xs
xsm
sm
md
lg

13-14 ธ.ค.นี้ ลองนับฝนดาวตก “เจมินิดส์” ชุกกว่าลีโอนิดส์ชั่วโมงละ 100 ดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจมินิดส์ ฝนดาวตกประจำเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเห็นช่วงพีคที่สุดระหว่างวันที่ 13-14
ใครที่พลาดกับการนับฝน “ลีโอนิดส์” ที่ผ่านมา หรือผิดหวังกับปริมาณดาวตกที่น้อยนิด ยังมีโอกาสให้นอนนับดาวตกกันอีกครั้งกับฝนดาวตก “เจมินิดส์” ที่จะมีความชุกชุมของดาวตกถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง หลายสถานที่จัดกิจกรรมรับปรากฏการณ์

ช่วงประมาณวันที่ 6-19 ธ.ค.ของทุกปีเป็นช่วงเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower) หรือ “ฝนดาวตกคนคู่” โดยวันที่ 13-14 ธ.ค.เป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณฝนดาวตกสูงสุด สำหรับปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง วิธีการสังเกตให้เลือกสถานที่มีท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆ ปราศจากหมอกและแสงไฟรบกวน

น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย แนะวิธีสังเกตฝนดาวตกชุดนี้ว่าให้หันหน้าไปทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่ดาวคนคู่ซึ่งเป็น “จุดกระจายฝนดาวตก” (radiant) ของเจมินิดส์ และกวาดสายตาขึ้นไปกลางฟ้า โดยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่หัวค่ำที่ดาวคนคู่เริ่มขึ้นไปจนถึงตี 2 เพราะหลังจากนั้นดวงจันทร์จะขึ้นและมีแสงรบกวน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับท้องฟ้าขณะนั้นด้วยว่ามีพายุ หรือเมฆหมอกมาปกคลุมด้วยหรือไม่

พร้อมกันนี้ น.ส.ประพีร์ยังยืนยันว่าฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีปริมาณเยอะกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะเป็นฝนดาวตกที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อย “เพธอน3200” (3200Phaethon) แต่ครั้งนี้ทางสมาคมฯ คงไม่ได้จัดกิจกรรมใดๆ เพราะเป็นช่วงวันเวลาราชการและเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ติดภารกิจประจำ

ทางด้านนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ฯ กล่าวว่า ได้ร่วมกับโรงเรียนไผ่แก้ววิทยา จ.ฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมนับฝนดาวตกอย่างถูกต้องบริเวณสนามของโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เคยจัดมาแล้วเมื่อครั้งเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่ผ่านมา โดยจะเปิดรับสมัครนักเรียนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 10 ทีมๆ ละ 10 คน โดยแต่ละทีมจะให้สมาชิก 4 คนนอนหันหัวชนกันใน 4 ทิศ เพื่อขานเวลาเห็นดาวตก และระบุสี ทิศ ลักษณะของดาวตกที่เห็น สมาชิกอีก 1 คนทำหน้าที่ขานเวลาที่มีสมาชิกเห็นดาวตก และมีสมาชิก 2 คนคอยจดบันทึกไปพร้อมๆ กับการสังเกตปรากฏการณ์

“จากที่เช็คดูช่วงพีคที่สุดคือเวลา 15.17 น. ซึ่งตรงกับเวลากลางคืนของสหรัฐ โดยน่าจะมีดาวตกสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง ส่วนของไทยน่าจะไม่เกิน 60 ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ไม่แน่ การทำนายฝนดาวตกยากมาก เพราะคล้ายกับเราวิ่งผ่านธารน้ำตก ซึ่งอาจจะเปียกมากหรือน้อย ส่วนฝนดาวตกนั้นโลกของเราก็วิ่งปะทะฝุ่นดาวหางจริงๆ แค่ 1-2 ชั่วโมง ถ้าหลังจากช่วงพีคก็ไม่ต้องไปดูแล้ว แต่อย่างไรก็ต้องเผื่อความหวังไว้ด้วย”

นายวรวิทย์ย้อนกลับไปว่าเมื่อปี 2544 ที่มีฝนดาวตกลีโอนิดส์นั้น เกิดช่วงพีคสูงสุดในช่วงตี 1-2 ซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการชมฝนดาวตกและเห็นได้ในเมืองไทย อย่างไรก็ดีเขาได้ติดตามฝนดาวตกมาทุกปี แม้ว่าบางปีจะเห็นดาวทั้งคืนแค่ 5 ดวงก็ตาม แต่ก็ดูเพื่อเป็นประสบการณ์ ส่วนใครที่สนใจจะมาร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนไผ่แก้ววิทยานั้นให้ติดต่อกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนได้โดยตรง

ส่วน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. ทางสถาบันฯ จะจัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝนดาวตกโดยนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ของฝนดาวตกเจมินิดส์

“ต้นกำเนิดฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากแกนกลางของดาวหางที่สลายตัวหมดแล้วกลายเป็นดาวเคราะห์น้อย เพธอน 3200 สิ่งที่น่าสนใจในฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ คือมีโอกาสจะเห็นดาวตกที่สว่างมาก ๆ หรือที่เรียกว่า “ไฟร์บอล” (Fire Ball) การเกิดฝนดาวตกในครั้งนี้จะเกิดในกลุ่มดาวคนคู่ที่ขึ้นจากขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจะเริ่มเห็นฝนดาวตกได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นฝนดาวตกอีกอันหนึ่งที่มีความน่าสนใจมากในปีนี้” รศ.บุญรักษาให้ข้อมูล

ส่วนใครที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับทางสถาบันดาราศาสตร์ฯ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และเดินทางไปร่วมกิจกรรมได้ที่หอดูดาวสิรินธรในวันดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสอบทางสถาบันฯ ได้ที่ โทร.0-5322-5569

นอกจากนี้ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ยังแจ้งอีกว่า ทางหอดูดาวเกิดแก้ว จ.กาญจนบุรี ก็ได้จัดกิจกรรม “วิจัยฝนดาวตกเจมินิดส์” ขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค. ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับอาจารย์ประมาณ 20-30 คน แต่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น