ชาวโลกหวั่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤต หันมาสนใจไบโอพลาติก บางประเทศในยุโรปเริ่มใช้แล้วแต่ราคาค่อนข้างสูง โรงงานพลาสติกไทยเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต่างชาติต้องการนำเข้าพลาสติกชีวภาพ รัฐบาลมั่นใจ ไทยได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ แต่ยังขาดเทคโนโลยี พร้อมเร่งวิจัยเพื่อลดต้นทุนก่อนดันสู่ภาคอุตสาหกรรม เอกชนเผย ไม่อยากให้งานวิจัยจบแค่ในเปเปอร์
สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเพื่อระดมความคิด การผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ทดแทนการใช้พลาสติกสังเคราะห์ เพื่อลดปัญหาขยะ และเปิดโอกาสให้นักวิชาการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับภาคเอกชน พร้อมให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเริ่มต้น 30 ล้านบาท
ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกๆวัน โดยเฉพาะพวกพลาสติกย่อยยาก ส่งผลกระทบรุนแรงกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก อีกทั้งกระบวนการผลิตยังก่อเกิดมลภาวะโลกร้อน จึงต้องเร่งหาทางแก้ไข สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ จึงมีนโยบายวิจัยการผลิตพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำมาใช้แทนพลาสติกสังเคราะห์ที่ใช้อยู่กันทุกวันนี้ โดยร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในการวิจัยและผลักดันสู่ภาคอุตสาหกรรม
พลาสติกชีวภาพนี้สามารถผลิตได้จากมันสำปะหลัง โดยจุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล แล้วเปลี่ยนไปเป็นกรดแลคติก (Lactic acid) แล้วนำไปทำให้เป็นโพลิเมอร์ (Polymer) ก่อนทำการขึ้นรูปเป็นวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตล้วนมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ทำให้พลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ไม่ยาก อีกทั้งในกระบวนการผลิตยังเกิดคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า จึงช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะเรือนกระจก
ในระหว่างการสัมมนา ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และมุมมองเกี่ยวกับการปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมพลาสติก รวมทั้งปัญหาการผลิตพลาสติกชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม
ภาคเอกชนเองก็เล็งเห็นแล้วว่า พลาสติกชีวภาพ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในต่างประเทศก็มีการผลิตใช้กันบ้างแล้ว เช่น เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น จึงได้มีการรวมตัวกันของ 5 บริษัทผลิตพลาสติก จัดตั้งชมรมพลาสติกชีวภาพไทยขึ้นเมื่อปี 48 จนปัจจุบันมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ทั้งสิ้น 12 ราย วัตถุประสงค์หลักของชมรม จะสนับสนุนให้มีการผลิตใช้ในประเทศให้มากขึ้น และผลิตเพื่อการส่งออกเป็นรายหลัก พร้อมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทย จำกัด และประธานชมรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ในประเทศแถบยุโรปมีความตื่นตัวในเรื่องพลาสติกชีวภาพกันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะยังมีใช้กันอยู่เป็นส่วนน้อย แต่เมื่อมองทั่วโลก พบว่าอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง อีกทั้งต่างประเทศที่นำเข้าถุงพลาสติกจากประเทศไทย ก็ต้องการนำเข้าถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมต่างเห็นเป็นโอกาสดี ที่ประเทศไทยจะเร่งพัฒนาการวิจัยและผลิตพลาสติกชีวภาพ ให้มีศักยภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าพลาสติกสังเคราะห์ เนื่องจากว่าเรามีปริมาณวัตถุดิบมากเพียงพอ ทั้งยังเกิดประโยชน์ในอีกหลายๆด้านนอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งช่วยลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลัง จากเดิมที่ใช้เป็นเพียงอาหาร หากนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพ จะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่า
ทางด้านนายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท Thai MFC จำกัด ในเครือ SCG Chemical บริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีกฏเกณฑ์ที่ต้องส่งออกสินค้าที่ย่อยสลายได้ “ประเทศไทยได้เปรียบในปริมาณของวัตถุดิบ แต่ด้านเทคโนโลยียังด้อยกว่าต่างประเทศ ต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน หากต้องนำเข้าเทคโนโลยีแล้ว จะต้องทำอย่างไร ให้เราสามารถต่อยอดได้ ต้องมองให้ครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตกรดแลคติก การแยกให้บริสุทธิ์ จนถึงการนำไปใช้ให้มีความหลากหลาย”
นายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตถุงพลาสติกส่งออก จำพวกถุงที่ใช้ใส่ของในห้างสรรพสินค้า และถุงขยะ มีความเห็นว่า หากจะพัฒนาให้ก้าวไกล อยากให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น “เป็นไปได้ยากที่ผู้บริโภคจะยอมจ่ายแพงกว่า 4-5 เท่า แต่หากสามารถผลิตได้มากขึ้น ราคาจะถูกลงมาก สมเหตุสมผลมากขึ้น จึงต้องมาคิดกันว่า จะทำอย่างไรได้บ้างในการลดต้นทุนการผลิต”
“ทราบว่ามีงานวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วมากมาย แต่เอกชนไม่ค่อยรับรู้ จึงอยากจะรับทราบข้อมูลให้มากขึ้น ทำงานใกล้ชิดกันให้มากขึ้น ผลการวิจัยบอกว่าทำได้ แต่มักจบแค่ในห้องทดลอง แต่ภาคอุตสาหกรรมไม่ทราบว่าสามารถทำได้จริงไหม จึงอยากให้ภาครัฐ ช่วยส่งเสริมให้เอกชนได้มีโอกาสรับรู้ถึงกระบวนการที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้”
“อยากให้งานวิจัยก้าวไปควบคู่กับภาคอุตสาหกรรม ไม่อยากให้จบเพียงแค่เผยแพร่ลงในวารสารงานวิจัย” นายเจริญชัยกล่าวตอนท้าย