xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเทคหนุนเอกชนผลิต “ไฟหน้ารถยนต์ไทย” เจาะตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เอ็มเทค" ใช้เครื่องวิเคราะห์แสง เปิดตัวโครงการบริการออกแบบและแนะนำเทคโนโลยีผลิต “ไฟหน้ารถยนต์ไทย” มาตรฐานสากล หวังอัพเกรดอุตสาหกรรมผลิตระบบส่องสว่างของรถยนต์ในประเทศ หลังนำไปใช้ได้ผลจริงมาแล้ว ชี้ต้นปีหน้าเตรียมเปิดห้องปฏิบัติการเต็มตัวให้บริการแก่เอกชน

ใครจะคิดว่า เรื่องที่ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรอย่าง “ไฟส่องสว่างหน้ารถยนต์” ในวันนี้จะกลายเป็นธุรกิจพันล้านไปแล้ว เพราะถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์โดยตรง ซึ่งแม้ไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของเอเชีย แต่เราก็ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนระบบไฟส่องสว่างยานยนต์มาตรฐานสูงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและจีนอยู่ถึงปีละพันล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ภาคเอกชนเราผลิตสินค้าเกรดรองแล้วส่งออกไปยังประเทศแถบแอฟริกาใต้ และประเทศยุโรปบางประเทศ เพื่อลดการขาดดุลการเงินราวปีละ 300-400 ล้านบาท

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงจัดทำโครงการ “เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบและผลิตระบบไฟส่องสว่างยานยนต์” ขึ้น เพื่อเป็นกลจักรหนึ่งที่จะอัพเกรดอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและสามารถทำให้ไทยส่งขายชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ

นายปิยภงศ์ เปรมวรานนท์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากเอ็มเทค เล่าถึงโครงการว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการผลิตระบบไฟส่องสว่างหน้ารถยนต์มาตรฐานสากลแก่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศ ผ่านการศึกษาการออกแบบ การผลิต และการทดสอบไฟรถยนต์ต่างๆ เพื่อรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การศึกษาองค์ความรู้พื้นฐานในการออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ของไฟรถยนต์ ได้แก่ จานสะท้อนแสง หลอดไฟและระบบเลนส์ รวมถึงการทดสอบทางแสงตามที่ได้ระบุไว้ตามมาตรฐานยานยนต์สากล

จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง (Computer Aided Lighting: CAL) ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วมาพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานเพิ่มเติม สำหรับการจำลองสภาวะการทำงานของไฟหน้ารถขณะใช้งาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพการกระจายแสงและความสว่างที่ได้จากดวงโคมที่ได้ทำการออกแบบ ซึ่งการใช้โปรแกรมวิเคราะห์ทางแสงดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบโคมไฟที่มีการกระจายแสงบนถนนได้ดีกว่าโคมไฟแบบเก่า ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถออกแบบโคมไฟรถยนต์ให้มีขนาดเล็กลงและมีอุณหภูมิภายในโคมไฟต่ำลง จึงสามารถใช้ชิ้นส่วนพลาสติกแทนได้ และใช้พลังงานน้อยลง 
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2549 -2553 โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หน่วยงานร่วมมุ้ง “สวทช.” ให้การสนับสนุน ทว่า หากจะนับกันจริงๆ แล้ว โครงการนี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 เดือนเท่านั้น แต่แม้ว่าจะเทียบด้วยอายุอานามของโครงการแล้วอาจเรียกได้ว่าโครงการนี้ยังแบเบาะนัก ทว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาหลังก่อตั้งโครงการก็ใช่ว่าจะไร้ผลงาน ...

“ตอนเราเริ่มโครงการนี้ มีเอกชนที่ผลิตรถเกี่ยวข้าวเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเรา เพราะเห็นว่าไฟหน้ารถของรถเกี่ยวข้าวของเขายังมีสไตล์ที่ดูโบราณอยู่ ผิดกับรถยนต์รุ่นหลังๆ ที่จะออกแบบไฟหน้ากันอย่างสวยงาม จึงอยากเปลี่ยนรูปแบบของไฟหน้ารถให้ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเขาก็ออกแบบของเขาเองจนพอใจและได้มีการผลิตไฟหน้ารถมาใช้จริงแล้ว แต่ก็กลับมีปัญหาว่าพอใช้แล้ว แสงกลับกระจายออกจากกัน ไม่ได้รวมแสงอย่างที่ควรจะเป็น ไฟหน้ารถจึงไม่สว่าง” ผู้ช่วยนักวิจัยยกตัวอย่างผลงาน โดยเล่าต่อว่า

ผู้ประกอบการจึงพยายามทดลองหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้วิธีเปิดไฟสูงพร้อมๆ กันไปด้วย ทว่าสถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลง เพราะความร้อนที่เกิดขึ้นมีมากเกินไปจนทำให้เลนส์ไฟหน้ารถที่ทำจากพลาสติกเกิดจุดละลายภายใน 20 นาที ทางผู้ประกอบการจึงเข้ามาขอคำแนะนำจากเอ็มเทคให้ช่วยแนะนำการออกแบบจานกระจายแสงให้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“ทางเอ็มเทคจึงได้ให้การช่วยเหลือ ซึ่งเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสง ที่จะช่วยให้ออกแบบจานกระจายแสงใหม่ ไม่ทำให้เกิดการรวมแสงไปยังเลนส์มากเกินไป และยังได้ออกแบบให้เลนส์ไฟหน้านูนขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่การระบายความร้อนที่เกิดขึ้นบนหน้าเลนส์ ซึ่งได้นำไปใช้จริงแล้ว สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หมด โดยพบว่าไฟหน้ารถแบบใหม่ให้ความสว่างที่เพียงพอกับการขับขี่ ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟสูงร่วมด้วย และปัญหาเลนส์ละลายก็หมดไป” ผู้ช่วยนักวิจัยกล่าว

นอกจากนั้น นายปิยภงศ์ ยังบอกอีกว่า ในต้นปีหน้า ทางเอ็มเทคคาดว่าจะสามารถจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบคุณสมบัติทางแสงของวัสดุแล้วเสร็จและพร้อมให้บริการแก่เอกชนได้ทันที เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้กับโปรแกรมการออกแบบและวิเคราะห์ทางแสงอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตต้นแบบและสามารถลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูก อีกทั้งยังสามารถนำไปผลิตได้จริงและได้ความสว่างของแสงตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานยานยนต์สากลอีกด้วย

ทั้งนี้ เอ็มเทคจะนำโครงการ “เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบและผลิตระบบไฟส่องสว่างยานยนต์” มาร่วมจัดแสดงในงานการประชุมประจำปี 2550 (NAC2007) ระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค. 50 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น