สมาพันธ์วิชาชีพออกแถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเข้าสภานิติบัญญัติ โต้ทำอะไรไม่ปรึกษาก่อนหวังปิดทางทักท้วง หวั่นเกิดอันตรายกับประชาชน และอาจสูญเปล่าเนื่องจากความซับซ้อน พร้อมยื่นหนังสือให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ด้าน วท.เผยแจ้งรายละเอียดแก้ไขแล้ว แจงร่าง กม.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 40 สภาผู้แทนฯ ให้ผ่านวาระแรกแล้ว แต่ยุบสภาเสียก่อน จึงต้องชงเรื่องอีกครั้ง
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ย.49 ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แก้ไข "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. .... " ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่มีความกังวลว่า ร่างฯ ดังกล่าวควบคุมซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ของแพทย์และวิศวกรที่มีการบังคับใช้อยู่ก่อนแล้ว และเมื่อ วท.ตัดคำว่า "แพทยศาสตร์" และ “วิศวกรรมศาสตร์” ออกจากเนื้อหาใน ร่างฯ แล้ว และที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา
"สมาพันธ์วิชาชีพ" เคือง วท. อ้างปรึกษาก่อนแก้แล้ว
ทั้งนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพประกอบด้วยสภาวิชาชีพทั้ง 9 องค์กรได้แก่ แพทยสภา สภาวิศวกร สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาสถาปนิก ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภากายภาพบำบัด และสภาเทคนิคการแพทย์ไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยได้จัดประชุมหารือและออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้าน ณ วิศวกรรมสถาน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.50 ที่ผ่านมา
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาพันธ์สภาวิชาชีพ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่ สนช.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ทีผ่านมา และ สนช.มีมติรับหลักการในวาระแรกนั้น ไม่เป็นความจริง อีกทั้งหลังจากที่สมาพันธ์ฯ ได้ตรวจสอบขั้นตอนการพิจารณาใน ครม. กลับพบว่ามีการกล่าวอ้างว่าได้ปรึกษากับทางสมาพันธ์ฯ แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง
"ทางสมาพันธ์ฯ เห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่โปร่งใส ถือเป็นการรวบรัด ทั้งที่มิได้ปรึกษาหารือจนได้ข้อยุติ ไม่ควรมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในแวดวงราชการ" นพ.สมศักดิ์เผย
นอกจากนี้ นายกสมาพันธ์ฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาศาสตร์หากใครสนใจก็ทำได้ ไม่ควรนำมาเป็นวิชาชีพ วิชาชีพควรจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ทางสมาพันธ์เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณาต่อไป
ระบุ "วิทยาศาสตร์" ไม่ใช่วิชาชีพ "ใบอนุญาต" ไม่จำเป็น
อีกทั้งทางด้าน นายกสภาเภสัชกรรม เห็นว่า ควรจะพิจารณาให้รอบครอบ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ถือเป็นวิชาชีพ จึงไม่ควรปิดกั้น หากบุคคลที่ทำได้ต้องมีใบอนุญาตแล้ว มิเช่นนั้น ต่อไปใครที่ทำการทดลองวิทยาศาสตร์โดยที่ไม่มีใบอนุญาต ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย
ส่วนเทคโนโลยีนับเป็นวิชาชีพที่มีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น เทคนิคการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ สภาวิชาชีพควรเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของสังคม มิใช่เพื่อผู้ประกอบอาชีพจึงอยากให้มีการทบทวนหลักการและกระบวนการเสียใหม่
พล.ท.ศ.พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสภา และที่ปรึกษาทนายความ ก็กล่าวไปในทางเดียวกันว่า วิทยาศาสตร์เป็นความรู้พื้นฐาน ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายวิชาชีพ เป็นวิชาการขั้นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่วิชาชีพที่จะนำมาใช้ควบคุมมิให้ผู้อื่นปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี เลขาฯ สัตวแพทยสภา เห็นว่าควรส่งเสริมวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ควรให้เป็นวิชาชีพ เพราะอาจมีผลกับการควบคุมการผลิตและการควบคุมโรคในส่วนที่เกี่ยวกับปศุสัตว์ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของนายสัตวแพทย์ และอาจเกิดผลกระทบกับประชาชนตามมาก็เป็นได้
แค่ตัดบางคำออกไม่พอ หวั่นออกกฎหมายควบคุมซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ นายกทันตแพทยสภา ยังกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเจตนาเพื่อส่งเสริม แต่เน้นการควบคุมด้วยการออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับวิชาชีพอื่นที่มีบังคับใช้อยู่แล้ว กลายเป็นว่ามี 2 มาตรฐานในเรื่องเดียว อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้ใช้บริการได้
ขณะเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาพยาบาล มีความเห็นว่า พ.ร.บ.นี้อาจสูญเปล่าก็เป็นได้ เนื่องจากเห็นว่า มีเนื้อหาครอบคลุมวิทยาศาสตร์ทุกด้าน ทั้งๆ ที่ในส่วนของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมีอยู่หลายสาขาด้วยกัน ได้มีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจน และมีระเบียบปฏิบัติที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เกรงว่าอาจกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จึงอยากให้มีการพิจารณาให้รอบครอบกว่านี้
ศ.ภิชานวิระ มาวิจักขณ์ รองประธานสมาพันธ์ฯ และนายกสภาวิศวกร เห็นว่า การตัดทอนบางคำ เช่น การแพทย์ และ วิศวกรรม ออกจากร่างนั้น ไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมอยู่หลายส่วน เช่น เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ คอมพิวเตอร์ เคมี และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ผู้แทนจากสภาวิชาชีพต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ต่างเห็นพ้องว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฉบับนี้มีความซ้ำซ้อน และเน้นไปที่การควบคุมมากกว่าส่งเสริม อาจเป็นการปิดกั้นประชาชนเกินไป และอาจส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ควรให้มีองกรค์เฉพาะในการควบคุมแต่ละเรื่อง ไม่ควรควบคุมหลายอย่าง อาจเกิดปัญหาตามมามากมาย
นอกจากนี้ยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเร่งออกบังคับใช้ในช่วงนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้ ทางสมาพันธ์ฯ มิได้มีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพียงแต่อยากให้ใช้เวลาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนมีผลบังคับใช้ เกรงว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว อาจยากที่จะแก้ไขหากพบว่ามีข้อผิดพลาดกิดขึ้น
แจง พ.ร.บ.ร่างขึ้นเพราะต้องการส่งเสริมอาชีพ "นักวิทย์"
จากนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วท. หลังจากทราบข้อคัดค้านของสมาพันธ์วิชาชีพ จึงได้ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งขึ้นเพื่อเน้นส่งเสริมวิชาชีพที่มีความจำเป็นต่อสังคม เช่น นักนิวเคลียร์ นักมลพิษวิทยา และนักเคมี เพื่อควบคุมความปลอดภัยของประชาชนในบางกรณี
"เรื่องมาตรการควบคุมเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่หากยังไม่เป็นที่ยอมรับของทางสมาพันธ์ฯ ก็พร้อมหารือเพื่อแก้ไขอีกครั้ง" รมว.วิทยาศาสตร์กล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่า บางประเทศ เช่น อังกฤษ ได้มีกฎหมายวิชาชีพนี้ใช้บ้างแล้ว
ทางด้าน นางกอบแก้ว อัครคุปต์ ผู้ตรวจราชการ ก.วิทย์หนึ่งในคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.ได้ชี้แจงว่า จุดประสงค์ที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า ส่งเสริมให้มีสมาคมทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือ เพื่อการต่อรองทางการค้ากับต่างชาติ ที่ต้องการให้มีหน่วยงานรับรองความปลอดภัยของสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร โดยใน พ.ร.บ. จะครอบคลุมวิทยาศาสตร์ทุกด้าน
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.วิชาชีพฉบับนี้ มิได้มีเจตนาล่วงล้ำหรือควบคุมองค์กรที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยนางกอบแก้วยังกล่าวเห็นด้วย ในกรณีที่ทางสมาพันธ์สภาวิชาชีพระบุว่า วิทยาศาสตร์มิใช่วิชาชีพ พร้อมทั้งได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มิได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้เป็นวิชาชีพอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการผลักดันให้มีวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เช่น นักเคมี นักนิวเคลียร์ นักมลพิษวิทยา เป็นต้น
ส่วนกรณีที่ทางสมาพันธ์ได้ระบุว่า กระทรวงวิทย์ฯ ดำเนินการโดยมิได้ปรึกษาหารือก่อนนั้น นางกอบแก้วชี้แจงว่า ได้แจ้งให้ทางสมาพันธ์ทราบรายละเอียดการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แล้ว ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ครม.
เน้นตั้ง "สภาวิชาชีพ" ออกใบอนุญาตนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง
ทั้งนี้ วท.ได้ทำประชาพิจารณ์มาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้งก่อนนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาและที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการครั้งแรกเมื่อ 26 ก.ย.43 จากนั้นส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณา และมีมติเห็นชอบเมื่อ 10 พ.ค.48 จากนั้นจึงเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ ในวาระที่ 1 เมื่อ 5 ต.ค. 48 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง
แต่ระหว่างที่ กมธ.วิสามัญฯ กำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เมื่อ 24 ก.พ.49 จึงเป็นผลให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีสถานะเป็นกฎหมายที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น ในรัฐบาลปัจจุบัน วท.จึงได้แจ้งข้อมูลและยืนยันต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีการกำหนด กลุ่มวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกเป็น 4 กลุ่มวิชา คือ (1) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (2) กลุ่มวิชาวิทยา-ศาสตร์สุขภาพ (3) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และ (4) กลุ่มวิชาสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ มีการกำหนดสาขาด้านวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเป็น 4 สาขา คือ (1) สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (2) สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ (3) สาขาการผลิต การควบคุม การจัดการสารเคมี และ (4) สาขาอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
ทั้งนี้ จะออกมาในรูปแบบการจัดตั้งเป็น สภาวิชาชีพฯ อาจมีรายได้ค่าจดทะเบียนสมาชิก ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน โดยมีคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโลยี และผู้ประกอบวิชาชีพ
นอกจากนี้ยังห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม โดยมิได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพ ฯ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพฯ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตร ระยะเวลาสถานฝึกอบรมที่กำหนด และต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพฯ รวมทั้งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดยกข้อกล่าวหา หรือลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง