หลายคนคงจะอยากจะมีกล้องดูดาวไปเป็นสมบัติส่วนตัว วิธีการให้ได้มาคงไม่มีอะไรง่ายไปกว่าค้นอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลแหล่งซื้อ-ขายที่ได้คุณภาพและคุ้มค่า แต่สำหรับเด็กๆ ใน “ค่ายกล้องดูดาว” แล้วการได้ลงมือประดิษฐ์ด้วยตัวเองแม้จะใช้เงินไม่ต่างกันหรือประสิทธิภาพกล้องผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่สิ่งที่พวกเขาได้กลับมามากกว่าคือ “ความรู้” ที่ร้านค้าไหนๆ ก็ขายให้พวกเขาไม่ได้
เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และ มัธยมศึกษาตอนต้น ในภูเก็ต กระบี่และพังงากว่า 300 คนได้มารวมตัวกัน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อเข้าค่ายวิศวกรรมศาสตร์เรื่อง “ออกแบบและสร้างกล้องดูดาว” โดยการดูแลในส่วนเนื้อหา วัสดุอุปกรณ์และวิทยากรจาก ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนักเรียนจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 6 คนเพื่อประกอบกล้องดูดาว เมื่อประกอบเสร็จแล้วจะได้รับกล้องทำมือนำกลับไปใช้งานที่โรงเรียนด้วย
ดร.ศิริศักดิ์ เตชะทวีกุล จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยากรผู้ให้ความรู้ในการประดิษฐ์กล้องดูดาวกล่าวว่า กล้องดูดาวที่นักเรียนในค่ายประดิษฐ์นั้นเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบดาราศาสตร์ (Astronomical Telescope) ซึ่งเป็นกล้องดูดาวแบบเบื้องต้น ที่ใช้เลนส์ 2 ชนิดมาประกอบกันในท่อพีวีซีคือ เลนส์ใกล้ตาและเลนส์ใกล้วัตถุ
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนประดิษฐ์กล้องชนิดนี้คือต้องรู้ว่าต้องการกล้องกำลังขยายเท่าไหร่ ความยาวโฟกัสเท่าไหร่ ขนาดหน้ากล้องเท่าไหร่ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ตามความต้องการนั้น และโดยหลักการประดิษฐ์ก็ไม่ซับซ้อนมาก โดยติดตั้งเลนส์ใกล้ตากับเลนส์ใกล้วัตถุให้ได้ระยะเท่ากับความยาวโฟกัสของเลนส์ทั้ง 2 รวมกัน แต่สิ่งที่ยากคือการติดตั้งตัวเลนส์ให้ได้ฉากและได้ระยะดังกล่าวพอดี
ตรงนี้ทาง ดร.ศิริศักดิ์กล่าวว่าเป็นเรื่องเทคนิคของแต่ละคน โดยตัวเลนส์ใกล้วัตถุนั้นจะติดตั้งก่อนและอยู่คงที่ ส่วนเลนส์ใกล้ตาจะถูกเลื่อนหาตำแหน่งที่พอเหมาะเพื่อหาความชัดของภาพ นอกจากนั้นภาพที่ได้ออกมานั้นจะเป็นภาพหัวกลับซึ่งมีเทคนิคอีกหลายอย่างที่แก้ไขในส่วนนี้ อาทิ ใส่ปริซึมระหว่างเลนส์ใกล้ตาและเลนส์ใกล้วัตถุเพื่อให้ได้ภาพปกติ หรืออาจจะใช้กระจกหรือเลนส์แทนก็ได้
ทั้งนี้ ดร.ศิริศักดิ์กล่าวว่าการประดิษฐ์กล้องดูดาวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “วิชาทำเลนส์” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบเลนส์ การประดิษฐ์ไปจนถึงการนำเลนส์มาประยุกต์ใช้ และคนสมัยก่อนรู้จักดี แต่การเรียนการสอนวิชาดังกล่าวได้หายไปจากเมืองไทยกว่า 30 ปีแล้ว โดยเขาเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของอาจารย์ที่จบการศึกษาด้านวิชาทำเลนส์จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) ประเทศอังกฤษ และสอนวิชาดังกล่าวในมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากอาจารย์ท่านนั้นได้เกษียณแล้วก็ไม่มีการเรียนการสอนวิชานี้อีกเลย
“เป้าหมายของการประดิษฐ์กล้องในค่ายนี้ไม่ใช่เพื่อให้ได้กล้องที่มีคุณภาพ แต่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เป็นเป้าหมายใหญ่ กระตุ้นให้เด็กรู้ว่าเอาทฤษฎีมาใช้ได้อย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร พอเรามองดูก็ได้ตามเป้าหมายของเรา คือเด็กจะเข้าใจว่าทฤษฎีอย่างนี้เอามาใช้อย่างนี้นะ เขาจะ “อ๋อ” ทันที ตรงนี้เป็นพื้นฐานให้เขาเข้าใจอุปกรณ์ทางแสงทุกอย่างได้ง่าย เช่นกล้องวิดีโอ กล้องดิจิทัล กล้องถ่ายรูป ก็มาจากพื้นฐานตรงนี้ทั้งนั้น ทำให้เขาเข้าใจภาพกว้างในพื้นฐานเทคโนโลยี เป็นบันไดขั้นแรก เมื่อเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเข้าใจได้รวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีสมัยเก่าทั้งนั้น” ดร.ศิริศักดิ์กล่าว
ทางด้าน ด.ช.รังสิมันต์ โรม นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร จ.ภูเก็ต กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการเข้าค่ายว่าการประดิษฐ์กล้องดูดาวนั้นต้องใช้ความรู้หลายอย่าง ซึ่งบางความรู้ก็ได้เข้าใจมากขึ้น เช่น การสะท้อนแสงของกล้องดูดาว และก่อนหน้าก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับกล้องดูดาวมาก่อน รู้แค่บางทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานของกล้องดูดาวเท่านั้น
ส่วนการประดิษฐ์กล้องสำหรับ ด.ช.รังสิมันต์แล้วไม่ใช่เรื่องยาก แต่จำเป็นต้องรักษาความสะอาดของเลนส์ ไม่ให้เลนส์สกปรก เพราะจะมีผลต่อทัศนวิสัยต่อการดูดาว ซึ่งจะผิดเพี้ยนไปหากเลนส์สกปรก อีกทั้งเลนส์ยังมีราคาเลนส์ที่สูงมาก โดยต้นทุนของการประดิษฐ์กล้องในค่ายนี้ประมาณ 4,000 บาท ส่วนหนึ่งมาจากเลนส์ที่ค่อนข้างแพง
เช่นเดียวกับ ด.ช.จิรวัฒน์ ชนะกุล นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี จ.ภูเก็ต ที่กล่าวว่าทำกล้องดูดาวได้ไม่ยาก โดยอาจารย์ได้สอนการดูแบบ และประกอบอุปกรณ์ที่อาจารย์หามาให้ โดยแบ่งหน้าที่กับเพื่อนๆ ในการประกอบ พ่นสีตกแต่ง ตากสีให้แห้ง และคอยเฝ้ากล้อง ซึ่งกล้องที่ประดิษฐ์ออกมานั้นพอจะมองเห็นดวงจันทร์ได้แต่ไม่ชัดนัก แต่ก็ภูมิใจกับกล้องที่ประดิษฐ์เอง
ขณะที่ ด.ช.เผด็จ ตะการกิจ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวิชิตสงคราม จ.ภูเก็ต กล่าวว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่ากล้องดูดาวนั้นให้ภาพหัวกลับ ซึ่งจะแก้ไขได้โดยใช้ปริซึมช่วย นอกจากนี้การเข้าค่ายยังทำให้มีโอกาสได้ดูดวงอาทิตย์ขึ้นตรงทิศตะวันออกพอดีในวันอิควินอกซ์ และได้เห็นภาพของท้องฟ้าเป็นสีส้มและดวงอาทิตย์ค่อยๆ ขึ้นจากท้องฟ้าเหมือนภาพช้า ซึ่งเป็นภาพที่สวยดี
อย่างไรดีตามกำหนดแล้วจะมีการประกวดภาพถ่ายดวงดาวจากกล้องดูดาวที่นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นด้วย แต่เนื่องจากมีนักเรียนไม่กี่คนที่มีกล้องดิจิทัล และภาพที่เห็นจากกล้องดูดาวก็ไม่ชัดนัก อีกทั้งกำลังขยายของภาพก็ไม่สูงมาก การประกวดดังกล่าวจึงได้ยกเลิกไป
ทางด้าน ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่สาธารณชน (PUSTI) โดยมองว่าต้องให้ประชาชนไทยมองในแง่วิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้หมดกับ 65 ล้านคน จึงได้มองหาหน่วยงานที่มีความพร้อมและต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และเข้าไปช่วยเหลือในส่วนที่ช่วยได้ อาทิ จัดรูปแบบกิจกรรม เชิญวิทยากรที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ เป็นต้น
สำหรับค่ายประดิษฐ์กล้องดูดาวนี้ ดร.สวัสดิ์มองว่าเป็นพื้นฐานให้เด็กๆ รู้จักพื้นฐานของสิ่งเล็กๆ ที่นำไปสู่งานใหญ่ ซึ่งการไม่รู้จักแบ่งงานใหญ่ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แต่คิดที่จะทำงานใหญ่เลยนั้น ทำให้เด็กไม่พื้นฐาน และสุดท้ายเด็กเหล่านั้นก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักแต่ซื้อเทคโนโลยีจากคนอื่น พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พี่น้องตระกูลไรท์ ที่เริ่มจากการมีร้านจักรยานสู่การประดิษฐ์เครื่องบิน หรือบริษัทเครื่องบินโบอิงก็เริ่มมาจากอู่ต่อเรือเล็กๆ เป็นต้น
ในส่วนของ นายสุนันท์ หลิมจานนท์ รองนายกเทศมนตรีภูเก็ต กล่าวถึงการสนับสนุนให้มีการจัดค่ายครั้งนี้ขึ้นว่า ปกติทางเทศบาลภูเก็ตจะให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว โดยคาดหวังว่าแม้จะลงทุนจำนวนมากกับนักเรียนกว่า 300 คน แต่หากค่ายนี้จะจุดประกายให้ได้ “เอดิสัน” (Thomas Edison) น้อยๆ สักคนก็นับว่าคุ้มค่าแล้ว
“อย่างน้อยๆ กล้องดูดาวนี้จะต้องมี 6 คนที่จะเวียนไปดูว่ากล้องมีสนิมเขรอะหรือยัง คือเด็กกลุ่มเล็กๆ ที่เขาประดิษฐ์กล้องขึ้นมาเอง แต่ถ้าซื้อกล้องจากส่วนกลางก็จะมีแค่ครูดาราศาสตร์เท่านั้นที่จับกล้องได้” นายสุนันท์กล่าวทิ้งท้ายถึงความคาดหวังในสิ่งที่นักเรียนจะได้จากค่ายประดิษฐ์กล้องดูดาวในครั้งนี้