โดยมีอัตราการให้น้ำมัน คือ เมล็ดงาแห้ง 4 – 4 ½ กก./ น้ำมันงา 1 ลิตร ซึ่งน้ำมันงาที่ได้จะมีราคาขายสูงถึงลิตรละ 800-1,000 บาท ขณะที่กากงาที่ผ่านการสกัดน้ำมันแล้วยังสามารถนำไปทำขนมปัง คุกกี้ แป้งปอเปียะ และเปลือกขนมปั้นขลิบได้อีกด้วย ขณะเดียวกันเครื่องสกัดน้ำมันดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้สกัดน้ำมันจากพืชอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งมะพร้าวขูดตากแห้ง และสบู่ดำ
สุดท้ายนี้ สำหรับผู้สนใจสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 2 ข้างต้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี ทีเอ็มซี 0-2564-7000 ต่อ 1617 หรือติดต่อ ผศ.ดร.อริยาภรณ์ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 045-353-551, 081-265 3700 และโทรสาร 045-288-373