สทอภ.คืนกำไรผู้ใช้ข้อมูล “ดาวเทียม” รักษาฐานลูกค้าเก่า-แสวงหาลูกค้าใหม่ นำทัวร์ล่องแม่กลองชม “หิ่งห้อย” ด้านเทศบาลอัมพวานำร่องใช้ “จีไอเอส” บริหารจัดการท้องถิ่น นายกเทศบาลเผยเป็นไอทีที่ควบคู่กับการพัฒนาซึ่งท้องถิ่นจะปฏิเสธไม่ได้ แจงเป็นข้อมูลหลายมิติที่จัดการง่ายกว่าข้อมูลเชิงตัวเลข คาดใช้งบไม่ถึง 7 หลัก
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) จัดประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ. ณ บ้านท้ายหาดรีสอร์ท อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ระหว่างวันที่ 4-5 ม.ค. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 60 คน โดยมีการบรรยายกึ่งวิชาการถึงการประโยชน์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ (จีไอเอส) ในวันแรกและจัดล่องเรือชม “หิ่งห้อย” ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองช่วงค่ำ ส่วนวันสุดท้ายจัดล่องเรือนำชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ วัดในเขตอัมพวาและอุทยาน ร.2 พร้อมกันนี้ได้มีการแจกแผ่นที่ จ.สมุทรสงคราม ที่ผลิตจากภาพถ่ายดาวเทียมแก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยแผ่นที่ดังกล่าวเป็นการนำร่องการใช้ประโยชน์ข้อมูลดาวเทียมในเชิงท่องเที่ยว
นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ รองผู้อำนวยการ สทอภ.กล่าวว่า ได้จัดประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ.เป็นประจำทุกปีมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยครั้งนี้ได้จัดให้แตกต่างจากทุกปี เนื่องจากเป็นระยะเตรียมความพร้อมในการส่งดาวเทียมธีออสซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยที่ผลิตขึ้นในฝรั่งเศสและกำลังจะส่งขึ้นไปโคจรในปีนี้และจะให้บริการผู้ใช้ทั่วโลก ดังนั้นเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ จึงได้จัดให้มีการบรรยายกึ่งวิชาการแล้วนำทัศนศึกษาวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม
ด้านนายธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการ สทอภ.กล่าวว่า สำนักงานกำลังจะก้าวเข้าสู่เวทีโลกเพราะมีดาวเทียมธีออสที่กำลังสร้าง โดยคาดว่าจะส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกใน มิ.ย. หรืออาจจะเป็นเดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้ธีออสไม่ได้ผลิตโดยฝรั่งเศสทั้งหมด ในส่วนฐานดาวเทียมสร้างขึ้นในยูเครน ส่วนหัวดาวเทียมสร้างขึ้นในฝรั่งเศส ส่วนหางดาวเทียมสร้างขึ้นในรัสเซีย และกล้องส่องดาวกำหนดพิกัดดาวเทียมสร้างขึ้นในสหรัฐ ซึ่งดาวเทียมราคา 6,000 ล้านบาทนี้ มีอายุการใช้งาน 5 ปี โดยขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปรับระดับโคจรให้สูงจากพื้นดินคงที่ 822 กิโลเมตร
ในส่วนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและจีไอเอสในการบริหารและพัฒนาท้องถิ่นนั้น ผศ.วิชาญ อมรากุล ผู้อำนวยการ สทอภ. ภาคเหนือตอนล่าง ได้กล่าวว่า ขณะนี้ได้พัฒนาและแจกฟรีโปรแกรม TAX MAP 2.5 ซึ่งเป็นโปรแกรมแผนที่ภาษี โดยโปรแกรมดังกล่าวจะแสดงข้อมูลการเสียของแต่ละครัวเรือน และสามารถเลือกดูพิกัดได้ ทั้งนี้เป็นภาษีเกี่ยวกับแปลงที่ดิน อาคาร โรงเรือน และป้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำร่องโครงการ SPOT Enhancement Programme เพื่อรองรับข้อมูลดาวเทียมธีออสดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย โดยโปรแกรมนี้จะรับข้อมูลจากดาวเทียมสปอตและดาวเทียมธีออส
พร้อมกันนี้ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวากล่าวว่า อัมพวาเป็นพื้นที่นำร่องในการนำข้อมูลจีไอเอสมาบริหารจัดการท้องถิ่น โดยได้รับการประสานจาก สทอภ.
ทั้งนี้ ดร.ธงชัยนั้นเป็นคนในพื้นที่ของอัมพวาโดยกำเนิดและมีแนวคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งในส่วนตัวมองว่าเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศด้านหนึ่งที่จะนำมาวางแผนพัฒนาท้องถิ่นได้ โดยผู้บริหารจำเป็นต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งในส่วนของข้อมูลนี้จำเป็นต้องได้รับการประสานจากหลายฝ่ายมารวมกัน เช่น ท้องถิ่นมีข้อมูลครัวเรือน ก็เอามารวมกับข้อมูลหนี้สินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) โดยมีข้อมูลดาวเทียมของ สทอภ. เป็นฐาน
“สมมติมีข้อมูลเชิงลึก ก็ตัดสินใจได้ทั้งหมด เรารู้ว่าเรามีต้นทุนอะไร เทศบาลมีพื้นที่กี่ไร่ อธิบายงานประชาชนได้ มีข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ก็ทำนายผลผลิตกับความต้องการของตลาดได้ ถ้านำเทคโนโลยีมาช่วยจะดีกว่าเอาลูกน้องไปเดินสำรวจ เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาต้องไปด้วยกัน ท้องถิ่นจะปฏิเสธไม่ได้ และเป็นข้อมูลดิบที่นำไปใช้อธิบายได้ อย่างภาพตลิ่งชายฝั่งพังปีละกี่เซนติเมตรก็จะเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม เราก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แก้ปัญหาได้” ร้อยโทพัชโรดมกล่าว
ในส่วนของงบประมาณนั้น ร้อยโทพัชโรดมกล่าวว่าไม่น่าจะใช้เยอะ โดยคาดว่าอยู่ที่ประมาณตัวเลข 6 หลัก โดยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ตัดใจง่ายกว่าการจัดการข้อมูลฐานตัวเลข ซึ่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีอยู่แล้ว เพราะเป็นข้อมูลหลายมิติที่เกิดจากการรวบรวมของหลายฝ่าย แต่คาดว่าต้องใช้เวลาเป็นปีจึงจะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้เริ่มนำข้อมูลจีไอเอสมาใช้ แต่จะพยายามเริ่มโดยเร็ว