xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทค-มก.จัดลุย "แปลงพริกเป็นหมัน" ถ่ายทอดเทคนิคนักปรับปรุงพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไบโอเทคร่วม มก.จัดเสวนาพริกแก่นักปรับปรุงพันธุ์ พร้อมลุยแปลงสาธิต “พริกเป็นหมัน” 72 สายพันธุ์จากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ ชี้พริกลูกผสมให้ผลิตดี-ทนโรค-ดินโทรม ด้านเกษตรกรเผยเมล็ดพันธุ์แพงแต่คุ้มค่าเพราะผลผลิตเยอะและราคาพริกในตลาดสูง ส่วนนักปรับปรุงพันธ์เอกชนแจงพริกลูกผสมเหมาะแก่เกษตรกรมือดี แต่ก็ควรปลูกพริกพื้นเมืองเพื่อรักษาพันธุ์

วันที่ 7 ธ.ค. ศูนย์เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดงานเสวนาวิชาการ “พริกเกสรตัวผู้เป็นหมัน และชนิดของพริกการค้า” ณ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีนักปรับปรุงพันธุ์จากภาครัฐและเอกชน เกษตรกร นิสิต-นักศึกษา กว่า 60 คนเข้าร่วม พร้อมกันนี้ได้จัดให้แปลงสาธิตซึ่งปลูกพริกซึ่งเกสรตัวผู้เป็นหมัน รวม 72 สายพันธุ์ โดยนำพันธุ์มาจากพันธุ์พริกการค้าและเชื้อพันธุกรรมของศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน มก.

ดร.บุปผา ใจเที่ยง อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่ต้นแม่พันธุ์มีลักษณะเกสรตัวผู้เป็นหมันนั้น เป็นที่ต้องการของบริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลิตดีและต้านทานต่อโรค รวมถึงสภาพดินที่แห้งแล้ง แต่การตอนดอกนั้นต้องอาศัยแรงงานคนในการหักเกสรตัวผู้ออกจากดอก ซึ่งเป็นต้นทุนจำนวนมากในการผลิตเมล็ดพันธุ์ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการทำให้เกสรตัวผู้เป็นหมัน โดยการใส่ยีนที่เป็นหมันซึ่งมีอยู่ในพริกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของนักปรับปรุงพันธุ์ที่จะผสมพันธุ์ให้ได้พริกเกสรตัวผู้เป็นหมัน ซึ่งต้องอาศัยเวลาขั้นต่ำประมาณ 2-3 ปี

“โดยปกติพริกจะมีความสมบูรณ์เพศในตัวเอง คือมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน การจะพัฒนาเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจะใช้รุ่นแม่ที่เป็นหมันผสมกับรุ่นพ่อที่สมบูรณ์เพศ และจะได้ลูกที่มีความสมบูรณ์เพศ แต่ถ้านำเมล็ดในรุ่นลูกไปปลูกอีกก็จะผลิตผลที่ไม่สม่ำเสมอแล้ว ลักษณะพริกที่เกสรตัวผู้เป็นหมันเป็นที่ต้องการของบริษัทปรับปรุงพันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์และเก็บสายพันธุ์ได้ แต่เกษตรกรเขาไม่ต้องการสายพันธุ์ที่เป็นหมัน เขาต้องการสายพันธุ์ที่ให้ผลิตเยอะและต้านทานโรค” ดร.บุปผากล่าว

ด้าน นายทองพูน แสนราษฎร์ เกษตรกรผู้ปลูกพริกจาก จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เขามีความสนใจปลูกพริกพันธุ์ลูกผสม เพราะให้ผลผลิตที่มากถึง 3 ตัน/ไร่ ในขณะที่พริกพันธุ์พื้นเมืองนั้นให้ผลผลิตต่ำ อย่างมากประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ อีกทั้งพริกปีนี้มีราคาดี ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท ถ้าราคาตลาดดี ราคาเมล็ดพันธุ์ที่แพงก็ไม่เป็นปัญหา และในการเพาะปลูกนั้นเขาบำรุงทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยมูลไก่ ซึ่งปุ๋ยจากมูลไก่นั้นจะช่วยให้พริกตั้งตัวได้เร็วหลังเก็บเกี่ยว โดยพริกรุ่นหนึ่งนั้นจะให้ผลผลิตต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน

ส่วนนายลิขิต มณีสินธุ์ ผู้จัดการวิจัย บริษัท เรียว ซีดส์ อะโกร จำกัด กล่าวว่า การปลูกพริกลูกผสมนั้นเหมาะกับเกษตรกรมือดี ทั้งนี้พันธุ์ลูกผสมจะเหมาะกับพื้นที่มีโรคระบาด ดินเปรี้ยว-ดินเค็ม โดยพันธุ์ลูกผสมจะให้ผลผลิตที่ดีและสม่ำเสมอ แต่พันธุ์พื้นเมืองก็ควรที่จะปลูกอยู่เพื่อรักษาพันธุ์ท้องถิ่นเอาไว้ อาจจะปลูกลักษณะหัวไร่ปลายนา หรือปลูกเพื่อกินเอง ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงก็ปลูกพันธุ์พื้นเมืองดีกว่า



กำลังโหลดความคิดเห็น