xs
xsm
sm
md
lg

"บ้านโนนวัด" สุสาน 200 ชั่วคน : ศูนย์ข้อมูลยุคก่อนประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงไม่มีใครคาดคิดว่า นอกเหนือจากแหล่งอารยธรรม “บ้านเชียง จ.อุดรธานี” ซึ่งมีอายุเก่ากว่า 4,000 ปีแล้ว จะยังมีแหล่งอารยธรรมอื่นในประเทศไทยซ่อนตัวหลบจากการรับรู้ของคนทั่วไป โดยมีอายุเทียบได้กับบ้านเชียง หรืออาจเก่าแก่กว่าถึงราว 2,000 ปี !!?

การเดินทางของ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ครั้งนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามรากเหง้าและต้นสายอารยธรรมไทยแถบที่ราบสูงโคราชกัน ณ “สุสานโบราณ” แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี "บ้านโนนวัด" ต.พลสงคราม อ.โนนสง จ.นครราชสีมา แหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ชนิดที่ว่า “ชาร์ลส์ ไฮห์แอม” นักโบราณคดีมือพระกาฬ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ยังต้องจุ๊ปากด้วยความทึ่ง โดยมีอายุเก่าแก่รองจากแหล่งอารยธรรมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเพียงจีนและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ต้นสายอารยธรรมสำคัญของเอเชียเท่านั้น

"ชาร์ลส์ ไฮห์แอม" และซากโบราณ 4,500 ปี

ภายหลังจากที่ “ยายวอย แก้วกลาง” ชาวบ้านในพื้นที่ได้ค้นพบซากโบราณในบริเวณใต้ถุนบ้านของตัวเองเมื่อราว 5 ปีก่อนแล้ว ศ.ชาร์ลส์ ผู้ทำงานโบราณคดีในประเทศไทยมากว่า 40 ปี และทีมนักวิจัยจากประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมถึงความร่วมมือจากกรมศิลปากร ให้ทำการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี ณ บ้านโนนวัด อย่างต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ คนในวงการโบราณคดีคงรู้จักเขาและลูกทีมดี เพราะต่างมีประสบการณ์ช่ำชองมาแล้วจากการขุดค้นแหล่งอารยธรรมบ้านเชียง

สำหรับการขุดค้นสุสานโบราณในหลุมล่าสุดนี้ พวกเขาเพิ่งค้นพบหลุมศพและโครงกระดูกร่างที่ 573 ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งหากรวมกับการขุดค้นสุสานโบราณหลุมอื่นๆ ในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ซากโบราณที่ขุดค้นก็มีจำนวนนับพันๆ รายเลยทีเดียว จึงแน่นอนว่ากับเวลาที่เหลืออีกเพียง 1 ปีของการขุดค้นที่จะปิดฉากลงในปี พ.ศ.2552 พวกเขาจะต้องทำงานแข่งขันกับเวลาอีกครั้งเพื่อค้นหาซากโบราณที่เหลือทั้งหมด ก่อนที่สุสานโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้จะถูกปิดลงเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการวิจัย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ขุดพบในสุสานโบราณบ้านโนนวัดที่ทำให้อ้างได้ว่า แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัดแห่งนี้ มีอายุอานามมากว่า 4,500 ปี และอาจเก่าแก่กว่าแหล่งอารยธรรมบ้านเชียงดังที่อ้างไว้ข้างต้นคือ ผลการขุดค้นพบร่องรอยของมนุษย์ที่เข้ามาตั้งรกรากและอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกว่า 200 ชั่วคน ซึ่งต่างก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาใช้พื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ตอนปลายเมื่อกว่า 4,000 ปีก่อน เรื่อยมาจนถึงยุคสำริด ยุคเหล็ก และยุคประวัติศาสตร์ที่เราเริ่มคุ้นเคยกันดีอย่างสมัยทวารวดี สมัยอาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ และสมัยอาณาจักรอยุธยา หรือแม้แต่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าพื้นที่บ้านโนนวัดเป็นพื้นที่ที่มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้

เริ่มจากมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่พื้นที่บ้านโนนวัดในยุคหินใหม่ตอนปลาย คือกลุ่มคนที่มีเชื้อสายใกล้เคียงกับชนชาติมอญ เข้ามาดำรงชีพโดยการเป็นเกษตรกรเพาะปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ จับสัตว์ป่า สัตว์น้ำ เก็บหอย เลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำเพื่อใช้เป็นอาหาร มีการทอผ้า และมีประเพณีการฝังศพสืบทอดต่อมาจนถึงยุคสำริดและยุคเหล็กตามลำดับ

ในส่วนของประเพณีที่สำคัญ คือ “ประเพณีการฝังศพ” ที่ขุดพบในยุคหินใหม่ตอนปลายมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ฝังท่านอนหงายเหยียดยาว พร้อมด้วยภาชนะดินเผา กระดูกหมู และเปลือกหอยกาบน้ำจืดในหลุมที่ขุดไปในดิน กับอีกลักษณะหนึ่งคือการฝังศพผู้เสียชีวิตลงไปในไหขนาดใหญ่ ทว่า ศพของมนุษย์ในยุคดังกล่าวส่วนใหญ่ก็มักถูกฝังในลักษณะแรกแทบทั้งหมด โดยศพที่ฝังในไหขนาดใหญ่มักเป็นการฝังศพเด็กทารกเพียงอย่างเดียว จึงมีเพียง 2 ร่างเท่านั้นที่นับได้ว่าเป็นการขุดพบศพผู้ใหญ่ที่ถูกฝังลงในไหอายุกว่า 4,000 ปี ครั้งแรกของประเทศไทย ทว่าประเพณีการฝังศพในยุคหินใหม่ตอนปลายทั้ง 2 ลักษณะนี้ก็ยังถูกส่งต่อไปยังประเพณีการฝังศพในยุคต่อมาคือยุคสำริดเช่นกัน

แต่สิ่งที่ทำให้เราได้เห็นถึงข้อแตกต่างกันระหว่างยุคหินใหม่ตอนปลายและยุคสำริดคือ ทิศการหันศีรษะของศพไปในทิศต่างๆ กัน โดยการฝังศพในยุคหินใหม่ตอนปลายยังไม่มีการกำหนดทิศที่ชัดเจน จึงพบได้ทั้งที่หันศีรษะของศพไปในทิศเหนือบ้าง ทิศใต้บ้าง และทิศตะวันตกบ้าง ขณะที่ในยุคสำริดและยุคต่อๆ มาจะมีทิศการหันศีรษะของศพแน่นอนแล้ว คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมีบ้างที่หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

ส่วนหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง เป็นหลักฐานที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ถึงความแตกต่างกันของสถานะหรือฐานะของเจ้าของเรือนร่างที่เริ่มมีขึ้นในยุคสำริดเป็นยุคแรก สังเกตได้จากสิ่งของที่ญาติผู้ตายได้นำมาบรรจุไว้ในหลุมฝังศพเพื่อฝังไปพร้อมๆ กับญาติที่เสียชีวิตด้วยความเชื่อว่า ผู้ตายยังมีความต้องการอาหารและข้าวของเครื่องใช้อยู่ การฝังข้าวของเครื่องใช้ลงไปในหลุมฝังศพจะทำให้ผู้ตายได้นำไปใช้ต่อไป โดยเราจำแนกศพที่พบได้คร่าวๆ เป็น 1.ศพของผู้มีฐานะยากจนที่มีข้าวของบรรจุลงไปในหลุมฝังศพค่อนข้างน้อย และ 2.ศพของผู้มีฐานะร่ำรวยที่มีข้าวของเครื่องใช้ฝังรวมกับศพจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด

กล่าวคือ ในหลุมฝังศพของผู้มั่งคั่งที่หลุมฝังศพนี้จะมีความยาวถึง 5 เมตร และกว้างถึง 4 เมตร โดยมีภาชนะดินเผา คอแคบ ปากผาย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ภาชนะกระโถนปากแตรแบบบ้านปราสาท” ตลอดจนภาชนะดินเผาในรูปทรงอื่นๆ วางเรียงกันหลุมฝังศพ ซึ่งบางหลุมมีถึงราว 50-80 ใบ โดยในจำนวนหลายๆ ใบที่ขุดพบ ปรากฏลายเขียนสีแดงที่มีอายุเก่ากว่าอารยธรรมบ้านเชียงนับพันปี

นอกจากนั้น ในหลุมฝังศพของผู้มีอันจะกิน ยังบรรจุไปด้วยขวานสำริด ขวานหินขัด สิ่วสำริด ลูกปัดทองคำ ลูกกระสุนดินเผา และเครื่องประดับทำจากหอยทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะกำไลข้อมือจากเปลือกหินอ่อนและหอยทะเลซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก จึงเป็นหลักฐานได้ดีว่า ผู้ที่พักอาศัยในแถบนี้เป็นชนเผ่าที่มีอารยธรรมและได้ทำการค้าขายติดต่อกับชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลด้วย

ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าร่างของผู้ตายที่ร่ำรวยบางร่างยังมีร่องรอยของการขุดขึ้นมาจัดเรียงโครงการกระดูกใหม่อย่างจงใจก่อนจะฝังกลบอย่างเรียบร้อยอีกรอบ จึงสันนิษฐานได้ว่าลูกหลานของผู้ตายได้ขุดกระดูกบางส่วนของผู้ตายขึ้นมาทำพิธีก่อนที่จะฝังกลบใหม่อีกรอบ ซึ่งที่น่าแปลกใจกว่านั้น คือการขุดพบยังทำให้เราได้ทราบด้วยว่า นอกจากประเพณีการฝังศพคนในยุคสำริดแล้ว ยังมีการฝังศพสุนัขพร้อมภาชนะดินเผาอีก 1 ใบด้วย

ขณะที่ในยุคถัดมาคือยุคเหล็ก ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายที่มีการฝังศพที่บ้านโนนวัด พบว่า ผู้อยู่อาศัยในเวลานั้นเริ่มรู้จักการหล่อโลหะขึ้นใช้เอง และมีภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญคือภาชนะดินเผาสีดำ หรือที่เรียกว่า “ภาชนะแบบพิมายดำ”

ศูนย์ข้อมูลก่อนประวัติศาสตร์บ้านโนนวัด ความหวัง และความเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ทรงคุณค่าอเนกอนันต์ และประเมินค่ามิได้ ภายใต้ผืนดินบ้านโนนวัดแห่งนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังอาจกล่าวได้ว่าภารกิจต่างๆ เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เพราะหากไม่มีการเก็บรักษาสิ่งที่ขุดพบเหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็นและจริงจังตามหลักวิชาการแล้ว การไม่ขุดค้นพบอะไรเลยยังอาจจะเป็นวิธีการเก็บรักษาที่ทรงคุณค่าไว้มากที่สุด โดยปัจจุบัน ซากโบราณคดีที่ขุดค้นพบได้เหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นการชั่วคราว และยังไม่มีการเปิดบริการให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาแต่อย่างใด

แนวคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเก็บรักษาซากโบราณอันทรงคุณค่าเหล่านี้ คือ แนวคิดที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านโนนวัดขึ้น โดย ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดนี้กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าวก็เพื่อให้มีการเก็บรักษาซากโบราณคดีที่ขุดค้นอย่างเหมาะสม พร้อมการจัดตั้งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่มีความชัดเจนขึ้นต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์ข้อมูลฯ แห่งนี้อาจนำมาซึ่งการท่องเที่ยวและความเจริญต่างๆ ยังพื้นที่ที่ยังค่อนข้างห่างไกลความเจริญอย่างบ้านโนนวัดด้วย

“บ้านโนนวัดถือเป็นตัวอย่างการวิจัยทางโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นมาของมนุษยชาติและประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ตลอดจนวัฒนธรรม และประเพณีของคนรุ่นก่อน ดูได้จากสิ่งที่มีการขุดค้นพบ เช่น โครงกระดูก เครื่องประดับ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ วช.จึงมีความประสงค์ให้มีการศึกษาร่วมกันถึงความเป็นไปได้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ กรมศิลปากร จ.โคราช นักวิชาการ ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลก่อนประวัติศาสตร์บ้านโนนวัดขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป” เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติจุดประเด็นในวงเสวนาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ

ทว่า การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลฯ ที่ว่า ให้มีทั้ง 1.ความเข้มแข็ง 2.ความยั่งยืน และ 3.ความพร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้น ก็จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ และความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย...

นายสด แดงเอียด รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนมุมมองผ่านสายตาของผู้ทำงานในแวดวงโบราณคดีมาตลอดชีวิตว่า การจะตั้งศูนย์ให้มีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ได้จริงนั้น ท้องถิ่นเองถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องมีความรัก ความผูกพัน การเห็นคุณค่า และความหวงแหนต่อมรดกทางแผ่นดินที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งไม่อาจอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณและบุคลากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย

“หากชุมชนเล็งเห็นความสำคัญและลงทุนลงแรงให้เกิดศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ยินดีให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเต็มที่ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องนำสิ่งที่ขุดค้นมาจัดแสดงไว้ทั้งหมดก็ได้ แต่ควรนำมาจัดแสดงเพียงบางส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการลงทุน ตลอดจนการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม” รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แนะนำถึงความเป็นไปได้ของการริเริ่มจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ

ขณะที่ นางนวลปราง แบขุนทด ชาวบ้านในพื้นที่ หนึ่งในลูกมือทีมวิจัยขุดค้น ได้ตอบรับแนวทางข้างต้นตลอดจนความพยายามในการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลฯ เป็นอย่างดี บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลฯ มากมากยิ่งขึ้น โดยเธอแสดงความคิดเห็นว่า โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้มีศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

อยากให้มีศูนย์หรือพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเลย คนในพื้นที่จะได้มีงานทำ และอาจจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ชาวบ้านก็มีรายได้จากการนำข้าวของไปขาย มีการเก็บค่าผ่านประดู มีรายได้เข้าชุมชนจุนเจือหมู่บ้าน หมู่บ้านจะได้มีความเจริญขึ้น แม้ว่าอาจจะมีความวุ่นวายเข้ามามากขึ้น ทำให้หมู่บ้านไม่เงียบสงบเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ต้องระวัง แต่ก็คิดว่าเราจะได้ประโยชน์ คือคิดแล้วว่าน่าจะได้มากกว่าเสีย” นางนวลปราง กล่าวทิ้งท้ายยืนยันถึงความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งรอคอยการมาถึงของศูนย์ข้อมูลฯ พร้อมๆ กับความเจริญที่จะติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายนี้ จึงหวังได้เพียงว่า แม้การขุดค้นแหล่งอารยธรรมซึ่งบ่งชี้ให้เราได้เห็นถึงรากเหง้าและต้นสายวัฒนธรรมและชนชาติไทยบนที่ราบสูงอีสานแห่งนี้จะต้องปิดฉากลงอย่างสงบ พร้อมๆ กับหน้าดินที่จะถูกเกลี่ยลงบนหลุมที่ทำการขุดค้นจนการปรับหน้าดินเสมอกันทั้งผืนจนดูประหนึ่งผืนดินที่ไม่เคยมีการขุดค้นใดๆ มาก่อนเมื่อคณะวิจัยของ ศ.ชาร์ลส์ เดินทางกลับประเทศหลังจากสิ้นสุดการวิจัยในปีหน้านี้

ทว่า เรื่องราวของสุสานโบราณบ้านโนนวัดต่อจากนี้ก็จะยังดำเนินต่อไป และเชื่อมั่นว่าเมื่อใดที่ศูนย์ข้อมูลก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ทรงคุณค่า และเปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณอีกแห่งหนึ่ง ที่จะได้รับการตอบรับจากผู้คนผู้สนใจในรากเหง้าและประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไปอย่างแน่นอน






นวลปราง แบขุนทด ลูกมือทีมวิจัย และชาวบ้านในพื้นที่





กำลังโหลดความคิดเห็น