xs
xsm
sm
md
lg

ต้านกีดกันการค้า! กรมวิทย์บริการชู 2 มาตรฐานรับรองห้องแล็บสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์บริการชู 2 มาตรฐานรับรองห้องแล็บ ILAC, APLAC สู้มาตรการกีดกันการค้าไม่ใช่ภาษี พร้อมเปิด 2 เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลบริการ www.SPIN.dss.go.th, www.SPTN.dss.go.th เชื่อสินค้าที่ตรวจสอบในไทยจะได้รับการยอมรับ ไม่ต้องส่งไปตรวจซ้ำที่ต่างประเทศ

นายชัยวุฒิ เลาวเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) เปิดเผยว่า สำนักบริการและรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของ วศ.ได้รับการยอมรับร่วมหรือ “เอ็มอาร์เอ” (Mutual Recognition Arrangement:MRA) จากองค์กรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติ (Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC MRA) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2549 และองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation: ILAC MRA) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2549

นายชัยวุฒิกล่าวว่า การได้รับเอ็มอาร์เอจากทั้ง 2 องค์กรจะทำให้ห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐานจาก วศ.ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และเมื่อส่งผลตรวจสินค้าจากห้องปฏิบัติการในเมืองไทยไปยังต่างประเทศก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบสินค้าอีก ซึ่งการตรวจสอบซ้ำจะให้สินค้าหลายอย่างโดยเฉพาะสินค้าเกษตรเสียหาย

“การที่ วศ.มีหน่วยงานที่ได้รับรอง APLAC และ ILAC เมื่อ วศ.ไปรับรองห้องปฏิบัติการใด ห้องปฏิบัติการนั้นก็จะได้รับรองยอมรับ คำพูดที่ว่า ห้องปฏิบัติการไทยไม่น่าเชื่อถือก็จะหมดไป” นายชัยวุฒิกล่าว ทั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่าปัจจุบันการกีดกันการค้าด้วยกำแพงภาษีได้เปลี่ยนไปเป็นการกีดกันทางด้านเทคนิค (Technical Barrier to Trade:TBT) ซึ่งการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

พร้อมกันนี้ วศ.ยังได้เปิดตัว 2 เว็บไซต์ คือ www.SPIN.dss.go.th ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายนวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการในลักษณะศูนย์บริการครบวงจร โดยจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริการของ วศ. รวมทั้งเชื่อมโยงบริการของหน่วยงานอื่นที่เป็นความต้องการของผู้ประกอบการ อีกเว็บไซต์คือ www.SPTN.dss.go.th ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านการฝึกอบรมจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่เน้นเฉพาะภาคปฏิบัติ

ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าได้นำเรื่องที่ทาง วศ.ได้รับเอ็มอาร์เอจาก APLAC และ ILAC เข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะเป็นเรื่องดีที่ต่อไปการส่งสินค้าของไทยที่ผ่านการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองจาก วศ. ก็จะส่งไปที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องตรวจสอบสินค้าที่ต่างประเทศอีก พร้อมกันนี้ยังได้สาธิตการใช้งาน 2 เว็บไซต์ใหม่ของ วศ.ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น