xs
xsm
sm
md
lg

หมอกควันไม่เป็นอุปสรรค! เชียงใหม่ชม “สุริยคราส” ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอกควันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของชาวเชียงใหม่ แต่อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการชุมสุริยุปราคา
เผยเหตุมลภาวะอากาศปกคลุมเมืองเหนือไม่เป็นอุปสรรคชม “สุริยุปราคา” พร้อมแนะวิธีดู “คราส” ปลอดภัย ให้ใช้อุปกรณ์กรองแสงและห้ามดูด้วยตาเปล่า ด้านสมาคมดาราศาสตร์ฯ เตรียมจัดชมสุริยุปราคาที่วังสราญรมย์ และดึงนักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกร่วมชมปรากฏการณ์

สถานการณ์หมอกควันที่ปกคลุมหลายพื้นที่ในภาคเหนือขณะนี้กำลังเป็นภัยคุกคามกับสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก และพบฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครกรัมในหลายพื้นที่ บางพื้นที่พบฝุ่นละอองมีค่ามากถึง 439 ไมโครกรัม แต่นอกจากความกังวลในเรื่องสุขภาพแล้ว หลายคนยังเป็นห่วงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 19 มี.ค.นี้ได้ ทั้งที่ทางภาคเหนือนั้นมีโอกาสเห็นคราสบดบังในสัดส่วนที่มากกว่าจังหวัดที่อยู่ทางตอนล่าง

ต่อความกังวลดังกล่าว ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่าหมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือนั้นกลับช่วยให้ดูสุริยุปราคาได้ดีขึ้น โดยจะช่วยกรองแสงไม่ให้สว่างมาก อีกทั้งที่ จ.เชียงใหม่ยังดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ดีที่สุด ซึ่งจะมีกิจกรรมตั้งกล้องดูสุริยุปราคาขึ้นภายในภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถซักถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวกับนักดาราศาสตร์ที่จะไปร่วมกิจกรรมในวันที่ 19 มี.ค.ได้

ทั้งนี้ ดร.ศรันย์ได้แนะนำวิธีการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยว่า ควรมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการกรองแสงหากจะดูดวงอาทิตย์โดยตรง พร้อมทั้งยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ได้เช่น กระจกที่ช่างใช้ในการป้องกันดวงตาขณะเชื่อมโลหะ โดยต้องเลือกกระจกที่มีค่า Neutral Density เท่ากับ 5 ซึ่งแสงจะผ่านได้ 0.01% และหากส่องกับหลอดไส้จะเห็นเพียงไส้แดงๆ แต่หากเป็นกระจกที่ส่องแล้วเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ไม่สามารถใช้ได้ แต่ห้ามใช้กล้องสองตาหรือกล้องส่องทางไกลส่องดูดวงอาทิตย์โดยตรง เพราะเลนส์จะรวมแสงแล้วทำลายดวงตาให้บอดได้

ทางด้านนายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าสำหรับประชาชนในเขตภาคเหนือซึ่งมีปัญหาหมอกควันปกคลุมบรรยากาศอยู่ในขณะนี้ มลพิษดังกล่าวอาจไม่เป็นปัญหากับผู้ที่ต้องการสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด หากบริเวณนั้นมีปริมาณหมอกควันไม่หนาแน่นมากพอบดบังแสงอาทิตย์ทั้งหมดได้ แต่ทว่าหากมีหมอกควันหนาแน่นปริมาณมากจนมีลักษณะคล้ายกลุ่มเมฆแล้วก็อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้เลย

ทั้งนี้นายอารีแนะนำว่า สำหรับผู้ต้องการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาจะต้องมีความระมัดระวัง และต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสังเกตปรากฏการณ์ด้วย โดยเฉพาะการเตรียมอุปกรณ์สังเกตปรากฏการณ์ ซึ่งข้อห้ามที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามดูสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าเพราะอาจทำให้ตาบอดได้ ทางที่ดีควรสังเกตให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะคือ การสังเกตแบบปฐมภูมิ และการสังเกตแบบทุติยภูมิ

การสังเกตปรากฏการณ์แบบปฐมภูมิ คือ การสังเกตปรากฏการณ์โดยตรงแต่ต้องมีอุปกรณ์เพื่อกรองแสงที่เหมาะสม เช่น แผ่นไมล่าร์ที่ใช้หุ้มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันแสงซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายแผ่นฟิล์มที่คุ้นตากันดี หรือแว่นตาพิเศษสำหรับสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา และการใช้แผ่นฟิล์มขาวดำที่ผ่านแสงตลอดทั้งแผ่นและผ่านขั้นตอนการล้างฟิล์มจนดำสนิทตลอดทั้งแผ่นแล้ว โดยควรสังเกตปรากฏการณ์ไม่เกิน 5-10 วินาทีแล้วพักสายตาลงระยะหนึ่งก่อนเริ่มสังเกตใหม่อีกครั้ง”

นายอารีอธิบายอีกว่าการสังเกตปรากฏการณ์แบบปฐมภูมิ คือการสังเกตแบบสังเกตภาพปรากฏการณ์ผ่านการสะท้อนภาพบนฉากรองรับ อาทิ การดูภาพผ่านฉากรับภาพสะท้อนจากกล้องรูเข็ม ซึ่งประดิษฐ์ได้ง่ายๆ โดยใช้กล่องน้ำมาเจาะรู ส่วนอีกวิธีคือการสังเกตปรากฏการณ์ผ่านภาพสะท้อนในน้ำ

พร้อมกันนี้ในวันที่ 19 มี.ค.ซึ่งจะมีปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้น ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยจะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำอุปกรณ์สังเกตปรากฏการณ์ไปติดตั้งไว้ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ หรือสวนสราญรมย์ บริเวณสนามไชย เขตพระนคร ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อีกทั้งทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยยังได้ถือโอกาสนำคณะนักเรียนในโครงการ “ค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก” ให้ได้ร่วมชมปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมภาคปฏิบัติก่อนจะได้เข้าร่วมการแข่งขันกับตัวแทนเยาวชนในระดับนานาชาติต่อไป

ส่วน น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ฝากย้ำความห่วงใยในการดุสุริยุปราคาว่า ห้ามดูสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าหรือใช้แว่นกันแดดดูดวงอาทิตย์โดยตรงอย่างเด็ดขาด และแม้ว่าจะมีอุปกรณ์กรองแสงแล้วก็ตาม แต่ควรจ้องดวงอาทิตย์ผ่านอุปกรณ์กรองแสงนานไม่เกินครั้งละ 1 นาทีเท่านั้น และตลอดปรากฏการณ์ไม่ควรจะจ้องดวงอาทิตย์โดยผ่านอุปกรณ์กรองแสงเกิน 3 ครั้ง

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้เป็นอุปราคาครั้งที่ 2 ในรอบปีที่ไทยสามารถมองเห็นได้ โดยเช้าของวันที่ 19 มี.ค.จะเริ่มเกิดคราสโดยเฉลี่ยประมาณ 7.38 น. ซึ่งแต่ละท้องที่จะเห็นการเกิดคราสได้ต่างกัน เช่น เช่น ที่กรุงเทพฯ จะเห็นคราสเริ่มเกิดเวลา 7.48 น. และจะเห็นคราสบังลึกที่สุด 16% เวลา 8.21 น. ด้วยมุมเงย 28 องศา ในทางทิศตะวันออก โดยคราสจะสิ้นสุดเวลา 8.57 ขณะที่ จ.เชียงใหม่ คราสจะเริ่มเวลา 7.45 น. และบังลึกที่สุด 28% เวลา 8.29 น. เป็นต้น และหลังจากปรากฏการณ์อุปราคาครั้งนี้จะมีอุปราคาอีก 2 ครั้งคือ จันทรุปราคาในช่วงหัวค่ำวันที่ 28 ส.ค. และสุริยุปราคาบางส่วนวันที่ 11 ก.ย. แต่อุปราคาครั้งหลังนั้นไทยไม่สามารถเห็นได้
สภาพเมืองเชียงใหม่ที่ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน
ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา
กำลังโหลดความคิดเห็น