xs
xsm
sm
md
lg

มีมาตรฐาน “การวัด” ประหยัดต้นทุนผลไม้กระป๋องปีละ 100 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในชีวิตประจำหากจะถูกแม่ค้าโกงตาชั่งหรือส้มหายไปบ้าง 1-2 ขีด ก็อาจไม่ทำให้เดือดร้อนมากนัก แต่ลองจินตนาการดูว่าหากตาชั่งร้านทองผิดพลาดแค่ 0.1 กรัม จะเสียหายไปเท่าไร ความแม่นยำของตาชั่งจึงมีความสำคัญที่จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า และช่วยเหลือผู้ทำมาค้าขายได้ แต่ใช่เพียงการชั่งน้ำหนักเท่านั้นที่จะต้องแม่นยำ ในโลกนี้ยังมีการวัดอีกมากมายที่ต้องควบคุมมาตรฐาน

นายวีระ ตุลาสมบัติ หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างความสำคัญของการวัดในอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องว่า ผลไม้กระป๋องที่จะส่งออกนั้นต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่าที่ต่างประเทศกำหนด ไม่เช่นนั้นสินค้าจะถูกส่งกลับ ซึ่งเคยมีผู้ประกอบที่กลัวสินค้าถูกตีกลับได้เพิ่มความหวานให้มากจนเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำด้วยไม่แน่ใจในการวัดระดับความหวาน แต่เมื่อคำนวณต้นทุนของความหวานที่เผื่อไว้พบว่าต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายถึง 100 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้หากการวัดความหวานมีความแม่นยำก็จะช่วยลดความสูญเสียดังกล่าวได้

นอกจากตัวอย่างดังกล่าวแล้วนายวีระยังยกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของมาตรฐานการวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมให้มีความผิดพลาดได้เท่าไร เช่น เราต้องการโต๊ะ 1 ตัวที่มีความกว้าง 2 ฟุต แต่ช่างทำเกินมา 2 นิ้ว ก็อาจจะไม่เป็นปัญหามาก แต่ถ้าเป็นประตูจะผิดพลาดขนาดนั้นไม่ได้ เพราะหากประตูใหญ่เกินไปก็ปิดไม่ได้และเล็กเกินไปก็ปิดไม่สนิท หรือถ้าเป็นลูกสูบรถยนต์ยิ่งต้องมีความละเอียดมาก ยอมให้ผิดพลาดได้ในหน่วยไมครอนหรือ 1 ในล้านเมตร

ในส่วนเชิงกลที่นายวีระรับผิดชอบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามาตรฐานการวัดทางกายภาพและเกี่ยวกับมาตรฐานการวัดแรง เขาชี้ว่ามาตรฐานการวัดแรงนั้นเห็นได้ชัดในสิ่งก่อสร้าง เช่น สะพาน ตึก เป็นต้น สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เห็นว่าคงอยู่ได้นั้นต้องผ่านการคำนวณแรงที่แต่ละโครงสร้างรับได้ เช่น เสาอาคารรับน้ำหนัก 10,000 ตัน เครื่องมือต้องวัดได้แม่นยำว่าออกแบบเสาให้รับน้ำหนักได้ตามนั้นจริง และต้องเผื่อค่าความปลอดภัย (Safety Factor) ไว้ 2-3 เท่า แต่ทั้งนี้ก็มีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะหากเผื่อมากก็ปลอดภัยแต่ก็มีต้นทุนสูง จึงต้องหาวิธีที่ความสมดุลคือมีความปลอดภัยและประหยัดต้นทุน

“การวัดแรงให้ถูกต้องจึงสำคัญ” นายวีระกล่าว พร้อมทั้งบอกภาระงานของหน่วยงานว่าคือการสร้างมาตรฐานของการวัด โดยจะมีห้องปฏิบัติการต่างๆ เข้ามาสอบเทียบเครื่องมือเพื่อนำไปสอบเทียบเครื่องมือวัดให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้การวัดมีมาตรฐาน ทั้งนี้การเป็นการทำงานในลักษณะปิรามิดที่ มว.อยู่ปลายยอดแล้วถ่ายถอดมาตรฐานให้กับหน่วยงานที่เข้ามาสอบเทียบเครื่องมือวัดเพื่อให้ไปถ่ายทอดมาตรฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่ง มว.ไม่สามารถรับผิดชอบสอบเทียบให้กับทุกอุตสาหกรรมได้เนื่องจากเป็นหน่วยงานเดียวที่ทำเรื่องนี้ ซึ่งทั่วโลกก็ใช้ระบบเดียวกันนี้ในการรักษามาตรฐานการวัด

ทั้งนี้ทุกประเทศต้องมีมาตรฐานของตัวเองและมาตรฐานดังกล่าวต้องใช้ได้กับทั่วโลก ซึ่งนายวีระได้ยกอีกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า เมื่อก่อนญี่ปุ่นอาจผลิตรถยนต์ทั้งคัน แต่ปัจจุบันเขาจ้างหลายประเทศผลิตชิ้น เช่น ไทยอาจผลิตล้อเพราะยางถูกเนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบ และอีกประเทศหนึ่งอาจจะผลิตน็อต ส่วนเกลียวอาจผลิตในอีกประเทศหนึ่ง เมื่อนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบต้องเข้ากันได้ มาตรฐานการวัดที่เหมือนกันทั่วโลกจึงเป็นอีกความจำเป็น

พร้อมกันนี้เพื่อสร้างมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนจึงได้มีการจัดสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านมาตรฐานการวัดระดับอาเซียนครั้งที่ 5 “5th ASEAN Seminar and Workshop on Measurement Standards in Bangkok” เรื่องมาตรฐานการวัดมุม (Angle Standard) และมาตรฐานการวัดแรง (Force Standard) ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ.นี้

ดร.เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการ มว.กล่าวว่า มีตัวแทนจากญี่ปุ่นและอาเซียน 10 ประเทศ อาทิ ลาว เวียดนาม สิงคโปร์เข้าร่วมสัมมนา โดยจะมีการฝึกภาคปฏิบัติ ณ อาคารผดุงมาตร สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ รังสิต คลอง 5 จ.ปทุมธานี ให้กับตัวแทนประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 10 คน และมีตัวแทนจากไทย 2 คนเข้าร่วม ในส่วนของการฟังบรรยายมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน เป็นตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 35 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น