มาตรวิทยาจัดเวิร์คชอปเผยแพร่ความรู้มาตรฐานการวัดแรงและมุม ยกตัวอย่างวัดแรงกระแทกรันเวย์ 100 นิวตัน ต้องได้ 100 นิวตัน ซึ่งจะให้ได้มาตรฐานต้องมีการสอบเทียบเครื่องมือ
ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.- 2 ก.พ.นี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสถาบันความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) จัดการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านมาตรฐานการวัดมุม (Angle Standard) และแรง (Force Standard) ในภูมิภาคอาเซียน “5th ASEAN Seminar and Workshop on Measurement Standards in Bangkok” ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนปาร์ค และอาคารผดุงมาตร สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ รังสิต คลอง 5 จ.ปทุมธานี
พล.อ.ต.เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการ มว.กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทั้งนี้ในการก่อตั้งสถาบันนั้นไทยได้ซื้อเครื่องมือจากญี่ปุ่น และ ทาง JICA ก็ได้เข้ามาฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานของสถาบัน โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 และมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่มาตรฐานในการวัดในอาเซียนแต่ไม่ได้สร้างมาตรฐานใหม่ๆ ส่วนการประชุมที่ผ่านมามีการประชุมเกี่ยวกับทางด้านไฟฟ้า การชั่งน้ำหนัก และการวัดอื่นๆ
สำหรับความสำคัญของหัวข้อที่มีการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ต.เพียร อธิบายว่าในเรื่องมาตรฐานการวัดแรงนั้นส่วนใหญ่จะใช้เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย พร้อมทั้งยกตัวอย่างการทนแรงกระแทกของคอนกรีต เช่น ตึก เส้นทางลงจอดของเครื่องบินหรือรันเวย์ต้องทนแรงกระแทกได้ 100 นิวตัน ก็ต้องวัดว่าทนได้ 100 นิวตันจริง ในส่วนของการวัดมุมนั้นอ่านค่าเครื่องมือวัดมุมได้ 10 องศาก็ต้องเป็น 10 องศาจริงไม่ใช่ 11 องศา ซึ่งจะทราบได้ว่าวัดแรงและมุมได้จริงเมื่อทำการสอบเทียบเครื่องมือ
“สถาบันมาตรวิทยาทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดของชาติ เป็นที่อ้างอิงหน่วยวัดมาตรฐานของชาติ เช่น กรมการค้าภายในจะวัดมาตรฐาน “กิโลกรัม” ก็จะนำลูกตุ้มมาตรฐานหนัก 1 กิโลกรัมของเราไปสอบเทียบเครื่องมือของเขาให้ชั่งน้ำหนักได้ตรงตามมาตรฐาน” พล.อ.ต.เพียรกล่าว
ทางด้าน ดร.โยชิอากิ อากิโมโต (Dr.Yoshiaki Akimoto) หัวหน้าโครงการ JICA/NIMT ซึ่งเป็นความช่วยเหลือของญี่ปุ่นในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ไทยจากการจัดซื้อเครื่องมือวัดของญี่ปุ่นด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่กู้มาจากรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2545 ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการวัดให้กับไทยแล้ว 35 เทคโนโลยี ส่วนหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ทางไทยได้ติดต่อให้ญี่ปุ่นจัดหัวข้อในการประชุม ซึ่งก็ได้เลือก 2 หัวข้อดังกล่าว