xs
xsm
sm
md
lg

3 วิศวกร มอ.สร้างสมดุล “ล้อยางตัน” ดันสู่มาตรฐานสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 วิศวกร มอ.ยกระดับ “ล้อยางตัน” สู่มาตรฐานสากล สร้างระบบสมดุลให้ล้อด้วยกระบวนการผลิตที่รีดยางให้เรียบเสมอกัน พร้อมระบบตรวจสอบความสมดุล ชี้ผลงานไทยทำ-ไทยคิด-วัสดุไทยเกือบ 100% มีเพียงแค่ตัวรับแสงเท่านั้นที่ต้องสั่งนอก

ผศ.ดร.เจริญยุทธ เดชวายุกุล จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) หัวหน้าโครงการ “ผลของความสม่ำเสมอของรูปทรงต่อการสั่นสะเทือนของล้อรถแบบยางตัน” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เป็นงานวิจัยเด่น สกว. ด้านอุตสาหกรรม ประจำปี 2549 กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยว่า เป็นการยกคุณภาพของล้อยางตัน เนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตล้อยางตันเข้ามาปรึกษาถึงวิธีที่จะทำให้ล้อไม่สะเทือน ไม่แข็งหรือไม่นุ่มเกินไป

ทั้งนี้ปกติล้อยางตันจะทำจากยาง 2 ชั้น โดยยางชั้นนอกจะนุ่มส่วนยางชั้นในจะแข็ง เมื่อ ผศ.ดร.เจริญยุทธและทีมวิจัยได้ดูรูปทรงยางล้อตันของ บริษัท สยามไพโอเนียร์รับเบอร์ จำกัด พบว่าหน้าตัดของยางชั้นในรอบแกนหมุนนั้นไม่คงรูป ละมีความไม่สม่ำเสมอ จึงตั้งแนววิจัยที่จะหากระบวนการผลิตยางชั้นในใหม่ด้วยการม้วนล้อยางให้คงรูป

ในขั้นตอนการสร้างล้อยางตัวอย่างให้คงรูปนั้น ผศ.ดร.วิริยะ ทองเรือง จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มอ.ได้พัฒนาเครื่องผลิตล้อยางตันใหม่ ที่ตัวแกนม้วนสม่ำเสมอไม่บิดเบี้ยวเหมือนแกนเครื่องเก่า ทำให้เครื่องสามารถกลิ้งเพื่อพันยางได้เรียบ แน่นและเป็นทรงกลมยิ่งขึ้น ซึ่งลักษณะทางกายภาพนี้จะช่วยให้ยางมีความสมดุลมากขึ้น

นอกจากพัฒนาตัวยางสมดุลมากที่สุดแล้ว ยังต้องพิสูจน์ว่ายางที่ผลิตได้นั้นมีความสมดุลจริงหรือไม่ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องวัดสมดุลแรงเหวี่ยงของล้อยาง และเครื่องวัดการสั่นสะเทือนของล้อยาง โดยในส่วนของการตรวจวัดนั้นได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับตรวจวัดการติดตามการเคลื่อนที่ของแกนเพลาในระนาบตั้งฉากด้วยเทคนิคการขวางลำแสงเลเซอร์ เรียกว่า “เครื่องวัดการสั่นสะเทือนของเพลาแบบไม่สัมผัส” ซึ่งพัฒนาโดย ผศ.คณดิถ เจษฎ์พัฒนานนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มอ.และได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว

ทีมวิจัยยื่นยันว่าการพัฒนาความสมดุลของล้อนี้สามารถเทียบมาตรฐานเท่ากับระดับสากลได้แล้ว แต่การจะพัฒนาให้คุณสมบัติยางทั้งหมดได้มาตรฐานเทียบเท่าสากลนั้น ผศ.ดร.เจริญยุทธกล่าวว่ายังต้องพัฒนาอีกหลายส่วน เช่น มาตรฐานความคงทน มาตรฐานความแข็งของยาง และมาตรฐานการสึกหร่อของหน้ายาง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นจะได้ต่อยอดด้วยการพัฒนาการตรวจวัดมาตรฐานเพื่อสร้างมาตรฐานของไทยและยกระดับให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ

สำหรับระยะเวลาในการพัฒนาระบบสมดุลของล้อยางตันนี้ ทีมวิจัยใช้เวลาทั้งการผลิตเครื่องตรวจสอบและทำการทดสอบประมาณ 28 เดือน และใช้งบประมาณทั้งหมด 1.8 ล้านบาท เป็นงบที่ได้การสนับสนุนจาก สกว. 70% ที่เหลือเป็นงบสนับสนุนจากบริษัท สยามไพโอเนียร์รับเบอร์ ทั้งนี้วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุภายในประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้น “โฟโตไดโอด” (Photodiode) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รับแสงที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีผลิต

นอกจากงานวิจัยของ 3 วิศวกรจากปักษ์ใต้แล้ว สกว.ยังได้เลือกผลงานภายใต้การสนับสนุนของ สกว.เอง อีก 18 เรื่อง เป็นงานวิจัยประจำปี 2549 โดยแยกเป็น 5 สาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากของทีมวิจัย ผศ.ดร.เจริญยุทธ แล้ว ยังมีงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบความเย็นและระบบปรับอากาศด้วยการใช้อุปกรณ์ถ่ายเทความร้อนแบบใหม่ ของ ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ และ นายวรเชษฎ์ ภิรมย์ภักดิ์

สาขาเกษตร ได้แก่ 1.เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ของ ศ.ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง 2.ต้นแบบการจัดการสวนลำไยคุณภาพดีนอกฤดูเพื่อการส่งออก ของ ผศ.พาวิน มะโนชัย สาขาสุขภาพ ได้แก่ 1.เรียนรู้คู่วิจัย อาหารกับฟันผุ ของ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย 2.ชุดตรวจนับเม็ดเลือดขาว CD4+ lymphocytes ราคาประหยัด เพื่อช่วยพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และใช้เป็นแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์ ของ รศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ และ ศ.นพ.ธีระ ศริสันธนะ 3.เครื่องช่วยวินิจฉัยทารกตัวเหลืองอย่างง่าย ขอ. ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ 4.ศูนย์การเรียนรู้การจัดการชีวอนามัยและความปลอดภัยในงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ของ ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์

สาขาชุมชนและสังคม ได้แก่ 1.การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ของนายภีม ภคเมธาวี 2.กระบวนการจัดการ “ความจริง” ของไทย การศึกษามิติพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงความจริงในสังคมไทย ของ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์

สาขางานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้แก่ 1.กระบวนการชุมชนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อย ของ นายสวัสดิ์ ขัติยะ 2.เรียนรู้จากกระบวนการเลี้ยงโคขาวลำพูน ของ นายอยุธ ไชยยอง 3.สืบสานศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ ของ นางราตรี หัสชัย 4.พัฒนาการอ่านและสอนอัลกุรอานรูปแบบกีรออาตีย์ ของนายอดุลย์ มะหะหมัด 5.พื้นฟูและอนุรักษ์ป่าถ้ำเขาอย่างยั่งยืน ของนายวิเชียร เอกนิกร 6.พื้นภูมิปัญญาหมอนวดพื้นบ้าน อ.เขาชัยสน ของนายสมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย 7.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความเชื่อ พิธีกรรม และเรื่องเล่า ของนายธีรพันธุ์ จุฬากาญน์ และ 8.กระบวนการชุมชนกับการฟื้นฟูปูเบี้ยวอย่างยั่งยืน ของนายประสิทธิ เชื้อเอี่ยม


กำลังโหลดความคิดเห็น