xs
xsm
sm
md
lg

"จันทร์สีอิฐ" คราสแรกแห่งปีในคืนเพ็ญมาฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร่วมสังเกตปรากฎการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" คราสแรกในคืนเดือนเพ็ญ ปรากฎการณ์เริ่มตั้งแต่ตี 3 แต่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ในช่วงเวลา 04.30 น. และปรากฎการณ์จบลงในเวลา 06.37 ทว่าราหูอมจันทร์จะไม่ทำให้จันทร์ดับสนิท เพราะแสงอาทิตย์จะหักเหไปตกที่ผิวจันทร์เห็นเป็นสีแดงอิฐ สะท้อนสภาพมลภาวะบนโลก นัดพบคราสครั้งต่อไป 19 มี.ค.นี้


จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อเวลา 05.44 น. (ภาพสมาคมดาราศาสตร์)


ขณะที่คืนเดือนเพ็ญในวัน “มาฆบูชา” ได้ผ่านพ้นไป และการบดบังดวงจันทร์ของคราสในการเกิด “จันทรุปราคา” เร่มขึ้นเมื่อก้าวย่างวันที่ 4 มี.ค. ทีมงาน “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ก็ได้ร่วมตามติดการบันทึกปรากฏการณ์บนฟากฟ้านี้ร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทย

การบันทึกภาพจันทรุปราคาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 04.30 น.ซึ่งเป็นเวลาที่เงามืดเข้าสัมผัสดวงจันทร์เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วน หากสังเกตจะเห็นว่าบนซีกซ้ายบนของดวงจันทร์เริ่มแหว่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ฯ เผยว่าจะบันทึกภาพจนกระทั่งแสงจากดวงอาทิตย์บดบังปรากฏการณ์จนไม่สามารถถ่ายได้


ลำดับขั้นการเกิดจันทรุปราคาจากบางส่วนจนถึงเต็มดวงเต็มดวงเมื่อเวลา 05.44 น. (ภาพเอพี)


ทั้งนี้นายปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ฯ และนักศึกษาวิศวกรรมอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน (Technische Universität Dresden) ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า คราสจะเต็มดวงในเวลา 05.44 น. ซึ่งจันทร์จะอยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 8 องศา และมีเวลาบันทึกภาพปรากฏการณ์อีกประมาณครึ่งชั่วโมง

ขณะที่เวลา 06.21 น.ซึ่งเป็นเวลากึ่งกลางคราส (Mid Eclipse) คือ จันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุดนั้น จันทร์อยู่จากขอบฟ้าเพียง 3 องศา ทำให้ในส่วนของประเทศไทยไม่สามารถบันทึกภาพได้ แต่หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นคราสเต็มดวงในช่วงเวลาสั้นๆ ถึงเวลา 05.50 น.เท่านั้น และบันทึกภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ถึงเวลา 06.10 น.

พร้อมกันนี้นายปณัฐพงศ์ยังอธิบายว่าภาพปรากฏของจันทรุปราคาเต็มดวงไม่ได้เห็นเป็นสีดำสนิทหากแต่จะเห็นเป็นสีส้มแดง ทั้งนี้เพราะเกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศโลกซึ่งประกอบไปด้วยฝุ่นผงจำนวนมาก จึงทำให้เงาของโลกไม่มืดสนิท และหากโลกไม่มีชั้นบรรยากาศเมื่อเกิดคราสเต็มดวงจะทำให้ภาพปรากฏของดวงจันทร์หายไปจากท้องฟ้า

สีของดวงจันทร์ที่ปรากฏขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงก็บ่งบอกถึงสภาพมลภาวะในอากาศได้ระดับหนึ่ง ซึ่งนายปณัฐพงศ์ได้อธิบายว่าหากบรรยากาศเต็มไปด้วยฝุ่นจะทำให้ชั้นบรรยากาศหนาทึบส่งผลให้สีของดวงจันทร์ระหว่างเกิดคราสเต็มดวงมีสีคล้ำลงคล้ายสีแดงอิฐ และยิ่งมีมลภาวะมากยิ่งขึ้นทำให้แสงดวงอาทิตย์หักเหผ่านชั้นบรรยากาศได้น้อยลงจนในที่สุดดวงจันทร์จะเลือนหายไปจากท้องฟ้าระหว่างเกิดคราสเต็มดวง แต่กรณีหลังสุดยังไม่เคยเกิดขึ้น

"เมื่อ 124 ปีที่แล้วเกิดการระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว ประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้บรรยากาศของโลกหนาทึบเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลาหลายปี มีฝุ่นเต็มชั้นบรรยากาศ ภายหลังการระเบิดครั้งนั้นได้มีการสังเกตสีดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งฝรั่งได้บันทึกว่าเป็น "บลูมูน" (blue Moon)" น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ฯ ช่วยยกตัวอย่างมลภาวะที่มีผลต่อสีของดวงจันทร์หลังเกิดคราสเต็มดวง

ด้านนายพรชัย อมรศรีจิรทร กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ฯ อธิบายเหตุผลที่ไม่สามารถสังเกตจันทรุปราคาด้วยตาเปล่าในเวลาประมาณ 05.50 น.ได้ ทั้งที่ควรจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มแดง เนื่องจากความสว่างพื้นหลังของท้องฟ้ามีความสว่างมากกว่าความสว่างของดวงจันทร์ที่มีเพียงแสงโลกเท่านั้นที่ส่องไปถึง (Earth's shine)

จันทรุปราคาครั้งนี้นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่สังเกตเห็นได้จากประเทศไทย และเป็นอุปราคาครั้งแรกใน 4 ครั้งที่เกิดในปีนี้ ซึ่งครั้งถัดไปคือเช้าวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เวลาที่เกิดแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ เห็นตั้งแต่เวลา 07.47 - 08.57 น. ดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดในเวลา 08.21 น.

ครั้งถัดไปคือจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงหัวค่ำของวันอังคารที่ 28 ส.ค. แต่ประเทศไทยจะสังเกตเห็นในช่วงท้ายของปรากฏการณ์ ส่วนครั้งสุดท้ายของปีคือวันที่ 11 ก.ย.จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนท้องฟ้าเหนือประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้












กำลังโหลดความคิดเห็น