xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่มั่นคงในจิตใจทำร้ายระบบภูมิคุ้มกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยแดนมักกะโรนีระบุ ความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ อาจบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและไว้ใจซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผลพวงจากความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวมีผลต่อรูปแบบความผูกพันเช่นเดียวกัน

ดร.แองเจโล ปิการ์ดี (Angelo Picardi) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอิตาลี (Italian National Institute of Health) อธิบายว่า คนที่รู้สึกไม่มั่นคงกับความสัมพันธ์จะมีปัญหาในการไว้ใจและพึ่งพาผู้อื่น รู้สึกลำบากใจในการให้ความใกล้ชิดสนิทสนม หรือกังวลว่าจะถูกคนรักทอดทิ้ง

การศึกษาที่เผยแพร่อยู่ในวารสารไซโคโซเมติก เมดิซิน (Psychosomatic Medicine) มุ่งตอบโจทย์ว่าความรู้สึกดังกล่าวมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันหรือไม่ โดยทีมนักวิจัยคัดเลือกพยาบาลหญิง 61 คนอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ไม่มีโรคเรื้อรัง และไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคจิตประสาทร้ายแรงเข้าสู่การทดลอง

กลุ่มตัวอย่างต้องทำแบบสอบถาม เพื่อประเมินว่ามีสัญญาณของความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ปรากฏอยู่หรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีการตรวจสอบเพื่อวัดตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมถึงศักยภาพของเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ฆ่าผู้บุกรุก เช่น เชื้อโรค

นักวิจัยพบว่า เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้หญิงที่มีความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์อย่างมาก มีประสิทธิภาพต่ำกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองคนอื่นๆ อย่างไรก็ดี ไม่มีความเกี่ยวพันระหว่างจำนวนเซลล์ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ บ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่กิจกรรมการทำงานของเซลล์เท่านั้น

ในการศึกษาก่อนหน้านี้ ปิการ์ดีรายงานว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกไม่มั่นใจในความผูกพันกับโรคผิวหนังบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคสะเก็ดเงิน

ดร.ปิการ์ดียอมรับว่า รายงานล่าสุดยังเป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้น ซึ่งจำเป็นต้องทดลองซ้ำและสืบค้นเพิ่มเติมต่อไป ณ ขณะนี้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า กิจกรรมที่ลดลงของเซลล์ภูมิคุ้มกันมีผลทำให้บุคคลผู้นั้นอ่อนแอต่อโรคมากขึ้นหรือไม่

“แต่ที่รู้ก็คือ สภาพจิตใจเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน”

ไลลา คอลลินส์ ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมิดเดิลเซ็กซ์ อังกฤษ เสริมว่าความเกี่ยวพันระหว่างความเครียดกับภาวะภูมิคุ้มกันถูกกด ซึ่งหมายถึงการที่คนเรามักป่วยเวลาที่เครียดมากๆ นั้น เป็นสิ่งที่รู้กันมานานแล้ว กระนั้น การค้นพบนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ฟิล อีแวนส์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ อังกฤษ สำทับว่า คนที่ไม่มั่นใจในความสัมพันธ์อาจอ่อนแอต่อผลกระทบจากความเครียดมากกว่าคนทั่วไป

กำลังโหลดความคิดเห็น