xs
xsm
sm
md
lg

10 ความเห็นคนเล็กๆ ช่วยลดอุณหภูมิ “โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลอดปี 2549 เราได้รับทราบสถานการณ์และเผชิญกับภาวะ “โลกร้อน” ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตเท่านั้น แต่ยังกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของคนทั่วโลก ทั้งที่ทราบกันดีว่าเราต่างเป็นส่วนเล็กๆ ที่ร่วมสร้างให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม แต่การจะลงมือกอบกู้โลกกลับกลายเป็นการโยนกลองไปมาระหว่างประเทศเล็กๆ กับประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก

ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่คือช่วงเวลาที่หลายคนถือเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มต้นสิ่งดีๆ หากการพิทักษ์โลก(และตัวเราเอง) จากภาวะโลกร้อน นับเป็นสิ่งดีที่เราจะถือปฏิบัติได้ตลอดปี 2550 “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ก็มีตัวอย่าง 10 ความเห็นของบุคคลในหลากหลายวงการที่จะร่วมตอบคำถามเดียวกันคือ

...ในฐานะที่เป็นคนเล็กๆ คนหนึ่ง ในโลกใบนี้ และโลกเรากำลังประสบกับโลกร้อน คุณคิดว่าจะมีวิธีหรือส่วนช่วยลดวิกฤติได้อย่างไร…

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“หลักๆ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้เราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เอาง่ายๆ ทุกคนใช้รถอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ พยายามใช้รถหรือตรวจสภาพเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ไม่ใช่พ่นควันดำออกมา “ปึดปื๋อ” นั่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งนั้น คนจะแต่งรถก็อย่าไปยุ่งกับระบบท่อไอเสีย เพราะส่วนใหญ่ท่อไอเสียจะมีระบบที่จะช่วยทำให้อากาศดีขึ้นอยู่แล้ว ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตรงนี้จะช่วยให้คุณประหยัดน้ำมันด้วย พยายามประหยัดน้ำมัน เพราะเผาผลาญน้ำมันมากเท่าไหร่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เยอะเท่านั้น”

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล
อดีตอาจารย์ฟิสิกส์และนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ชื่อดัง

“ลดส่วนที่เราจะเป็นสาเหตุร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ เราทำอะไรบ้าง ขั้นต้นก็หาความรู้ว่ามันมาจากอะไรกันแน่ ถ้าเราช่วยกันประหยัดน้ำมันจะมีผลสักแค่ไหน แต่ที่ใหญ่จริงๆ ควรจะต้องเป็นของคนตัวเล็กแต่ว่ามีบทบาทใหญ่ เช่น ระดับผู้บริหารประเทศ องค์กร หรือโรงงานที่ตัดสินใจทำอะไรได้ ในส่วนเล็กๆ ของเราก็ทำในสิ่งที่สามารถจะช่วย พยายามสร้างแนวร่วมและส่งเสียงให้เสียงดังไปถึงฝ่ายบริหารประเทศ ดังไปถึงผู้ที่ต้องกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ หรือเจ้าของโรงงาน อย่างสหรัฐก็สะท้อนให้เห็นในผลการเลือกตั้งกลางเทอม”

วิภาวี คอมันตร์
เจ้าของธุรกิจส่วนตัวและนักแปลอิสระ

“ปลูกต้นไม้ค่ะ คือถ้าทุกคนช่วยกันปลูกคนละต้น 2 ต้น ก็คิดว่าอาจจะโตไม่ทันช่วงเวลาที่เราอยู่ในโลกนี้ แต่ว่าสามารถทำให้ลูกหลานเราได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยในรุ่นของเรา แต่ในอนาคตโลกก็คงต้องร้อนขึ้นไปอีก วิธีนี้ก็อาจจะเป็นการช่วยรุ่นลูกรุ่นหลานไปได้ค่ะ ถ้าทุกคนช่วยกันปลูกก็คงช่วยได้มาก ถ้าไม่ได้ผลในวันนี้ก็ไปตกในรุ่นลูก-รุ่นหลานเรา ปลูกต้นไม้ก็ไม่ยากมาก ทุกคนก็ทำได้”

ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์
นักวิชาการและพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง

“เราจะต้องลดใช้พลังงาน อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเราต้องพยายามลดใช้ให้หมด อย่างการเปิดแอร์ถ้าไม่ร้อนดิฉันก็จะไม่เปิด เพราะเปิดแอร์จะทำให้อากาศข้างนอกร้อนแต่ข้างในห้องเล็กๆ ของเราเย็น สำหรับที่บ้านก็จะเปิดพัดลมแทนเปิดแอร์ ถ้าเราจะสร้างบ้านก็อย่าทำให้เหมือนฝรั่งมากเกินไป บ้านไทยโปร่งๆ มีหน้าต่างเยอะๆ ลมจะได้โกรก จะช่วยเยอะ เรื่องของเรื่องคือหาวิธีที่จะลดใช้พลังงาน และดิฉันก็สอนลูกว่าถ้าประหยัดแล้ว ไม่ใช่แค่จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่จะช่วยเราประหยัดด้วยในตัว โลกร้อนเพราะอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะเราบริโภคเยอะ เราใช้แก้ว น้ำ และอะไรเยอะเหลือเกิน ทุกอย่างมันเกี่ยวโยงกับการใช้พลังงานมาก เราควรจะต้องหาต้นตอที่จะลดการใช้พลังงานและช่วยกันคนละไม้ละมือ”

อวยพร แต้ชูตระกูล
บรรณาธิการนิตยสารโลกสีเขียว

“ง่ายที่สุดคือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การประหยัดทรัพยากร เราทำได้อย่างง่ายที่สุด เดินทางโดยใช้รถสาธารณะ ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน แล้วถ้าจะให้ใกล้ตัวเข้ามาอีกก็เป็นเรื่องของพลังงานในประเทศ เพราะว่าภาวะโลกร้อนสาเหตุสำคัญก็คือการใช้พลังงาน มีบ่อยครั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกว่าเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราก็น่าจะมีโอกาสปล่อยมากขึ้น ความคิดแบบเราต้องไม่ยอมรับ อยากให้ทุกคนใส่ใจนโยบายพลังงานของประเทศด้วยว่าจะไปในทิศทางไหน

แล้วก็อยากให้ใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น และต้องเป็นพลังงานสะอาดจริงๆ เพราะกลายเป็นว่าการตลาดเข้ามาทำให้พลังงานฟอสซิลถูกรวมเป็นพลังงานสะอาด ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติถูกเรียกว่าพลังงานสะอาด แต่ถามว่าทั้ง 2 อย่างยั่งยืนหรือเปล่า ก็ไม่ ทุกคนมีส่วนร่วมกับลดภาวะโลกร้อนได้โดยการใช้ชีวิตให้รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เปิดแอร์ให้ลดจำนวนชั่วโมงและอุณหภูมิลง ตอนแรกอาจจะต้องบังคับตัวเองมากหน่อยแต่ถ้าทำแล้วจะเห็นว่ามันได้ผล”

จิตติมา บ้านสร้าง
รองประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

“เอาแบบคิดง่ายๆ คือประหยัดพลังงาน แต่ถ้าคิดให้ละเอียดมากขึ้นกว่านั้น การประหยัดพลังงานมองได้หลายระดับ ระดับที่เราใช้พลังงานโดยตรง เช่น การใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำมัน การขับรถ เหล่านี้เป็นการใช้พลังงานที่เรามองเห็นได้ง่ายๆ แต่ว่าระดับละเอียดเราไม่ได้ใช้พลังงานจากน้ำมันอย่างเดียว ในฐานะผู้บริโภค การบริโภคของเรามันใช้พลังงานทุกขั้นตอน ถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องประหยัดน้ำ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องภัยแล้ง เกี่ยวอะไรกับโลกร้อน ตอบว่าการผลิตน้ำประปาก็ต้องใช้พลังงาน

เรื่องของการบริโภคทั้งหลายต่างใช้พลังงานซึ่งทำให้โลกร้อน แต่สิ่งที่คนทั่วไปเห็นได้ง่ายๆ คือประหยัดพลังงาน ถ้าเราลดการใช้น้ำมันได้เท่านี้ ลดการใช้ไฟฟ้าได้เท่านี้ เราเห็นตัวเลขเลย แต่ในการบริโภคอุปโภคสินค้าอย่างอื่น ถ้าเราลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นลง จะซื้ออะไรสักอย่างคิดให้ละเอียดเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยลดพลังงานได้ เช่นเราต้องใช้พลังงานในการผลิตกระดาษ ถ้าใช้กระดาษหน้าเดียวเราก็ใช้พลังงาน 100% ของกระดาษแผ่นนั้น แต่ถ้าใช้ 2 หน้าเราก็ลดการใช้พลังงานลงครึ่งหนึ่ง

วิธีคิดเหล่านี้เรานำไปใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า น้ำยาล้างจาน พวกนี้ใช้พลังงานในการผลิตทั้งนั้น แต่ก็ขึ้นกับแต่ละคนว่าจะคิดได้ละเอียดแค่ไหน ทั้งนี้ต้องเริ่มที่การฝึก ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้านเราคิดเรื่องพลังงานได้ทุกจุด แต่พูดไปก็ดูเป็นภาระ เอาเป็นว่าเริ่มจากสิ่งที่มันใกล้ตัวก่อน ทำอะไรได้ที่เป็นการประหยัดพลังงานก็ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เราช่วยลดการใช้พลังงานลงได้และชีวิตมีความสุข แต่ในปัจเจกบุคคลไม่ควรคิดว่าเราทำคนเดียวช่วยลดการใช้พลังงานได้ไม่เท่าไร เราก็ทำไปเถอะในปัจเจกบุคคลไม่ต้องดูมวลรวมก็ได้ เราได้ทำแล้วก็พอ จะได้ไม่รู้สึกเป็นภาระกับตัวเองมากเกินไป ที่สุดก็จะช่วยได้โดยรวม”

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ง่ายที่สุดเลยคือดูว่าสิ่งที่เรานั้นจำเป็นหรือเปล่า เช่น บรรจุภัณฑ์ ถุง จะผลิตขึ้นมาสักอย่างก็ต้องใช้พลังงาน ซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิง หรือแม้แต่การใช้น้ำ สร้างขยะ ถ้าเราลดการใช้ที่ไม่จำเป็นคนละ 10 % ก็เป็นจำนวนที่มาก และช่วยแก้ปัญหาพลังงาน โลกร้อน ขยะได้ เป็นอะไรที่ใกล้ตัวที่สุด ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิต เราคงอยู่ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราต้องคิดมากขึ้น เพราะว่าบางอย่างที่เราทำเป็นไปโดยความเคยชิน อย่างการล้างจาน ถ้าล้างทีละใบจากก๊อกจะเปลืองน้ำ แต่ถ้าเราล้างโดยเปิดน้ำใส่อ่าง ปริมาณน้ำที่ใช้จะน้อยกว่ากันเยอะเลย น้ำบนคอนโดมิเนียมก็ต้องใช้พลังงานปั้มขึ้นไป ถ้ามองรอบๆ ตัวแล้วคิดว่าสิ่งนี้จำเป็นหรือเปล่า และถ้าเราปรับเปลี่ยนแล้วชีวิตเราเหมือนเดิม ไม่เดือดร้อน แสดงว่าเป็นสิ่งที่เราลดได้ ซึ่งการแก้ปัญหาโลกร้อนจะสอดคล้องกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้”

ชนติ จันทรโชติชัชวาล
นักเรียน ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และผู้แทนชีววิทยาโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ 2549 รางวัลเหรียญทองอันดับ 1 ของโลก

“การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคงต้องประหยัดพลังงาน ประหยัดการใช้ทั่วไปในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำมัน อย่างน้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการเผาไหม้ของน้ำมันก็จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นปัญหาของโลกร้อน แต่ถ้าพูดถึงส่วนรวมในอนาคตอาจจะหันมาพึ่งพลังงานทางด้านอื่นที่ไม่ใช่พลังงานที่มีคาร์บอน อาจจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หันมาใช้พลังงานอื่นแทน และผมก็เคยได้ยินว่าอาจจะหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่แม้จะช่วยได้คนก็ยังกลัวว่าจะมีการรั่วการปนเปื้อน แต่ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งได้”

ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 2549

“สิ่งที่ทำได้แน่นอนที่สุดตอนนี้ก็คือรถยนต์ ถ้าเกิดรถยนต์เก่าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันก็ออกมาเยอะ แล้วประเทศไทยมีรถกี่คันล่ะ ในแง่ของรถก็ต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ ปัญหาโลกร้อนก็มาลงที่คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากหลายแหล่ง การเผาไหม้ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง และการเผาไหม้ที่ชัดเจนที่สุดคือรถยนต์ ในส่วนของรถยนต์จะทำให้ได้ต้องใช้ทั้งการบริหารและทำจริง ตรวจสภาพรถก็ขอให้ตรวจจริงๆ อย่างที่เป็นอยู่ขับรถเข้าไปตรวจสภาพก็แค่เปิดที่ปัดน้ำฝน เปิดกระจก เปิดไฟก็ผ่านแล้ว นั่นไม่ใช่

ตรวจสภาพรถต้องลงไปที่เครื่องยนต์ ที่ปัดน้ำฝน ไฟเลี้ยว-ไฟท้ายมีประโยชน์จริง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ช่วยสิ่งแวดล้อมเลย ที่สำคัญคือเครื่องยนต์ ถ้าวัดคาร์บอนไดออกไซด์-คาร์บอนมอนอกไซด์แล้วเกิน แสดงว่าเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน ญี่ปุ่นใช้เครื่องยนต์ 2 ปีก็เปลี่ยนแล้ว แต่บ้านเราใช้เครื่องยนต์มือ 2 กันเต็มไปหมด ปัญหาคือตรงนี้ เรื่องเผาไหม้มีเยอะแยะ เตาเผาเอย ไฟไหม้ป่าเอย แต่รถยนต์มันอยู่ใกล้ตัวเรา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ทำตามกฎที่มีอยู่แล้ว จบเลย”

วนรักษ์ ชัยมาโย
นักศึกษาฟิสิกส์ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน(JSTP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“อยู่อย่างพอเพียง ไม่หาอะไรมาเติมแต่งร่างกายให้มาก อย่างน้ำหอมหรือสเปรย์แต่งผม ทำนองนั้น ถ้าขี่จักรยานไปโรงเรียนได้ก็ขี่เพราะไม่มีไอเสีย แต่ส่วนตัวผมนั่งรถเมล์ไปเรียนอยู่แล้ว อีกอย่างคือเข้าหาธรรมะจะได้ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ฟุ่มเฟือย อยู่อย่างสมถะและมัธยัสถ์ ก็เท่านี้ล่ะครับที่จะเป็นส่วนแก้ปัญหาโลกร้อนได้”

...หลากหลายความเห็นจากคนเล็กๆ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดสาเหตุของปัญหาโลกร้อนได้ คุณเองก็เช่นเดียวกัน ทำในสิ่งที่ทำได้ ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เดือดร้อนและคิดให้มากขึ้นในทุกย่างก้าว เท่านี้ก็ถือว่าได้ตอบแทนโลกใหญ่ที่มีอยู่เพียงใบเดียวให้เราทุกคนได้อาศัย...
กำลังโหลดความคิดเห็น