xs
xsm
sm
md
lg

รมว.วิทย์ “ปลื้ม” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยงยุทธ" เชียร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาโลกร้อน สอดรับสนธิสัญญายูเอ็น อีกทั้งยังมีประโยชน์ด้านการแพทย์ เกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม ด้านเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศเตรียมก่อสร้างด้วยกันหลายแห่ง ยอมรับหากอนาคตพลังงานมีราคาแพง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองไทยอาจเป็นทางออก

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนของสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย หรือ เอฟเอ็นซีเอ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ เมืองควนตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อการกำหนดนโยบายการวิจัยและพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม พบว่ามีหัวข้อที่น่าสนใจ ควรแก่การเผยแพร่หลายเรื่องด้วยกัน

หัวข้อความร่วมมือของชาติสมาชิกที่สำคัญ ได้แก่ วิธีการรักษามะเร็งแบบใหม่บริเวณสมอง คอ และปากมดลูก ตลอดจนถึงการตรวจและการรักษามะเร็งและเนื้องอกด้วยรังสีจากเครื่องไซโครตอน การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยรังสีแกมมา เช่น การพัฒนาพันธุ์กล้วยและถั่วเหลืองที่มีความต้านทานโรคสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสีของกล้วยไม้ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ปราศจากโรค การผลิตพลาสติกชีวภาพ การผลิตแผ่นเจลสำหรับประสานแผลสด และการกำจัดเชื้อโรคในขยะและน้ำทิ้งด้วยรังสี

ที่น่าสนใจมาก็คือ ในการประชุมนี้ทุกประเทศยังได้ให้ความสนใจด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ซึ่งก็ควรจะเป็นพลังงานทางเลือกทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลของสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดอากาศวิปริตในทั่วโลกในปัจจุบัน เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม เกิดพายุขึ้นบ่อยครั้ง อากาศหนาวจัดหรือร้อนจัดผิดปกติ

"เพราะการที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากการผลิตก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ที่เป็นผลมาจากการเผาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน เพื่อผลิตไฟฟ้า” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นอกจากนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยังบอกด้วยว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น จึงได้กำหนดกรอบสนธิสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และได้มีการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ประเทศขึ้น ประเทศในเอเชียที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว คือ ญี่ปุ่น 55 โรง เกาหลี 20 โรง อินเดีย 14 โรง จีน 11 โรง และประเทศที่กำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ตุรกี และอียิปต์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังรีรออยู่

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ยงยุทธ บอกเสริมว่า สำหรับประเทศไทยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ต้องดูปัจจัยหลายประการด้วยกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์มาโดยตลอด หากพบว่าราคาพลังงานในอนาคตสูงเกินไป การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น