xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีรับวันนักประดิษฐ์ไทย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาสากลทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสูงสุดแด่ในหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาวิจัยแห่งชาติลั่นกลองเปิดงานวันนักประดิษฐ์ 50 เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านเลขาธิการ วช.เผยองค์การทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติมอบรางวัลสูงสุดด้านผู้นำของโลกแด่ในหลวง ยกย่องทรงเป็นกษัตริย์นักประดิษฐ์ระดับสากล ส่วนธีรภัทร์ชี้รัฐบาลเตรียมพิจารณาเพิ่มงบประมาณการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม หลังพบสถิติคนไทยจดทะเบียนสิทธิบัตรสูงขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2550” ขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมี รศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสภาวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และ ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. ร่วมพิธีเปิดงานเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.พ.

ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า วันนักประดิษฐ์จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นของนักประดิษฐ์ไทย ตลอดจนเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจการประดิษฐ์ทั่วไป ซึ่งคาดหวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศอย่างกว้างขวาง และเป็นการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยให้ก้าวหน้ามั่นคงต่อไป

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2549 จากการที่ทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในพระองค์

ผลงานในพระองค์ที่กล่าวถึง คือ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าถวายฯ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 โดยเป็นการถวายสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก อีกทั้งยังหวังด้วยว่าการจัดงานครั้งนี้ยังจะเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทยให้เป็นที่รู้จักและเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจและสังคม

การจัดงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานวันประดิษฐ์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ วช.เคยจัดมา โดยมี 14 ประเทศนำผลงานสิ่งประดิษฐ์มาร่วมจัดแสดง จึงคาดว่าจะได้รับตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่าจะมีผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า 50,000-70,000 คนตลอด 5 วันของการจัดงาน

นอกจากนี้ เลขาธิการ วช. กล่าวอีกว่า ยังมีข่าวดีที่คนไทยจะได้ปลาบปลื้มใจในพระอัจฉริยภาพด้วย เมื่อ วช.ได้รับแจ้งจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ (WIPO: ไวโป) ว่า จากที่ วช.ได้นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกผลงานต่อไวโป ขณะนี้ ไวโปได้พิจารณาทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสูงสุดครั้งแรกขององค์กร คือรางวัล “โกลบอล ลีดเดอร์ส อะวอร์ด” (Global Leaders Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เลขาธิการ วช. เผยด้วยว่า สาเหตุที่ไวโปได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าวเนื่องจากเล็งเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักประดิษฐ์ที่มีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจนเป็นที่ประจักษ์ทั่วโลก และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยมอบให้แก่ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสั่งสมเรื่อยมา ซึ่ง วช.จะได้นำเรื่องดังกล่าวทูลเกล้าฯ และขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำผู้แทนไวโปเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในลำดับต่อไป

ด้าน รศ.ธีรภัทร์ กล่าวว่า พระราชสมัญญาพระบิดาแห่งนักประดิษฐ์ไทยนั้น นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นการทูลเกล้าฯ ขอให้พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักประดิษฐ์ไทยได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งระยะหลังมานี้คนไทยได้ให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตรมากขึ้น สังเกตได้จากสถิติการจดสิทธิบัตรของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ยืนยันได้ถึงความสามารถของคนไทยที่ไม่น้อยหน้ากว่าประเทศใดๆ ในโลก

“ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีขีดความสามารถจำกัดในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมทุนปัญญาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลกยุคไร้พรมแดน จึงเป็นที่ยอมรับว่าการประดิษฐ์คิดค้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคงและมั่งคั่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่น่าภาคภูมิใจที่ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยมีวิวัฒนาการทัดเทียมสากล”

รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการวิจัยพัฒนาและการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาโดยนักประดิษฐ์ไทย โดยรัฐบาลจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการประดิษฐ์ทุกภาคส่วน ทั้งเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาและนักวิจัยในหน่วยวิจัยต่างๆ ได้วิจัยพัฒนาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ด้วย อาทิ งานวิจัยที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศ เช่น การส่งออกกล้วยไม้ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และการส่งออกดอกปทุมมาที่เป็นผลจากงานวิจัยของ วช.ที่มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 300 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2550 ประกอบไปด้วยซุ้มนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 3 ส่วนคือ นิทรรศการและการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “กังหันน้ำชัยพัฒนา” นิทรรศการและการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ผลงาน “ศิลปาชีพ” ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

และการจัดนิทรรศการผลงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2545 และรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ประจำปี 2533 ในเรื่อง “การรักษาความถูกต้องของแผนที่การใช้ที่ดินจากภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง ซึ่งจำแนกโดยคอมพิวเตอร์บริเวณจังหวัดนราธิวาส”

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการแสดงผลงานของผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งผลงานประดิษฐ์คิดค้นจาก 4 ภูมิภาค ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มาร่วมจัดแสดงกว่า 800 ผลงาน และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากต่างประเทศอีก 14 ประเทศ ตลอดจนการจัดสัมมนาเนื่องในวันนักประดิษฐ์อีก 27 หัวข้อ การจัดประกวดผลงานของนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ และการฝึกอบรมผลงานประดิษฐ์คิดค้นกว่า 60 รายการ อย่างการสอนทำดอกกุหลาบจากกระดาษสา การทำเทียนหอมปรับอากาศ และการเพ้นท์เล็บ

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช.

กำลังโหลดความคิดเห็น