xs
xsm
sm
md
lg

น้ำใสด้วย “สัตว์หน้าดิน” ป้องกันได้ก่อนเน่าเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“น้ำเน่าเสีย” เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เกิดขึ้นมาทีไรก็มักหาตัวการไม่ได้ เพราะกว่าจะรู้สาเหตุ น้ำที่เน่าเสียก็ถูกพัดพาไปจนไม่เหลือหลักฐานแล้ว แต่ก็ยังมีอีกวิธีที่น่าสนใจคือ “การตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยใช้สัตว์หน้าดิน” ซึ่งดูเหมาะสมกว่า เพราะสัตว์หน้าดินจะอยู่คงที่ เคลื่อนที่ช้า กระจายตัวกว้าง ไม่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ และสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า วิธีนี้จึงเป็นที่นิยมในต่างประเทศ

ดร.บุญเสฐียร บุญสูง ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยในโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) เจ้าของผลงานวิจัย “การตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยใช้สัตว์หน้าดินขยายผลสู่ชุมชน” เล่าถึงงานวิจัยของเขาว่า ตามปกติแล้ว การตรวจวัดคุณภาพน้ำจะทำโดยการตรวจวัดหลายด้านด้วยกัน

วิธีที่ใช้กันอยู่ เช่น การตรวจวัดคุณภาพน้ำจากลักษณะทางกายภาพ คือ ดูความขุ่นความใสของน้ำและบริเวณรอบข้าง, การตรวจวัดคุณภาพน้ำจากลักษณะทางเคมี เช่น ค่าออกซิเจนในน้ำ (ดีโอ) ค่าความต้องการออกซิเจนในน้ำ (บีโอดี) รวมถึงปริมาณสารเคมีในน้ำ, ส่วนอีกวิธีเป็นการตรวจวัดคุณภาพน้ำจากลักษณะทางชีวภาพ ซึ่งที่มาของงานวิจัยคือ การสำรวจสิ่งมีชีวิตรอบๆ แหล่งน้ำ เช่น แบคทีเรียบางชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน หรือ “สัตว์หน้าดิน” ที่อาศัยอยู่บนหน้าดินใต้ท้องน้ำ

ดร.บุญเสฐียร เล่าว่า ในต่างประเทศจะนิยมตรวจน้ำด้วยวิธีนี้มาก โดยมีคู่มือการใช้สัตว์หน้าดินเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างเป็นมาตรฐาน เนื่องจากคุณสมบัติของสัตว์หน้าดินที่มีความหลากหลายมาก แต่ละชนิดจะมีแหล่งที่อยู่ในแหล่งน้ำที่มีความใสสะอาดและการปนเปื้อนต่างกัน
 
เราจึงสามารถสังเกตสัตว์หน้าดินที่อยู่อาศัยในแหล่งน้ำเพื่อประเมินคุณภาพของแหล่งน้ำได้โดยง่าย อีกทั้งคุณสมบัติของสัตว์หน้าดินที่อยู่ติดกับที่ เคลื่อนที่ช้าดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงทำให้ยืดหยุ่นในเรื่องเวลาการเก็บข้อมูลหากเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย

อย่างไรก็ดี นักวิจัยรายนี้ เผยว่า ในประเทศไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้มาใช้เลย และยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลสัตว์หน้าดินเพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเฝ้าระวัง และตรวจพิสูจน์สาเหตุของน้ำเน่าเสียครั้งใหญ่ๆ มักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น งานวิจัยของเขาจึงถือเป็นการบุกเบิกครั้งแรกๆ ของสังคมไทย ที่จะใช้วิธีนี้ตรวจคุณภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเลือกลำธารห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ตัวอย่าง

“การวิจัยพบว่าสัตว์หน้าดินแต่ละกลุ่มจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงน้ำกลุ่มแมลงชีปะขาว แมลงหนอนปลอกน้ำ แมลงเกาะหิน ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อการปนเปื้อน สังเกตจากการเปลี่ยนแปลงชนิดและขนาดประชากรของสัตว์หน้าดินที่เกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมของน้ำเปลี่ยนไป โดยในการวิจัยได้แบ่งพื้นที่เก็บข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.พื้นที่ป่า 2.พื้นที่การเกษตร และ 3.เขตชุมชน

ผมพบว่าการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรและเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสัตว์หน้าดินมากที่สุด ทำให้กลุ่มสัตว์ที่ไวต่อมลพิษ ได้แก่ ตัวอ่อนของแมลงน้ำมีความหลากชนิดลดลง สัตว์ที่มีความทนทานต่อมลพิษ เช่นหนอนแดงมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมแล้วจึงเห็นได้ว่าความหลากหลายของสัตว์หน้าดินทั้งหมดลดลง” นักวิจัยวัย 30 สรุปผลวิจัย

นอกจากนั้น การวิจัยนี้ยังพบอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ใกล้ลำธาร ไม่ว่าจะเป็นการถางป่า การพังทลายของดิน และการสะสมของตะกอนละเอียดปกคลุมพื้นท้องน้ำนั้น ยังเป็นการทำลายที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในลำธาร ส่งผลให้ความหลากหลายของสัตว์หน้าดินลดลงและสัตว์ที่ทนทานต่อมลพิษมีจำนวนมากขึ้น โดยส่งผลกันเป็นทอดๆ ในสายใยอาหาร
 
ขณะเดียวกันปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังเกิดการชะล้างลงสู่ลำธารเมื่อฝนตก เกิดการสะสมของสารเคมี ทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำ และความหลากหลายของสัตว์หน้าดินลดลงด้วย

ดร.บุญเสฐียร บอกว่า จากข้อเสนอดังกล่าว โครงการบีอาร์ทีได้นำไปจัดทำคู่มือการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างง่ายโดยใช้สัตว์หน้าดิน และนำไปขยายผลกับกลุ่มชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ครูและนักเรียนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับลำธารห้วยเขย่งอีก 6 โรงเรียนแล้ว เพื่อให้คนในชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน จึงลดภาระการทำงานของรัฐ โดยเป็นวิธีที่ง่าย ใช้ทักษะไม่มาก แถมข้อมูลที่ได้ยังใช้วางแผนดูแลรักษาสายน้ำร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ผมหวังว่าคู่มือและผลการวิจัยนี้จะได้รับความสนใจจากกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปใช้เฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพแหล่งน้ำ เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ใช้ตรวจสอบมลพิษในแหล่งน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปได้
 
"เช่น เมื่อน้ำเน่าเสียก็จะทราบสาเหตุได้ทันทีว่าน้ำเน่าเสียเพราะอะไร มาจากที่ไหน เพราะเรามีการเก็บข้อมูลไว้ตลอด จึงสามารถเอาผิดกับคนที่เป็นต้นเหตุของน้ำเสียได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ใช้วิธีนี้เอาผิดทางกฎหมายกับคนทำน้ำเสียได้เช่นกัน” นักวิจัยบีอาร์ที ทิ้งท้าย




นาฬิกาสัตว์หน้าดินของ รศ.ดร.นฤมล แสงประดับ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ ดร.บุญเสฐียร นำมาพัฒนาต่อยอด

กำลังโหลดความคิดเห็น