xs
xsm
sm
md
lg

ไทยจัด “ไบโอเอเชีย 2007” พร้อมแทรกวาระหาทางออก “จีเอ็มโอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ
ไบโอเทคจัดนิทรรศการ “ไบโอเอเชีย 2007” ประกาศพร้อมเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพเอเชีย ตั้งเป้ามีนักวิจัย 30 คนจาก 20 ประเทศเข้าร่วม เผยมีวาระ “จีเอ็มโอ” เพื่อดูความพร้อมประเทศอื่นไปถึงไหน แจงสหรัฐทำจีเอ็มโอมันสำปะหลังเพื่อลดไซยาไนต์ส่งช่วยเหลือแอฟริกา ด้านออสเตรเลียศึกษายีนเพื่อควบคุมให้สับปะรดออกดอกพร้อมกันง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท เอส แอล เอ็ม แมเนจเม้นท์ จำกัด จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 หรือ ไบโอเอเชีย 2007 (BioAsia2007) ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ย.2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยงานดังกล่าวประกอบด้วย 2 การประชุมย่อยคือ 1.การประชุมของสมาคมเพาะปลูกพืชแห่งอาเซียน (6th Asian Crop Science Association conference) ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีเพื่อความพอเพียงทางการเกษตรในเอเชีย” และ 2.การประชุมนานนาชาติด้านข้าวสำหรับอนาคตครั้งที่ 2 โดยคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจาก 20 ประเทศถึง 15,000 คน

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ไบโอเทค กล่าวว่า ได้จัดงาน “ไบโอไทยแลนด์” ขึ้นมา 3 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2544 และในปี 2550 ที่จะถึงนี้ได้ขยายจัดงานขึ้นเป็นระดับเอเชีย และคาดหวังว่าจะทำให้งานเติบโตต่อไปในอนาคต โดยขณะนี้มีวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมบรรยายพิเศษแล้ว 12 คน และคาดหวังว่ามีคนตอบรับเข้ามาวิทยากรถึง 30 คน

“ที่น่าสนใจคือ ศ.ดร.ริชาร์ด เซย์เร (Prof.Dr.Richard Sayre) จากสหรัฐ ได้ศึกษาการทำจีเอ็มโอมันสำปะหลังเพื่อลดไซยาไนต์ที่มีอยู่ในหัวมันลง และทำให้มีรากมากขึ้นเพื่อการสะสมแป้งมากขึ้น โดยจะนำไปช่วยเหลือประชาชนในแอฟริกา ขณะเดียวกันจีนก็ติดต่อเพื่อขอไปทำไบโอดีเซล และดร.จิมมี โบเทลลา (Dr.Jimmy Botella) จากออสเตรเลียได้ศึกษายีนควบคุมการออกดอกของสับปะรดให้ออกดอกพร้อมกัน ซึ่งจะสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว งานนี้ก็จะได้เชิญวิทยากรมาพูดให้ฟังเพื่อดูว่าประเทศอื่นเขามีความก้าวหน้าไปแค่ไหน และหวังว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับคนไทย”

ศ.ดร.มรกตกล่าวอีกว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีวาระของ “จีเอ็มโอ” อยู่ด้วย โดยจะคุยกันในเรื่องของเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืช ดูว่าต่างประเทศเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง มีกระแสต่อต้านอะไรหรือไม่ และประเทศนั้นๆ จะยังศึกษาต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศไทย และเร็วๆ นี้ ดร.เซย์เรจะได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อสัมมนาเรื่องการประเมินความเสี่ยงของพืชจีเอ็มโอ ก่อนที่จะมีการประชุมไบโอเอเชียขึ้นในอีก 10 กว่าเดือนข้างหน้า

ส่วนหัวใจหลักของการประชุม ศ.ดร.มรกตกล่าวว่า เน้นเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรโดยเฉพาะพืช แต่ไม่เฉพาะเรื่องอาหารเท่านั้น ยังจะพูดคุยถึงเรื่องพืชพลังงานที่ใช้ผลิตไบโอดีเซล พืชสำหรับผลิตยา วัคซีนสำหรับคนและสัตว์ ซึ่งไม่ต้องใช้วิธีฉีดแต่ใช้วิธีกินเข้าไปแทน หรือพืชเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้พืชดูดซับโลหะหนักในดิน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ของพืช ที่ปัจจุบันมีเพียงแค่ 1% หากทำให้ได้ถึง 100% จะทำให้มีพืชเหลือเฟือ

ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงภาพรวมเทคโนโลยีชีวภาพของไทยว่ากว่า 30 ปีที่ผ่านมาไทยก้าวมาไกลมาก โดยเมื่อปี 2526 เพิ่งมีการตั้งศูนย์ไบโอเทคแต่ไม่ได้คิดที่จะเป็นศูนย์แห่งชาติ หากแต่ต้องการเป็นศูนย์ระดับนานาชาติ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองศูนย์ไบโอเทนานาชาติจึงไปอยู่ที่อินเดีย อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไปก็นับว่าเป็นโชคดีที่ไม่ได้เป็นศูนย์นานาชาติ เพราะศูนย์ที่อินเดียก็ไม่ได้ไปไกล เป็นเพียงศูนย์ที่ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่หวือหวา หากแต่ศูนย์ไบโอเทคที่ประเทศไทยก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมีการจัดงานไบโอเอเชีย ซึ่งก็ถือเป็นศูนย์นานาชาติโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ศ.ดร.กล่าวว่า นโยบายที่เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้บรรลุเป้าหมายมี 6 ด้านภายในเวลา 6 ปี คือ 1.สนับสนุนให้ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีทางพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ให้ได้ 100 บริษัท โดยปัจจุบันมีเพียง 20-30 บริษัท 2.ปรับปรุงด้านอาหารให้ไทยเป็น “ครัวของโลก” 3.เป็นศูนย์สุขภาพของเอเชีย ซึ่งไม่เพียงแค่มีแพทย์และโรงพยาบาลที่รักษาในราคาถูกเท่านั้น รวมถึงการทำธุรกิจยาและวัคซีน โดยครอบคลุมถึงการให้บริการคนไข้ภายในประเทศด้วย 4.ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับอุตสาหกรรม 5.ใช้เทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงสินค้าชุมชน และ 6.สร้างคนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

สำหรับงานจัดงานครั้งนี้ใช้งบประมาณราว 10 ล้านบาท ซึ่ง ศ.ดร.มรกตกล่าวว่า งบประมาณส่วนนี้จะได้คืนจากการลงทะเบียนของผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งค่าจัดแสดงนิทรรศการ และราได้จากหน่วยงานผู้สนับสนุน ซึ่งหากคิดรวมทั้งหมดแล้ว อาจจะใช้เงินไม่มากเท่าไหร่ พร้อมกันนี้ได้กล่าวอีกว่าในต่างประเทศก็มีการจัดงานลักษณะเดียวกันนี้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลย์เซีย อินเดีย และสหรัฐ เป็นต้น
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น