เอ็มเทคจัดประชุม “อิเล็กโทรเซรามิกส์” ระดับอาเซียนครั้งที่ 5 รมว.วิทย์เผยเป็นเทคโนโลยีที่มาแรง เปลี่ยนความเข้าใจเดิมๆ ของสังคม จากภาพวัสดุทำถ้วยชามเป็นวัสดุอัจฉริยะ ผลิตสารพัดเซ็นเซอร์ ย้ำ วท.ให้การสนับสนุนเต็มที่ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน ฝ่ายนักวิจัยอาวุโสชี้ไทยอยู่ใกล้เคียงแถวหน้าของโลก แต่ยอมรับคนไทยยังสนใจน้อย
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอิเล็กโทรเซรามิกส์ ระดับอาเซียน ครั้งที่ 5 ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 ธ.ค.นี้
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันของนักวิจัยระดับนานาชาติทางด้านอิเล็กโทรเซรามิกส์และวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานด้านเครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการพัฒนาในเรื่องดังกล่าวมีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเปลี่ยนจากภาพความเข้าใจเดิมๆ ของสังคมที่เข้าใจว่าเซรามิกส์คือวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระเบื้องหรือภาชนะเครื่องปั้นต่างๆ เพียงเท่านั้น ไปเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาและใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้ว
ทั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการนำโลหะหรือสารประกอบต่างๆ มาพัฒนาเซรามิกส์แบบใหม่ให้มีคุณสมบัติดีขึ้น และใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยคุณสมบัติที่สำคัญคือคุณสมบัติด้านไฟฟ้าของเซรามิกส์ หรือ อิเล็กโทรเซรามิกส์
ตัวอย่างของอิเล็กโทรเซรามิกส์ที่มีการนำไปใช้งานมีด้วยกันหลายประการ เช่น การสร้างตัวตรวจวัดความดันเพื่อทำให้ถุงลมในรถยนต์พองตัวในขณะที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การสร้างเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อตรวจวัดการทำงานของหัวใจ เครื่องมือตรวจวัดความดันโลหิต และเครื่องมืออัลตร้าซาวด์ การประยุกต์ใช้เพื่อผลิตคลื่นโซนาร์ในการประมง และการประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น
สำหรับมาตรการสนับสนุนวิทยาการดังกล่าว รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เองจะให้การส่งเสริมการพัฒนาผ่านทางเอ็มเทค สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่การพัฒนาเซรามิกส์คุณภาพดีในงานผลิตภาชนะทั่วๆ ไป จนถึงการพัฒนาเซรามิกส์คุณภาพสูงอย่างอิเล็กโทรเซรามิกส์ด้วย
ด้าน ศ.ดร.ทวี ตันฆะศิริ ประธานกรรมการจัดการประชุม ให้ภาพความก้าวหน้าด้านอิเล็กโทรเซรามิกส์ของประเทศไทยเพิ่มเติมว่า ถือว่าใกล้เคียงระดับแนวหน้าของโลกเลยทีเดียว เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีความล้ำหน้ามาก ที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาวัสดุที่ปราศจากตะกั่วเพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนตะกั่ว ซึ่งตะกั่วเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพและกำลังจะเป็นสารที่ถูกห้ามนำเข้าสู่ประเทศในไม่ช้านี้
นอกจากนั้น นักวิจัยไทยยังได้มีการพัฒนาอิเล็กโทรเซรามิกส์ในอีกหลายลักษณะด้วยกัน เช่น การนำมาพัฒนากระบวนการทางทันตกรรมโดยใช้การสั่นสะเทือนด้วยคลื่นความถี่เหนือเสียง (อัลตร้าโซนิกส์) เพื่อการกรอฟันโดยไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ การพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและน้ำ การพัฒนาโซลาร์เซลล์ด้วยอิเล็กโทรเซรามิกส์ การทำเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยการสั่นสะเทือนทำให้ประหยัดน้ำ ซึ่งสามารถนำวิธีดังกล่าวไปใช้ในการล้างเพชรพลอยได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ทวี เผยว่า การพัฒนาอิเล็กโทรเซรามิกส์ในประเทศไทยยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย เช่น ในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางทันตกรรม ที่โดยมากเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่การพัฒนาอื่นๆ เช่น หัวเทียนเซรามิกส์ยังอยู่ในขั้นการทดสอบให้เป็นที่แน่ใจว่าไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหายเพื่อใช้ในทางการค้าต่อไป
การประชุมวิชาการนานาชาติด้านอิเล็กโทรเซรามิกส์ ระดับอาเซียน ครั้งที่ 5 นอกจากเอ็มเทคจะเป็นแกนหลักในการจัดงานแล้ว ยังมีพันธมิตรอื่นๆ ร่วมจัดงานด้วย คือ วว. และมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมสามารถเข้าร่วมงานได้ตามวันและเวลาดังกล่าว ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยผู้สนใจที่เป็นคนไทยจะเสียค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานในอัตราพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับความรู้ด้านอิเล็กโทรเซรามิกส์อย่างเปิดกว้างต่อไป