ในกิจกรรมค่าย “ความหลากหลายทางชีวภาพของกรุงเทพฯ” ที่จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เยาวชน ม.ปลายราว 50 ชีวิต ได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายและความสมบูรณ์ของสรรพชีวิตในธรรมชาติใกล้ตัวมากขึ้น โดยมีการบรรยายพิเศษจากอาจารย์นิพนธ์ ศรีนฤมล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ปรึกษาโครงการวิจัย “คลื่นการเดินของกิ้งกือ” และ “การกระจายตัวของเมล็ดต้อยติ่ง” เพื่อชี้แนะให้น้องๆ ได้รู้จักและสนใจทำโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง
อาจารย์นิพนธ์ เริ่มต้นการบรรยายด้วยการเผยเคล็ดลับผลักดันโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ให้สามารถคว้ารางวัลทั้งระดับประเทศและระดับโลกอย่างเปิดเผยว่า เป็นเรื่องของ “พรสวรรค์” ที่เยาวชนแต่ละคนจะมีอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดและต้องหาเพิ่มเติมคือความขยันและอุตสาหะของน้องๆ เอง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “พรแสวง” ที่ถือเป็นตัวทดสอบกำลังใจที่มีความสำคัญมาก
นอกจากความขยันอดทนแล้ว ผู้ที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์ยังต้องมีจินตนาการ ที่เมื่อคิดได้แล้วจะต้องลงมือทำ และรู้จักแบ่งเวลาเรียนและการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังต้องไม่ดูถูกตัวเองว่าไม่สามารถทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ เพราะจะเป็นการทำลายความฝันของตัวเอง และพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น
อาจารย์นิพนธ์ แนะนำด้วยว่า การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มองเรื่องราวต่างๆ รอบตัวว่าเป็นได้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ไม่ได้จำแนกเป็นเพียงวิชาๆ ไปเท่านั้น แต่ต้องเป็นการมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นศิลปะ มีความหมายและความสวยงามในตัวเอง เห็นทุกเรื่องเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ โดยตัวครูจะเป็นเพียงผู้ส่งเสริมให้การสนับสนุน
เมื่อทำโครงงานวิทยาศาสตร์แล้วจะต้องทำให้มีประโยชน์ต่อสังคมด้วย แต่ข้อควรระวังคือ ต้องไม่ยึดมั่นในคำตอบที่ได้จากครูบาอาจารย์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ลงมือพิสูจน์ เพราะในสถานการณ์จริง คำตอบที่ได้อาจตรงกันข้ามกับที่เรียนๆ มาได้
สำหรับการจดบันทึกความก้าวหน้าของโครงงานอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งอาจารย์นิพนธ์ บอกว่าเป็นเพราะในสมุดบันทึก (Log Book) นั้นๆ จะเป็นที่รวบรวมข้อมูลการทดลองต่างๆ เอาไว้ ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่จะต้องจดบันทึกอย่างเป็นทางการหรือต้องจดบันทึกอย่างเรียบร้อย
แต่ให้ถือเป็นสมุดจดที่เราสามารถจดอะไรที่เกี่ยวข้องกับการทดลองในวันนั้นๆ ได้ตามที่เราต้องการ อาทิ อารมณ์ความรู้สึก สภาพอากาศขณะทดลอง หรือแม้แต่ขีดฆ่าข้อมูลที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาจดูไม่เรียบร้อย แต่ก็ทำให้ได้รู้ว้าเราทำอะไรไปบ้างแล้ว โดยการทำผิดถือเป็นครูที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ส่วนเคล็ดลับในการชิงชัยในเวทีโลกมาได้นั้น อาจารย์นิพนธ์ แนะว่า คณะกรรมการจะไม่ให้ความสำคัญกับตัวทฤษฎีหรือความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ มากนัก แต่จะให้ความสำคัญมากกับความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออกของปัญหา รวมถึงความพยายามและการแปลงความคิดและอุปกรณ์ใกล้ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์แทนที่การใช้อุปกรณ์จริงในห้องปฏิบัติการที่มีราคาแพงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เยาวชนมักจะพบมาเมื่อตัดสินใจทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คือ ความเป็นห่วงและความไม่เข้าใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งอาจารย์นิพนธ์ แนะนำว่า เป็นหน้าที่ของตัวน้องๆ เองที่ต้องอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจและเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ และทำให้พ่อแม่ได้มั่นใจว่าสามารถดูแลตัวเองได้ดี ไม่มีปัญหาการแบ่งเวลาเรียนและการทำโครงงานวิจัย
อีกทั้งต้องแสดงความมุ่งมั่นให้พ่อแม่ได้เห็นว่าเราตั้งใจทำในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ โดยครูอาจารย์ก็ต้องช่วยดูแลน้องๆ แทนพ่อแม่ได้ด้วย แม้ว่าบางครั้งจะทำงานกันดึก ถึงตี 1หรือตี 2 ก็ตาม ซึ่งหากทำได้อย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองก็จะลดความกังวลได้มาก แถมยังอาจหันมาให้การสนับสนุนลูกๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ กิจกรรมค่าย “ความหลากหลายทางชีวภาพของกรุงเทพฯ” เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โครงการจุดประกายนักวิจัยไทยรุ่นมืออาชีพใหม่ (ไทพิน) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ โดยหวังว่าจะทำให้เยาวชนค่ายได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ผ่านกิจกรรม เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การฝึกปฏิบัติการสำรวจโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม การลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล