บีบีซีนิวส์/ไซน์เดลี/เมดิคอลนิวส์ทูเดย์ - พบยีนกลายพันธุ์ที่อาจทำให้เป็นมะเร็ง มีจำนวนมากกว่าที่คิด แต่ส่วนมากเป็นเพียงแค่ยีนโดยสารที่พ่วงมาด้วยเท่านั้น หมดห่วงเรื่องอันตราย หากจำแนกออกจากหัวโจกได้จะง่ายต่อการรักษา คาดอนาคตสามารถผลิตยาได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มะเร็งร้ายที่ทำอันตรายชีวิตคนเรานั้น เป็นเหตุมาจากการแปรทางพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์ (mutated genes) นั่นเพราะยีนมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของเซลล์ โดยจะสั่งการว่าเมื่อใดที่เซลล์ต้องแบ่งตัวหรือหมดสภาพลง และในทางกลับกันยีนที่ผิดปกติก็จะสั่งการให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และนั่นคือต้นตอของการเกิดมะเร็ง
ทว่า ทีมนักวิจัยกว่า 60 ราย จากนานาประเทศ ทั้งอังกฤษ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ได้ร่วมมือกันศึกษายีนของมนุษย์มากกว่า 500 ยีน และเซลล์มะเร็งอีกกว่า 200 ชนิด ในนามของ สถาบันแซงเกอร์ แห่งสหราชอาณาจักร (Sanger Institute, UK) และระบุลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า มียีนก่อมะเร็งมากกว่าที่พวกเราคิดว่าจะค้นพบมากกว่านัก
พวกเขาได้ศึกษาวิเคราะห์สารพันธุกรรม (genome) และมะเร็งในมนุษย์ที่มีความครอบคลุมมากที่สุด โดยศึกษาลำดับรหัสของดีเอ็นเอ (DNA) กว่า 250 ล้านตัวแล้วพบว่ามียีน 2 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง คือ "ไดรเวอร์ยีน" (driver genes) หรือ "ไดรเวอร์มิวเทชัน" (driver mutations) ซึ่งกระตุ้นให้เซลล์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลให้เกิดมะเร็งรุนแรงกว่าที่คาดไว้
ส่วนยีนอีกชนิดคือ "พาสเซนเจอร์ยีน" (passenger genes) หรือ "พาสเซนเจอร์มิวเทชัน" (passenger mutations) มีอยู่มากกว่าแบบแรกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่พบว่าเกิดผลเสียต่อเซลล์ เป็นเพียงแค่เพื่อนร่วมทางของไดรเวอร์เท่านั้น เช่น มะเร็งชนิดหนึ่ง พบยีนผิดปกติอยู่ 1,000 แห่ง มีเพียง 150 แห่งที่เป็นแบบไดรเวอร์
ทั้งนี้นักชีววิทยามะเร็งต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการจำแนกความแตกต่าง ระหว่างยีนกลายพันธุ์ทั้ง 2 ชนิดนี้
ศาสตราจารย์ไมค์ สเตรททัน (Mike Stratton) หนึ่งในหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยพันธุกรรมมะเร็ง ( Cancer Genome Project ) กล่าวว่า พวกเขาพบยีนที่เกิดการผันแปรแล้วกลายเป็นไดรเวอร์ยีน มีมากกว่าที่คาคคิดกันเอาไว้เสียอีก จากการศึกษาของทีมนักวิจัยที่ศึกษายีนมากว่า 500 ยีน ที่อยู่ในกลุ่มของไคเนส ( Kinases ) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่า ยีนบางตัวในกลุ่มนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง
ภายในเซลล์มีโปรตีนไคเนสทำหน้าที่คล้ายสวิตซ์ ควบคุมการเกิดกระบวนการต่างๆ เช่น การแบ่งเซลล์ (cell division) หากโปรตีนไคเนสมีความบกพร่อง จะทำให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการแบ่งเซลล์ เมื่อมีการสะสมเซลล์กลายพันธุ์เอาไว้มากๆ จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง จนไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวได้
ตัวอย่างยีนที่อยู่ในกลุ่มไคเนส เช่น ยีน BRAF ที่สำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดสี (Melanocyte) และมักมีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็ง
โดยเมื่อปี 2002 ทีมนักวิจัยพบว่า มีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF มากว่า 60% ในคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่สุด (Malignant melanoma) ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดสี และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดที่จุดเดียวถึง 80% นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนนี้ ประมาณ 20% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ 14% ของมะเร็งรังไข่ปฐมภูมิ
จากการค้นพบในครั้งนั้น ทำให้สามารถพัฒนายารักษามะเร็งผิวหนังชนิดใหม่ๆได้หลายชนิด บางชนิดก็กำลังอยู่ในขั้นทดสอบระดับคลินิก ล่าสุดนี้ได้ศึกษากับมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อย ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งกระเพาะอาหาร
ทีมนักวิจัยของสถาบันแซงเกอร์ระบุว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีไดรเวอร์มิวเทชันเกิดขึ้นกับยีนอีก 120 ยีน ซึ่งยังไม่เคยพบมาก่อน และก็ยังไม่พบว่าเป็นอันตรายใดๆกับยีนชนิด “พาสเซนเจอร์” ที่อยู่ร่วมด้วย ทั้งนี้ ความผันแปรที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างมะเร็งแต่ละชนิด แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่บางขั้นตอนของการเสริมสร้างให้ตัวเองมีประสิทธิภาพก่อนที่จะแสดงออกมาให้เห็นเป็นมะเร็ง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี
ดร. มาร์ค แวลพอร์ท (Dr. Mark Walport ) ผู้อำนวยการ สถาบันเวลคัม ทรัสท์ (Wellcome Trust) ประเทศอังกฤษ ผู้สนับสนุนเงินทุนแก่สถาบันแซงเกอร์ กล่าวว่า “การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับยีนแล้วก่อเกิดเป็นมะเร็งนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้พัฒนาวิธีการรักษาให้มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด” ล่าสุดสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 1 ใน 3 จากจีโนมทั้งหมดของมนุษย์แล้ว
ดร. ฟรานซิส โคลลินส์ (Dr. Francis Collins) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพันธุกรรมมนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา (National Human Genome Research Institute in the US) กล่าวว่า เครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีศักยภาพเพียงพอต่อการตรวจสอบหาความซับซ้อนของมะเร็งได้
"ในการวิจัยครั้งนี้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโปรตีนไคเนสเพิ่มเติมข้ามา และยังสนับสนุนข้อสรุปเดิมอีกด้วย ซึ่งการมุ่งเป้าไปที่ยีนมะเร็งโดยตรงอาจให้ผลที่ดีกว่าในการวินิจฉัยและรักษาโรค”
มะเร็งร้ายที่สร้างความหวาดผวาและไม่เคยปรานีใครในวันนี้ อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป ด้วยความสามารถของมนุษย์และวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวไปอีกขั้น อาจช่วยให้การรักษามะเร็งในอนาคตง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยก็เป็นได้