เอพี – ใครว่าต้นโคคาจะผลิตได้แต่ “โคเคน” ยาเสพติดร้ายที่กระจายไปทั่วโลก ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์คิวบากำลังหาความเป็นไปได้ในการพัฒนายาจากต้นโคคา ด้านประธานาธิบดีโบลิเวียประเทศที่จิบโคคาแทนกาแฟเห็นดีงามเตรียมผลักดัน “ยา” จากต้นโคคา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เฟลิกซ์ บาร์รา (Felix Barra) รัฐมนตรีโคคาและการพัฒนาทางเลือก เปิดเผยผ่านสถานีวิทยุแห่งหนึ่งของโบลิเวียว่า ชาวคิวบาได้สร้างพื้นที่เพาะปลูกขึ้นมา โดยตั้งใจจะให้กลายเป็นศูนย์วิจัยทดสอบสรรพคุณทางการรักษาของใบโคคาและนำไปพัฒนาต่อในทางเภสัชกรรม
แม้จะเป็นกิจกรรมที่ชาวคิวบากำลังทดลองขึ้นก็ตาม แต่ชาวโบลิเวียก็ให้ความสนใจไม่น้อย เพราะพวกเขาเคี้ยวใบโคคาเพื่อกระตุ้นสมองมาหลายศตวรรษ ขณะเดียวกันชาจากใบโคคาก็ได้รับความนิยมมากกว่ากาแฟเสียด้วยซ้ำ ทว่าใบเขียวของโคคานั้นคือต้นตอของ “โคเคน” ยาเสพติดที่ระบาดไปทั่วโดยเฉพาะในบราซิลและยุโรป
หลัง อีโว โมราเลส (Evo Morales) ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งโบลิเวีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อดีตเจ้าของไร่โคคา ก็มีแผนลดการผลิตโคเคน โดยผลักดันใบโคคาให้กลับเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชน โดยได้พยายามนำใบโคคาเข้ามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผงแป้ง กลั่นเป็นเหล้า และแม้แต่ทำเป็นยาสีฟันจากโคคา ส่งผลขุ่นเคืองให้แก่สหรัฐฯ ผู้ซึ่งพยายามลดผลผลิตจากต้นโคคาลง
ที่สำคัญโมราเลสและพันธมิตรได้ขยายกิจการใหญ่โตจนสร้างเป็นอุตสาหกรรมยาและส่งออกไปหลายประเทศ นอกจากนี้แพทย์ชาวคิวบาก็ยังขยายผลงานวิจัยเข้าไปสู่การผลิตยาทางเลือกอีกหลายขนานทดแทนการขาดแคลนยานำเข้า ที่สหรัฐฯ กีดกันไม่ให้ส่งสินค้าเข้าสู่เกาะคิวบา
เวเนซุเอลาได้ให้ทางโบลิเวียกู้เงินเพื่อตั้งโรงงาน 2 แห่งผลิตชาและแป้งจากต้นโคคา พร้อมทั้งจะช่วยเหลือส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกขายในต่างประเทศให้ด้วย แต่ว่าที่ประชุมสหประชาชาติห้ามนานาชาติค้าขายใบโคคาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดตั้งแต่ปี 1961
ทว่า “เอนาโก” (Enaco) โรงงานผลิตภัณฑ์โคคาของเปรูก็พยายามผลิตชาส่งสู่แอฟริกาใต้ เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว แถมยังออกประกาศยืนยันว่า โคคา-โคลาสนใจนำเข้าน้ำโคคาที่สกัดโคเคนออกไปแล้วเพื่อจะเติมเข้าไปเครื่องดื่มน้ำดำ โดยอาจจะมีการดำเนินการซื้อขายภายใน 2 ปีนี้
อย่างไรก็ดี แผนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากใบโคคาของโบลิเวียนั้นจะมีการถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงเวียนนาปีหน้า