xs
xsm
sm
md
lg

Alexandria ในอดีตและปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพวาดประภาคาร Pharos สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกที่ปากอ่าวเมือง Alexandria
ในสมัยที่ Aristotle สอนอยู่ที่ Lyceum ในกรุง Athens ประเทศกรีซนั้น จักรพรรดิ Alexander มหาราช กำลังทำสงครามพิชิตอาณาจักรต่าง ๆ ใน Mesopotamia กับ Egypt และเมื่อพระองค์ทรงพิชิตอาณาจักรไอยคุปต์ได้แล้ว ตำนานเล่าว่า ใน พ.ศ. 211 Alexander ทรงสุบินเห็นกวี Homer มาทูลเสนอให้พระองค์ทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นระหว่างทะเล Mediteranean กับทะเลสาบ Mareotis พระองค์จึงทรงมีบัญชาให้สร้างเมือง Alexandria ขึ้นทันที เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 220 กษัตริย์ Ptolemy ก็ได้สถาปนาเมือง Alexandria ขึ้นเป็นเมืองหลวงของอียิปต์ และภายในเวลาอีกไม่นาน เมืองนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชย์ เมืองท่า ที่มีวิหารแบบกรีกรวมถึง มีพระราชวังที่โอ่อ่า และมีห้องสมุดแห่งแรกของโลกด้วย

เพราะ Ptolemy นอกจากจะทรงเป็นนายทัพผู้สามารถแล้ว ก็ยังทรงเป็นนักปราชญ์ด้วย ดังนั้น จึงทรงโปรดการเสวนากับนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์เนืองๆ จนทำให้เหล่าปราชญ์พากันมาเข้าเฝ้ามากมาย

เมื่อ Alexander เสด็จสวรรคต พระโอรสของพระองค์ได้ทรงทะนุบำรุงเมือง Alexandria ต่อไป จนเมืองๆ นี้เป็นตักศิลาให้ปราชญ์ทั่วโลกมาศึกษา สอน และวิจัยนานร่วม 700 ปี ความเจริญรุ่งเรือง ทำให้เมืองมีอาคารสูง สวนสวย น้ำพุ รูปปั้น มากมาย และห้องสมุดที่มีผลงานของ Aristotle และวรรณกรรมกรีกมากมาย ทั้งนี้เพราะผู้ครองนคร Alexandria ได้ออกกฎหมายบังคับให้แขกบ้านแขกเมืองทุกคนที่ไปเยือน ต้องบริจาคหนังสือให้ห้องสมุด 1 เล่ม จนในที่สุดห้องสมุดมีหนังสือประมาณ 7 แสนเล่ม ด้วยเหตุนี้ Alexandria จึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของโลกแทน Athens จนคนกรีก คนโรมัน ต่างก็เดินทางมารับการศึกษาที่ Alexandria เหมือนกับที่นักศึกษาในสมัยกลางเดินทางไปศึกษาที่ Rome หรือ Paris

ระบบการเรียนการสอนที่ Alexandria นี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ Lyceum ของ Aristotle และที่ Academy ของ Plato คือ ชาวอียิปต์ และชาวอาหรับไม่ชอบเรียนอะไรๆ ที่เป็นนามธรรม เช่น วิชาคณิตศาสตร์ หรือเรขาคณิต แต่ชอบเรียนวิชาที่เป็นรูปธรรม เช่น กลศาสตร์มากกว่า

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า Alexandria เคยมีปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเคยมาทำงาน 3 คน คือ

1. Euclid ผู้สร้างวิชาเรขาคณิต ซึ่งเคยทำงานที่ Alexandria เมื่อประมาณ พ.ศ. 300 และได้เรียบเรียงตำรา Geometry ขึ้น เพื่อใช้สอน แต่เรขาคณิตในสมัยนั้นไม่ได้เรียกว่า เรขาคณิต แต่เรียกว่า Euclid แทน นอกจากนี้ Euclid ยังได้รวบรวมและเรียบเรียงผลงานของปราชญ์กรีก เช่น Thales และ Pythagoras ขึ้นเป็นตำราสอนด้วย

2. Archimedes ผู้ถือกำเนิดที่ Syracuse บนเกาะ Sicily ใน พ.ศ. 256 ได้เคยเดินทางไปศึกษาที่ Alexandria เมื่อเดินทางกลับ Syracuse ได้อุทิศชีวิตศึกษาทดลองวิจัยวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จนรู้กฎการลอย กฎของคาน และประดิษฐ์สกรูทดน้ำเข้านาให้ผู้คนใช้จนทุกวันนี้

3. Ptolemy ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ และนักทำแผนที่ที่มีความสามารถมาก และเป็นผู้เขียนหนังสือ ชื่อ Almagest ซึ่งแปลว่า ระบบที่ยิ่งใหญ่ สำหรับใช้สอนดาราศาสตร์เป็นเวลานานหลายศตวรรษ โดยอ้างถึงคำสอนของ Aristotle เป็นหลัก เช่น โลกอยู่นิ่งไม่เคลื่อนที่ มีลักษณะกลม และดาวบนฟ้าทุกดวงโคจรรอบโลก Ptolemy ยังมีผลงานด้านภูมิศาสตร์ด้วย เช่น ได้ทำแผนที่ของจีน อินเดีย และนอยเวร์ ที่มีเส้นรุ้ง เส้นแวงกำกับด้วย

นอกจากนี้ Alexandria ก็ยังมีประภาคาร Pharos ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งในเจ็ดสิ่งของโลกโบราณด้วย ซึ่งประภาคารนี้ได้ทำหน้าที่ส่องไฟ นำเรือโดยสารและเรือสินค้าต่างๆ ที่มาติดต่อกับชาวเมือง Alexandria จนเมืองนี้มีความมั่งคั่งและสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในสมัยนั้น

เมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลาย ชาวโรมันที่อาศัยอยู่ที่กรุง Rome และ Constantinople ต่างก็ประสบภาวะโกลาหลอลหม่าน เมือง Alexandria ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจนเมืองทั้งเมืองได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์

แต่เมื่อถึงวันนี้ Alexandria ซึ่งล่ำลือกันว่ามีสุสานของ Alexander มหาราช และเป็นเมืองที่ Cleopatra สิ้นพระชนม์กำลังเป็นจุดสนใจของนักวิชาการอีก เพราะได้มีการขุดพบโบราณวัตถุใต้ทะเล Mediteranean มากมาย โดยเฉพาะในบริเวณหมู่บ้านนอกเมืองก็มีการขุดพบสิ่งปรักหักพังที่แสดงให้เห็นว่า เมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของปัญญาชนในอดีตเป็นเวลานานกว่าที่นักประวัติศาสตร์เคยรู้

ข้อมูลใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า ความหายนะด้านสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Alexandria ล่ม ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ที่เคยคิดว่า ความวุ่นวายทางการเมืองและศาสนาในเมืองคือสาเหตุสำคัญ

ใน พ.ศ. 2534 เมื่อรัฐบาล Egypt ได้อนุญาตให้ Jean Yves Empereur แห่ง Centre for Scientific Research ที่กรุง Paris ขุดหาโบราณวัตถุ ณ บริเวณใกล้เมือง Alexandria วิศวกร Empereur ได้รายงานว่า ณ ที่ลึกลงไปใต้ดินราว 10 - 12 เมตร มีซากเมืองเก่า ซึ่งคิดเป็น 1% ของเมืองทั้งหมด ถึงแม้ข้อมูลนี้จะน้อยในเชิงปริมาณ แต่ก็มากพอที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของเมืองหมด เพราะในอดีตนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เมื่อห้องสมุด Alexandria ถูกเผา ภายในเวลาเพียง 100 ปีหลังจากนั้น ปราชญ์ต่างๆ ได้อพยพหนีออกจากเมืองหมด การขุดพบซากหินของห้องบรรยายขนาดใหญ่ที่มีที่นั่งตรงกลางสำหรับอาจารย์ และที่นั่งเล็กๆ เรียงรายรอบสำหรับศิษย์ และห้องที่มีอายุ 1,500 ปีนี้แสดงให้เห็นว่า Alexandria มีกิจกรรมวิชาการจนถึงสมัยที่อาหรับเข้ายึดครอง

ใน พ.ศ. 2541 Franck Goddio นักธุรกิจฝรั่งเศสผู้ลุ่มหลงในวิชาโบราณคดีใต้ทะเลจนถึงกับได้รับฉายาว่าเป็น Jacque Cousteau แห่งโบราณคดีใต้น้ำ ได้พบอนุสาวรีย์อายุ 2,000 ปีฝังอยู่ในบริเวณอ่าวต่ำกว่าผิวน้ำที่ระดับลึก 7.5 เมตร การวิเคราะห์สิ่งหักพัง ทำให้และ Jean - Daniel Stanley แห่งสถาบัน Smithsonean ของสหรัฐอเมริการู้ว่า ชาวเมืองถลุงตะกั่วเป็นเมื่อ 4,000 ปี ก่อนนี้แล้ว

การค้นพบเหล่านี้ช่วยให้นักประวัติศาสตร์เห็นภาพหยาบๆ ของเมืองได้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะ Stanley นั้นได้พบอีกว่า นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว คลื่นสึนามิ และการทรุดของดินเพราะถูกวัตถุหนัก เช่น อาคารกดดัน ทำให้ Alexandria จมธรณีไปในที่สุด และเมื่อเมืองประสบกับแผนดินไหวถล่มบ่อยในศตวรรษที่ 9 และ 11 จนบ้านและอาคารใน Alexandria และเมืองใกล้เคียง เช่น Aboukir, Bay, Herakleion, Canopees และ Menouthis ก็ถูกถล่มด้วย โดยเฉพาะใน พ.ศ. 928 นั้น คลื่นยักษ์สึนามิได้พุ่งเข้าทำลายเมือง Alexandria ด้วย

งานวิจัยของ Stanley ของนักธรณีวิทยา จึงสนับสนุนความคิดที่ว่า ภัยธรรมชาติ (แผ่นดินไหว สึนามิ) และการทรุดของแผ่นดิน โดยเฉพาะการเคลื่อนตัวของชั้นดินในบริเวณปากน้ำ ที่ Alexandria ตั้งอยู่ล้วนมีบทบาททำให้ Alexandria เป็นเมืองที่โลกลืม

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 Goddio ได้จัดประชุม International Conference on The Archaeology of Aneient Alexandria ที่ประชุมได้ฟังรายงานการค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับคู คลอง ท่า ถนนหนทางใน Alexandria โบราณ เพื่อให้เข้าใจชีวิตของคน Alexandria ในอดีต และให้ทุกคนตระหนักว่า การเจริญเติบโตของเมืองตามบริเวณฝั่งแม่น้ำ หรือทะเล ถ้าเมืองนั้นตั้งอยู่บนดินปากแม่น้ำที่ไม่มั่นคง ความใหญ่โตของเมืองอาจทำให้เมืองทรุดลงๆ จนถูกน้ำท่วมเอาๆ และจมหายไปในที่สุด Venice, New Orleans และ Bangkok คือเมืองที่เข้าเกณฑ์นี้ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท



กำลังโหลดความคิดเห็น