ผอ.สทน.เผยเล็งใช้ “ไซโคลตรอน” ผลิตไอโซโทปการแพทย์แก้ขัด 2-3 ปี ระหว่างรอ “เครื่องปฏิกรณ์” จากปัญหายืดเยื้อนิวเคลียร์องค์รักษ์ เผยหากได้รับอนุมัติ 1 ปีก็ได้เครื่อง เพราะไม่ยุ่งยากและเป็นเครื่องแพทย์คล้ายเครื่องเอ็กซเรย์
ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) เผยว่า โครงการของ สทน.ตอนนี้หากรอเครื่องปฏิกรณ์ที่จะก่อสร้างที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก คงไม่ไหว ซึ่งก็อาจจะเอา เครื่องไซโคลตรอน (Cyclotron) มาก่อน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะนำมาผลิตไอโซโทปทางการแพทย์ แต่ที่จะใช้กับด้านอุตสาหกรรม การเกษตรต้องใช้ปฏิกรณ์ปรมาณู ที่ผลิตไอโซโทปได้หลากหลายและทดแทนได้เยอะกว่า
“ก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง ที่ต้องมีเส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไซโคลตรอนก็สามารถผลิตไอโซโทปหลายๆ ตัว ซึ่งอาจจะเป็นฟังก์ชันเฉพาะ เช่น โรคตับ สมอง หัวใจ ลำไส้ อาจจะได้แค่นั้น แต่อีกร้านหนึ่งก็เป็นร้านที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู อันนี้อาจจะยังต้องรักษาโรคปอด ต่อมไทรอยด์ มันไม่เหมือนกัน แต่เสริมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ซื้ออันนี้แล้วอีกอันไม่ต้องก็ได้”
ดร.สมพรกล่าวว่าหากได้รับการอนุมัติแล้ว ภายใน 1 ปีก็น่าจะสั่งซื้อเครื่องไซโคลตรอนได้แล้วเสร็จ และน่าจะรองรับความต้องการในการใช้รังสีได้ 2-3 ปี เพราะไม่ใช่เครื่องที่ใหญ่โตมากนัก เป็นเครื่องมือที่คล้ายกับเครื่องฉายรังสีเอ็กซเรย์ และไม่มีอะไรยุ่งยากเหมือนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
“เครื่องไซโคลตรอนตัวเล็กๆ มีอยู่แล้วที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สามารถที่จะผลิตไอโซโทปเล็กๆ ได้ เช่น คาร์บอน-13 ออกซิเจน-17 ฟลูออรีน-18 ได้ 3 ตัวหลักๆ พลังงานประมาณ 16 เมกกะโวลต์ (MV) ถ้าเครื่องใหม่ที่จะเอามาใช้คาดว่าจะใช้ 30 เมกกะโวลต์ จะใช้ผลิตไอโอดีน-123 ใช้รักษาตั้งแต่หัวจรดเท้า สมอง โพรงจมูก ต่อมไทรอยด์ ตับ ไต ไส้พุง ปอด ม้าม ลำไส้ ใช้ได้หมดเลย ถ้าเป็นธาตุอื่นก็รักษาเฉพาะด้าน” ดร.สมพรกล่าว