ทุกปีนักท่องเที่ยวจำนวนหมื่นจากทั่วโลกจะเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปเยือนเกาะ Easter ซึ่งตั้งห่างจากเกาะ Pitcairn ไปทิศทางตะวันออก 2,000 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ Chile 3,700 กิโลเมตร เกาะนี้เป็นเกาะที่นักสำรวจชาวเนเธอร์แลนด์ ชื่อ Jacob Roggeveen ได้เห็นเป็นครั้งแรกในวันอีสเตอร์ของปี พ.ศ. 2265 เขาจึงตั้งชื่อมันว่าเกาะ Easter และรู้สึกตกใจมากที่เห็นอนุสาวรีย์หินขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งชาวเกาะเรียก moai วางเรียงรายตามชายฝั่ง เพราะเขาคิดว่าผู้คนบนเกาะคงมีร่างกายสูงใหญ่เยี่ยงยักษ์ จึงได้สร้างหัวหินให้มีขนาดใหญ่ถึงเพียงนั้นได้ แต่เขาก็ได้พบว่า ชาวเกาะมีร่างกายและรูปร่างเหมือนคนทั่วไป อีก 32 ปีต่อมา กัปตัน James Cook แห่งอังกฤษก็ได้เดินทางไปเยือนเกาะนี้บ้าง และได้สังเกตเห็นว่า ชาวเกาะมีร่างเล็ก ผอม และใบหน้าซีดเศร้าตลอดเวลา ณ วันนี้ เกาะ Easter เป็นถิ่นท่องเที่ยวหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่แพ้เกาะฮาวาย และ Tahiti เพราะนอกจากจะสวยแล้วก็ยังมีปริศนาหนึ่งที่เป็นที่ค้างคาใจคนที่ไปเยือน คือ ใคร สร้างหัวหิน เหล่านั้นและสร้างเพื่ออะไร แล้วมีอะไรเกิดขึ้นกับชาวเกาะที่สร้างอนุสาวรีย์หินเหล่านี้
การศึกษาประวัติความเป็นมาของเกาะทำให้เรารู้ว่า เกาะมีพื้นที่ 170 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลเมื่อ 5 ล้านปีก่อน ตามปกติชาวเกาะเรียกตนเองว่า Rapanui และเรียกเกาะที่อาศัยว่า Rapa Nui เพราะในอดีตเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน ชาว Polynesian ได้อพยพมาอาศัยเกาะจึงมีประชากรมาก และคนเหล่านี้ได้ระดมพลสร้างอนุสาวรีย์หินขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยได้ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเอาไม้ไปขนหิน จนไม้หมดป่า ทำให้เกาะมีฝนตกน้อย และผิดฤดูกาลจนในที่สุดได้เกิดทุพภิกขภัยรุนแรง การขาดแคลนอาหารทำให้เกิดสงครามกลางเมืองบนเกาะผู้คนฆ่ากันและกินเนื้อกันเองอย่างป่าเถื่อนที่สุด จนในที่สุดอารยธรรมของคนเกาะล่มสลาย
นี่คือเหตุผลที่ Jared Diamond ผู้เป็นนักภูมิศาสตร์ และนักสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Los Angeles ได้ให้ไว้อย่างชัดเจนว่า ภายในเวลาเพียง 200 - 300 ปี ชาวเกาะ Easter ก็ได้ทำลายป่าบนเกาะจนราบเรียบ และได้ฆ่าสัตว์เกาะหลายชนิดจนสูญพันธุ์ และเมื่อมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมถึงระดับหนึ่ง ในที่สุด สิ่งแวดล้อมก็จะทำลายมนุษย์กลับบ้าง ความคิดของ Diamond ที่ปรากฏในนิตยสาร The New York Review of Books ฉบับวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2547 ตรงกับที่ได้เคยเสนอในวารสาร Nature ฉบับที่ 431 หน้า 443 - 446 ปี 2547 เช่นกันว่า การสูญเสียป่า ทำให้ชาวเกาะไม่สามารถดำรงชีวิตบนเกาะได้อีกต่อไป ดังนั้น การล่มสลายของอารยธรรมบนเกาะ Easter จึงไม่ได้เกิดจากการไร้วิสัยทัศน์ของชาวเกาะ แต่เกิดจากความไม่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพราะผู้คนพยายามสร้างถาวรวัตถุ โดยลืมคิดเรื่องความยั่งยืนของระบบนิเวศ และในหนังสือ ชื่อ Collapse ที่ Jared Diamond เขียนเมื่อปี 2548 Diamond ได้ตอกย้ำว่า เหตุการณ์บนเกาะ Rapa Nui คือ ตัวอย่างของสังคมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดย Diamond ได้หลักฐาน จากข้อมูลว่า ประชากรชาวเกาะเคยมีกว่า 150,000 คน และคนเหล่านี้ได้ทำลายป่าจนหมดสิ้น ไม่เพียงแต่ Diamond เท่านั้นที่เชื่อเช่นนี้ John R. Flenley แห่งมหาวิทยาลัย Massey ใน New Zealand และ Paul G. Bahn ก็เชื่อในทำนองเดียวกัน เพราะในหนังสือ Easter Island, Earth Island คนทั้งสองได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าโลกเราตัดไม้ทำลายป่าจนหมด ชะตาชีวิตของคนบนโลกก็จะเป็นเช่นพวก Rapanui
มาบัดนี้ ทฤษฎีที่ว่า ชาวเกาะ Easter ทิ้งเกาะไป เพราะถูกสภาพแวดล้อมบีบบังคับนั้นได้ถูก Terry Hunt แห่งมหาวิทยาลัย Hawaii และ Carl Lipo แห่งมหาวิทยาลัย California State ที่ Long Beach โต้แย้งในวารสาร Antiquity ฉบับที่ 79 หน้า 158 - 169 ปี 2548 และในนิตยสาร American Scientist ฉบับที่ 94 เดือนกันยายน - ตุลาคม 2549 โดยคนทั้งสองได้รายงานว่า ในการวัดอายุของเถ้าถ่านที่พบในหมู่บ้านโบราณบนเกาะ เขาได้พบว่า ชาว Polynesian ได้อพยพมาอาศัยบนเกาะเมื่อปี1700 หาใช่ในปี 1300 ดังที่เคยคิดกันไม่ และเมื่อตั้งถิ่นฐานแล้วชาวเกาะก็เริ่มตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อทำไร่ปาล์ม มันฝรั่ง เผือก กล้วย และอ้อย แต่กองเรือ Polynesian มิได้นำเพียงคนมาเท่านั้น แต่ยังนำหนูมาด้วย และหนูนี่เองที่เป็นตัวทำลายต้นไม้ และพืชผักต่างๆ โดยได้กัดกินต้นอ่อน และเมล็ดจนต้นไม้ถูกทำลายหมด นอกจากนี้เมื่อชาวเรือยุโรปนับร้อยเดินทางถึงเกาะเป็นครั้งแรกในปี 2265 นั้น เหล่ากะลาสีได้นำโรคร้าย และระบบทาสมาใช้บนเกาะด้วย ซึ่งมีผลทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มตายเพราะโรค และถูกนายทาสกดขี่
การวิเคราะห์ถนนและเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ บนเกาะ Rapa Nui ที่ใช้ในการขนส่งบรรดาหัวหินจากเหมือง Rano Raraku ไปที่หาดริมทะเล Hunt และ Lipo ได้พบว่า ถนนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อเวลาต่าง ๆ กันโดยใช้ทาส กับกรรมกรคนละชุด และชาวบ้านทุกกลุ่มต่างก็มีเส้นทางสัญจรของตนเอง ดังนั้น การขนอนุสาวรีย์หินจึงเป็นการดำเนินการของคนจำนวนไม่มากเท่าที่ Diamond คิด และในการศึกษาลักษณะบ้านและที่อยู่อาศัยของคนเกาะ Hunt และ Lipo ก็ได้พบว่า จำนวนประชากรบนเกาะอาจมีตั้งแต่ 2,000 จนกระทั่งถึง 20,000 คน โดยตัวเลขแท้จริงจะเป็นเท่าไร เรา ณ วันนี้ไม่มีวันรู้
สำหรับเรื่องตัดไม้ทำลายป่านั้น Roggeveen ได้เคยรายงานว่า เขาเห็นต้นไม้เพียง 2-3 ต้น บนเกาะ และแต่ละต้นสูงไม่เกิน 3 เมตร ซึ่ง Hunt ไม่เห็นด้วยเพราะได้วิเคราะห์ดินบนเกาะ และพบว่า ดิน มีคุณภาพดี และเกาะเคยมีป่าปาล์มถึง 1 ล้านต้น แต่ต้นปาล์มมีแกนนุ่ม จึงไม่เหมาะสำหรับการตัดไปทำเป็นหมอนรองสำหรับขนอนุสาวรีย์หินที่หนักมาก ส่วนสาเหตุการสูญเสียป่าจนหมดนั้นก็มิได้เกิดจากคนเพียงสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหนูที่ชอบกินผลปาล์มด้วย และเมื่อป่าสูญเสียต้นไม้ไป ดินชั้นบนก็จะร่วน ดังนั้น เวลาถูกลมพายุพัด เนื้อดินจะถูกหอบตกทะเลจนสารอาหารที่มีในดินขาดแคลน และเมื่อป่าถูกทำลายหมด ชาวเกาะก็ไม่มีไม้ให้สร้างแพเดินทะเลเพื่อหาปลาได้ และเมื่อชาวเกาะทำไร่ไม่ได้ผล ภาวการณ์ขาดแคลนอาหารจึงเกิดทำให้ผู้คนที่อดอาหารเข่นฆ่ากันเพื่อการอยู่รอดของตนเองในที่สุดเหมือนดังที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในช่วงปี 2265 - 2405 มีเรือชาวยุโรปไปเยือนเกาะ Easter ราว 50 ลำ เช่น ในปี 2373 มีเรือล่าปลาวาฬไปเยือน และกะลาสีเรือได้นำกามโรคไปแพร่ให้ชาวเกาะ เมื่อถึงปี 2348 ชาวเกาะเริ่มมีระบบทาส และในปี 2405 กองทัพเรือของสเปน และเปรูได้จับชาวเกาะไปเป็นทาส ในทวีปอเมริกาใต้ประมาณ 1,500 คนและในขณะเดียวกัน โรคฝีดาษก็ได้ระบาดบนเกาะด้วย ในปี 2409 นักบวช และหมอสอนศาสนาได้เดินทางถึงเกาะ จากนั้นชาวเกาะก็เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ โดยยินยอมให้ Jean Baptiste Dutroux - Bornier ชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้าเมืองปกครองเกาะอย่างทารุณ และในที่สุดเจ้าเมืองก็ถูกชาวเกาะฆ่าตาย เพราะชอบจับเด็กหญิงชาวเกาะไปข่มขืน ในปี 2415 นักผจญภัยที่ไปเยือนเกาะ Easter ได้รายงานจำนวนประชากรบนเกาะว่ามีเหลืออยู่ประมาณ 100 คน เท่านั้นเอง เมื่อถึงปี 2431 รัฐบาล Chile ก็ได้ยึดครองเกาะ Easter เพื่อเปลี่ยนสภาพให้เป็นเกาะสำหรับเลี้ยงแกะ และในปี 2543 รัฐบาลได้มอบที่ดิน 9,000 ไร่ให้ชาวเกาะใช้เป็นที่ทำมาหากิน
ณ วันนี้ชาวเกาะ Easter มีอาชีพทำของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว บนเกาะมีกาสิโน สนามกอล์ฟ โรงแรม และที่พักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว แต่เป็นที่น่ากังวลว่าการจัดสร้างอาคารใหม่ได้ทำลายพื้นที่ ซึ่งอาจมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเกาะ Easter ไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า เราจะไม่มีวันรู้ว่า ชาวเกาะสร้างอนุสาวรีย์หินขึ้นด้วยเหตุผลใด และขนย้ายมันอย่างไร ถึงข้อมูลจะบ่งบอกว่า สำหรับอนุสาวรีย์ขนาดกลางชาวเกาะขนมันโดยวางบนขอนไม้ แล้วกลิ้งขอนไม้ไป แต่สำหรับอนุสาวรีย์ที่สูง 4 เมตรขึ้นไป และหนัก 8 - 10 ตันนั้น เราไม่รู้ว่าเขาขนย้ายโดยวางอนุสาวรีย์ให้นอน หรือยืนไป และสำหรับภาษา rongo - rongo ของชาวเกาะนั้นก็ยังไม่มีใครอ่านออกเหล่านี้คือปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ และคำถามเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เกาะ Easter เป็นเกาะพิศวงเกาะหนึ่งของโลกจนทุกวันนี้
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท