อยุธยาไป่สิ้นคนดีไซร้ ประเทศไทยก็ไม่ไร้นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ เพราะหากวัดกันตามรางวัลที่ประกาศและมอบให้กับนักวิจัย-นักประดิษฐ์คนไทยตลอดทั้งปี2549 แล้วก็นับรวมได้ 9 รางวัล ซึ่งมีคนขึ้นแท่นเป็นผู้ทรงเกียรติบนเวทีรางวัลต่างๆ รวม 56 คน นับว่าเรามีบุคลากรคุณภาพระดับหัวกะทิที่จะยกระดับวงการวิทยาศาสตร์และเป็นแรงหนุนในการพัฒนาประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว
มาดูกันว่าตลอดปี 2549 มีการประกาศและมอบรางวัลกันไปกี่เวทีและใครบ้างที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติเหล่านี้ เริ่มกันที่รางวัลซึ่งเป็นข่าวตั้งแต่ต้นปีก่อนใคร นั่นคือ “รางวัลนักวิจัยดีเด่น” ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมอบให้กับนักวิจัยเด่นประจำปี 2548 โดยเกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ 3 คน ได้แก่ 1.ศ.นพ.ดร.ประพันธ์ ภานุภาค นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช 3.ศ.เบญจมาศ ศิลาน้อย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: วช.จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น)
ถึงปลายปีก็มีการประกาศรางวัลเดียวกันนี้อีก โดยมีผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นประจำปี 2549 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ 4 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ นักวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ 2.ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรากูร นักวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.ศ.ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม นักวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช และ 4.รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร นักวิจัยดีเด่นสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ทั้งนี้จะมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปีใน “วันนักประดิษฐ์” ซึ่งตรงกับวันที่ 2 ก.พ. โดยนักวิจัยดีเด่นจะได้รับรางวัลมูลค่า 300,000 บาท พร้อมใบประกาศเชิดชูเกียรติ และเหรียญนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: นักวิจัยดีเด่น 49 ลั่นไม่อยากเห็น “ข้าวหอมจีเอ็ม” นอกตีข้าวไทย-)
หากบนเวทีโลกมีรางวัลโนเบลที่เมืองไทยก็มีเวที “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ที่มอบให้โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้เกณฑ์ตัดสินตามที่ประธานคณะกรรมการเปิดเผยคือ “เก่ง” และ “ดี” ซึ่งในการเฟ้นหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งนี้นั้นเป็นที่ทราบกันว่า “เป็นไปอย่างไม่เปิดเผย” โดยคณะกรรมการที่ไม่เคยแสดงตัวตน (นอกจากประธานคณะกรรมการ) จะทำการคัดเลือกบุคคลจากรายชื่อที่ผู้ทรงคุณวุฒิเสนอมาให้ได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด โดยมีการมอบรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2525 และในปี 2534 ก็มีการมอบ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี จึงเป็น 2 รางวัลให้ควบคู่กันมาตั้งแต่นั้น
ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลจะเข้ารับพระราทานรางวัลในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของทุกปี สำหรับปี 2549 ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็น 2 นักวิจัยที่มีผลงานทางด้านพลังงาน ได้แก่ 1.ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2.ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ส่วนผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ได้แก่ 1.ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.รศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.ผศ.ดร.พวงรัตน์ ไพเราะ จากสาขาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 4.นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 5.ผศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: 2 วิศวกรพัฒนาการใช้พลังงานรับตำแหน่ง "นักวิทย์ดีเด่น" ปี 49)
มีนักวิทยาศาสตร์แล้วก็ต้องมีนำความรู้ไปต่อยอด มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ตั้ง “รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น” ขึ้นมาอีก และรางวัลนี้ก็มี “รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” เคียงคู่กันมาเช่นเดียวกัน ซึ่งรางวัลจะไม่จำกัดที่ตัวบุคคลแต่จะมอบให้กับหน่วยงานที่มีผลงานเข้าตากรรมการด้วย โดยนักเทคโนโลยีดีเด่นจะได้รับรางวัล 500,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานฯ และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะได้รับรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานฯ
สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2549 ได้แก่ 1.ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ 2.รศ.ดร.ไสยวิชญ์ วรวินิต จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2549 ได้แก่ 1.รศ.ดร.วิมลวรรณ พิมพ์พันธุ์ จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นายทะนงศักดิ์ มูลตรี จากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: 2 นักแปรรูปผลผลิตเกษตร คว้า “นักเทคโนโลยีดีเด่น 49”)
ขณะเดียวกันก็มี “รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ที่มอบให้โดยมูลนิธิโทเร ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มบริษัทโทเรประเทศญี่ปุ่น โดยจะแบ่งรางวัลเป็นรางวัลประเภทบุคคลและประเภทหน่วยงาน สำหรับผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเภทบุคคล ได้แก่ ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และประเภทหน่วยงาน ได้แก่ กลุ่มบรรพชีวินวิทยา ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพช่วงมหายุคมีโสโซอิกในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี (กทธ.) โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ Centre National de la Recherche Scientifique (CNRS)
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: มูลนิธิโทเรฯ มอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 48)
รางวัลสำหรับนักวิจัยไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมี “รางวัลเมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” ซึ่งให้รางวัลที่ครอบคลุมนักวิจัยหลากหลายสาขาทั้งภาควิทยาศาสตร์ การเมืองและสังคมเช่นเดียวกับรางวัลนักวิจัยดีเด่นของ วช. แต่รางวัลที่มอบให้ส่วนใหญ่ก็จะเน้นทางด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปี 2549 นี้มีการประกาศผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยประจำปี 2547 และ 2548 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
รางวัลเมธีวิจัย สกว.ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็นด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม โดยผู้ได้รับตำแหน่งในปี 2547 และรับมอบรางวัลในปี 2549 มีดังนี้ ด้านการแพทย์ได้แก่ 1.ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ จากภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ศ.นพ.ยง ภู่สุวรรณ จากภาควิชากุมารเวชศาสตตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล จากภาควิชาอายุรศาสตร์และสถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล 4.ศ.นพ.ภิเศก ลิมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5.ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้านการเกษตรได้แก่ 1.ศ.ดร.ประเสริฐ โศภณ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2. ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านอุตสาหกรรมได้แก่ 1.ศ.ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.ศ.ดร.สุดา เกียรติกำจรวงศ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางการถ่ายภาพและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.ศ.ดร.ปราโมทย์ เดชะอำไพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนผู้ได้รับตำแหน่งในปี 2548 และได้รับรางวัลในปี 2549 นี้เช่นเดียวกันมีดังนี้ ด้านการแพทย์ได้แก่ 1.ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 3. ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านการเกษตร ได้แก่ 1.ศ.ดร.สายชล เกตุษา ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ศ.ดร.อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3.ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้านอุตสาหกรรมได้แก่ 1.ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.รศ.ดร.ณรงศักดิ์ ชัยชิต ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัล 25 เมธีวิจัย สกว.)
หากเมธีนักวิจัยคือตำแหน่งที่เชิดชูเกียรตินักวิจัยที่อยู่ในห้องแล็บ “รางวัลเมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ก็เป็นรางวัลที่เชิดชูนักวิจัยที่นำงานในห้องแล็บไปสู่โลกธุรกิจ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) ได้สรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นดังกล่าวเพื่อมอบตำแหน่งเมธีอันส่งเกียรติให้ และจะทำสัญญากับเมธีเหล่านั้นเป็นเวลา 1 ปี และมีผลตอบแทนเป็นรายเดือนประมาณ 10,000 บาท ทั้งนี้ผู้ริเริ่มรางวัลคาดว่าวิธีนี้จะเป็นการพัฒนานวัตกรรมในเชิงรุกเข้าหาตลาดและภาคอุตสาหกรรม โดยการประสานงานระหว่างนักวิจัยและภาคธุรกิจ
สำหรับผู้ได้รับรางวัลเมธีนวัตกรรม ประจำปี 2549 แบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาธุรกิจชีวภาพ (BIO – BUSINESS) ได้แก่ 1.ศ.ดร. อรอนงค์ นัยวิกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ 2.ผศ. มาลี ซิ้มศรีสกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3.นายวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล เลขาธิการ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
4.รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 5.นายสมบัติ วนาอุปถัมภ์กุล ผู้จัดการแผนกวิจัยผลิตภัณฑ์ ส่วนวิจัยและพัฒนาสินค้า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด 6.ดร.อุษาวดี ถาวระ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาและนิเวศวิทยา ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับกอง (DIO) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7.รศ.ดร.เพลินพิศ บูชาธรรม คณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
8.รศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 9.รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 10.รศ.ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11.ดร. รัฐ พิชญางกูร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 12.ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 13.ดร.วรเทพ มุธุวรรณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา
สาขาและสิ่งแวดล้อม (ENERGY & ENVIRONMENT) ได้แก่ 1.ศ.ดร. จงจิตร์ หิรัญลาภ คณะพลังงานและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.ศ.ดร.สำเริง จักรใจ คณะภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3.ดร. เจิดศักดิ์ ไชยคุนา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาการออกแบบและตราสินค้า (DESIGN & BRANDING) ได้แก่ 1.รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 2.ผศ.อภิเนตร อูนากูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นอกจากนี้ยังมีรางวัล “ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผู้หญิงในงานวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ และเป็นรางวัลที่ก่อตั้งโดยลอรีอัลภายใต้การสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก สำหรับปี 2549 นี้มีผู้ได้รับรางวัล 4 คน ได้แก่ 1.รศ.ดร.สุภา หารหนองบัว จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร จากศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) 3.รศ.ดร.วิมลวรรณ พิมพ์พันธุ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.ดร.วนิดา จันทร์วิกูล จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค)
(อ่านข่าวเพิ่มเติม: สตรีนักวิทยาศาสตร์ กับงานวิจัยเพื่อมวลชน)
ทั้งนี้ภายในปีเดียวนักวิจัยบางคนก็ได้รับรางวัลมากกว่า 1 รางวัล สำหรับปี 2549 มีนักวิจัย 3 คน ที่ได้รับรางวัลซ้อนกันหลายรางวัล คือ ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ ซึ่งได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อต้นปี และต่อด้วยรางวัลเมธีวิจัย สกว. ก่อนจะตบท้ายปีด้วยรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รศ.ดร.วิมลวรรณ พิมพ์พันธุ์ ซึ่งได้รับรางวัล “สตรีในงานวิทยาศาสตร์” จากลอรีอัล และได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นอีก 1 รางวัล สุดท้ายคือ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ได้รับรางวัลเมธีวิจัย สกว. และราวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
หากรางวัลเหล่านี้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของนักวิทยาศาสตร์ไทยแล้ว ก็นับว่าเรามีบุคลากรที่จะขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์มากพอสมควร หรืออย่างน้อยๆ รางวัลเหล่านี้ก็คงจะเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้สร้างสรรค์งานกันต่อไป
ทบทวนเหตุการณ์ปี 2549 เพิ่มเติม
- ไขปริศนาเลขแห่งศตวรรษ ความสำเร็จสะเทือนวงการวิทย์โลก
- ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร “ฝนหลวง” สุดปลาบปลื้มแก่วงการวิทยาศาสตร์ไทย
- “พลังงานทดแทนไทย” ก้าวไปไม่ถึงคืบ
- ชุมชนคนวิทย์ไม่เงียบเหงา 13 งานบิ๊กในรอบปี
- รมต.นักวิทย์ยก "มือถือ" เทรนด์แห่งทศวรรษ แซงขาดทุกเทคโนโลยี
- “ปรากฏการณ์โลกร้อน” 1 ใน 10 ข่าววิทย์ที่คนไทยรับรู้มากที่สุด
- สเต็มเซลล์รักษาโรคเบาหวานคว้าสุดยอดธุรกิจนวัตกรรม 49
- 20 ปีเอ็มเทคหันทิศรับจ้างวิจัยวัสดุ-ตั้งเป้ารายได้ปีละ 45 ล้าน